กฎหมายกับความท้าทายใน Metaverse | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

กฎหมายกับความท้าทายใน Metaverse | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

มื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสร่วมงานสัมมนาครบรอบ 25 ปี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “Metaverse เชื่อมโยงพื้นที่ใหม่กับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา : กฎหมายสำหรับโลกอนาคตในโลกคู่ขนาน” จึงถือโอกาสนำบางส่วนมาเล่าให้ฟังในบทความฉบับนี้

ระบบเศรษฐกิจใน Metaverse

Metaverse คือความพยายามของบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะสร้างโลกเสมือนเพื่อให้คนในโลกกายภาพสามารถเข้าถึงและมีกิจกรรมต่างๆ ในโลกเสมือนดังกล่าวได้ ผ่านการเชื่อมโยงของระบบอินเทอร์เน็ต 

ดังนั้น กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน Metaverse คือ การทำธุรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการใช้คริปโทเคอร์เรนซี หรือ NFT โดยเงินดิจิทัลหรือคริปโทจะถูกใช้เพื่อถ่ายโอนมูลค่า และ NFT จะนำมาใช้เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือเป็นตัวแทนของทรัพย์สินเสมือน

ดังนั้น โดยสภาพ NFT จะทำหน้าที่คล้ายตราสารในโลกปัจจุบัน (เช่น โฉนด ใบหุ้น) ที่มีหน้าที่จดบันทึกสิทธิต่าง ๆ ของเจ้าของทรัพย์ และถูกยึดโยงไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ในทางปฏิบัติการสร้าง Virtual Asset เช่น เสื้อผ้า สิ่งของ รูปภาพ และที่ดินในโลกเสมือน จึงเป็นทรัพย์สินในโลกออนไลน์ที่ถูกบันทึกไว้ใน NFT แต่ละเหรียญ

ด้วยสภาพข้อเท็จจริงข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตจะมี Decentralized Digital Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีในปัจจุบันเกิดขึ้นอีกมากมาย

กฎหมายกับความท้าทายใน Metaverse | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

หรืออาจกล่าวได้กว่า  Metaverse จะสร้าง “Marketplace” ขนาดใหญ่และไร้พรมแดน ซึ่งอาจนำไปสู่การซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือการลงทุนในทรัพย์สินที่หลากหลาย อันเป็นการท้าทายกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ความท้าทายทางกฎหมาย ใน Metaverse มีหลายประเด็น เช่น

1.ความสัมพันธ์ที่ผูกติดกับสัญญาที่ซับซ้อน กล่าวคือ ธุรกรรมต่าง ๆ ที่อยู่บน Metaverse มักอยู่ในรูปแบบสัญญาหรือข้อตกลงออนไลน์ที่ใช้ Smart Contract เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน

ซึ่งสิ่งที่ท้าทาย คือ ธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นจะต้องสามารถรองรับการทำกิจกรรมแบบ Real time interaction ของผู้ใช้งานและการทำสัญญาผ่านระบบข้อมูลอัตโนมัติเป็นหลักได้

อย่างไรก็ดี ข้อดีของการใช้ Blockchain และ Smart Contract จะช่วยให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถจัดเก็บและติดตามข้อมูลของคู่สัญญา และอาจเพิ่มช่วยความโปร่งใสในการตรวจสอบความถูกต้องของสัญญา และการติตตามการโอนสิทธิหรือทรัพย์สินใน Metaverse ได้

กฎหมายกับความท้าทายใน Metaverse | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

2.ประเด็นสภาพบุคคล สิทธิ ความรับผิดของ Avatar ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์และข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้งาน (User interactions)

ซึ่งท้าทายขอบเขตการบังคับใช้ของกฎหมายแพ่งและอาญาที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงการสืบค้นพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีซึ่งจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด ก็เป็นอีกประเด็นที่ท้าทายภาครัฐในการสืบหาข้อเท็จจริงในคดี

กรณีตัวอย่างที่ยากต่อการหาต้นตอและบุคคลที่แท้จริงในการกระทำความผิด เช่น กรณีของเว็บไซต์ Silk Road ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มค้าของผิดกฎหมาย ซึ่งผู้สร้างต้องการซ่อนตัวตนผู้ซื้อขายโดยการกำหนดการเข้าใช้งานแบบนิรนาม (Anonymous) เพื่อสร้างตลาดมืดที่ไม่ต้องการให้ใครติดตามการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มได้

3.เกิดเซทข้อมูลแบบใหม่ กล่าวคือ เมื่อการทำกิจกรรมเป็นแบบ Real time interaction ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นใน Metaverse คือ ข้อมูลส่วนบุคคลที่มักมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลชีวภาพ หรือ ข้อมูลBiometrics data ที่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหว ท่าทาง และอาจรวมไปถึงการแสดงสีหน้า

