“ประวิตร” สั่งการ TDRI - อว.เร่งศึกษาจัดทำรายงาน “กลไกบริหารจัดการน้ำ”

“ประวิตร” สั่งการ TDRI - อว.เร่งศึกษาจัดทำรายงาน “กลไกบริหารจัดการน้ำ”

ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ นำโดย “พล.อ.ประวิตร” เห็นชอบผลวิจัยนวัตกรรมเชิงระบบเพื่อการบริหารจัดการน้ำฯ มุ่งสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ปัญหาด้านน้ำให้กับประชาชน

(16 กันยายน 2565) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบออนไลน์

ประเด็นสำคัญในการประชุมคือ การพิจารณาผลการศึกษาโครงการวิจัยการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบโครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ที่จัดทำโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ที่ผ่านมา วช. กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ และสนับสนุนงานวิจัยด้านน้ำมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ และจัดเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ "สู้ภัยน้ำท่วม ด้วยวิจัยและนวัตกรรม" ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

และครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบฯ ซึ่งจัดทำโดย สอวช. และ TDRI เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศที่มี (รักษาการ) นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

สามารถนำผลการสังเคราะห์ที่ได้จากการศึกษา ไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเชิงระบบและโครงสร้างให้ครอบคลุมทุกมิติ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

“ประวิตร” สั่งการ TDRI - อว.เร่งศึกษาจัดทำรายงาน “กลไกบริหารจัดการน้ำ”

ในปัจจุบันภารกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 38 หน่วยงาน และมีกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดให้หน่วยงานรับผิดชอบ ดูแล และบำรุงรักษา

มีปัญหาความทับซ้อนการทำงานส่งผลต่อผลลัพธ์มิติน้ำและมิติทางเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ

การหารือในครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบผลการศึกษาฯ ดังกล่าว โดยมีข้อสรุปสำคัญคือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการการน้ำให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) และเป็นการจัดการที่เป็นตามหลักธรรมาภิบาลการจัดการน้ำ (Water Governance)

โดยอยู่ในรูปแบบกระทรวงทรัพยากรน้ำเพื่อเป็นการแก้ไขและพัฒนาระบบอย่างก้าวกระโดด โดยมีแผนที่นำทางที่ต้องเร่งดำเนินการ (Quick Win) ภายในระยะเวลา 5 เดือนเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน ผ่านการทำงานของ สทนช. ได้แก่

1) เสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับลุ่มน้ำ โดยการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ/อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด

2) จัดตั้ง โครงการจัดตั้ง Water Resources Intelligent Unit

3) จัดตั้งคณะทำงานยกร่างพ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฯ และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำและร่างกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การขึ้นรูปกระทรวงทรัพยากรน้ำต่อไป

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้ TDRI ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อว.) เร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาให้สมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี รวมถึงรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบความคืบหน้าต่อไป.