กฎหมายกับความท้าทายใน Metaverse | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

เหล่านี้ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Data) ที่ผู้พัฒนาระบบต้องขอความยินยอมโดยชัดแจ้ง (Explicit Consent) จากผู้ใช้งานก่อนจัดเก็บและประมวลผล รวมถึงต้องยกระดับความปลอดภัยในการให้ความคุ้มครองตามกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันข้อมูลของผู้ใช้งานรั่วไหล

4.กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน กล่าวคือ ในโลกปัจจุบันการซื้อทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะหรือ ที่ดิน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ “กรรมสิทธิ์” ของทรัพย์อาจแบ่งได้ในสองลักษณะ

ลักษณะแรก คือ ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่จะขอกล่าวในหัวข้อถัดไป และ ลักษณะที่สอง คือ ลักษณะของทรัพย์ในเชิงกายภาพที่อาจมีประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ดิน กฎหมายแพ่ง และกฎหมายที่เกี่ยวกับหลักประกัน

เช่น เรื่องการเป็นเจ้าของ การบุกรุก การใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ของทรัพย์ใน Metaverse จะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใด และจะปรับใช้อย่างไร รวมถึง Digital Asset เหล่านั้นสามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้หรือไม่

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา มุ่งให้ความคุ้มครองงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น สร้างสรรค์ของมนุษย์ผ่านสิ่งที่จับต้องได้ เช่น งานประดิษฐ์ งานที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม และสิ่งที่จับต้องไม่ได้

เช่น software และกรรมวิธีการผลิต ซึ่งในกรณีของ Metaverse กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินในพื้นที่ดิจิทัล ในหลายแง่มุม กล่าวคือ

5.1) กฎหมายลิขสิทธิ์ จะเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครอง Software computer งานศิลปะที่สร้างในแบบดิจิทัลแขนงต่าง ๆ ซึ่งอาจถูกสร้างในรูปแบบ NFT ที่จะถูกใช้เป็นสื่อกลางในการเก็บข้อมูลงานสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ในอนาคตจะมีประเด็นเชื่อมโยงกับกฎหมายสิทธิบัตรมากขึ้น

5.2) กฎหมายสิทธิบัตร จะให้ความคุ้มครองความคิดในการประดิษฐ์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เป็นการประดิษฐ์ใหม่ มีการประดิษฐ์ขั้นสูง และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้

ดังนั้น ในโลก Metaverse สิทธิบัตรจะให้ความคุ้มครองความคิดของผู้ประดิษฐ์ผ่านการสร้าง “ฮาร์ดแวร์” (Hardware Component) หรืออุปกรณ์ในแบบต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ AR และ VR รวมถึงอุปกรณ์ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกาย ลูกตา และการสีหน้าได้

นอกจากนี้ กฎหมายสิทธิบัตร ยังสามารถให้ความคุ้มครองไปถึง Software process หรือ Software related patent  ซึ่งผู้ขอสิทธิบัตรต้องพิสูจน์ว่างานดังกล่าวไม่ใช่เป็นเพียง Software ธรรมดาตามกฎหมายลิขสิทธิ์

แต่เป็นกระบวนการทางเทคนิคที่มีการประดิษฐสร้างที่ซับซ้อน ซึ่งในโลก Metaverse การขอสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ตามที่กล่าวมาจะมีให้เห็นมากขึ้น

5.3 กฎหมายเครื่องหมายการค้า ประเด็นเรื่องเครื่องหมายการค้ามีให้เห็นอยู่มากในการสร้างเครื่องหมายการค้าในโลกเสมือนให้เกิดความสับสนกับผลิตภัณฑ์ในโลกทางกายภาพ

เช่น กรณีศิลปินชาวอเมริกัน ได้ทำ NFT โดยตั้งชื่อว่า Hermès MetaBirkin โดยใช้รูปที่ออกแบบและมีลักษณะคล้ายกระเป๋ารุ่น Birkin ของ Hermès ที่มีผู้เข้าใจผิดและหลงซื้อ NFT ดังกล่าวในราคาสูง (บางเหรียญราคาสูงถึงราว 5 ล้านบาท) ด้วยเข้าใจว่าเป็นเหรียญที่ออกโดย Hermès เอง ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการฟ้องร้องในประเด็นการละเมิดเครื่องหมายทางการค้า

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าในวันนี้เราเห็นเพียงส่วนหนึ่งของ Metaverse แต่ในอนาคตเมื่อ Metaverse ถูกพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ จะมีประเด็นอีกมากมายที่ท้าทายนักกฎมายในโลกปัจุบัน.

คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง