เปิดใจ 3 ทีมแรกของไทย ผู้คว้ารางวัล "James Dyson Award 2022"

เปิดใจ 3 ทีมแรกของไทย ผู้คว้ารางวัล "James Dyson Award 2022"

คุยกับ 3 ทีมคนไทยที่คว้าชัยรางวัลสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับโลก “James Dyson Award 2022” หลังเฟ้นหาที่สุด “นวัตกรรม” เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งใกล้ตัวและปัญหาระดับโลก

ในที่สุด รางวัล James Dyson Award หนึ่งในความมุ่งมั่นของ เจมส์ ไดสัน (James Dyson) เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของวิศวกรรมที่เปลี่ยนโลกได้ด้วยการแข่งขันด้านการออกแบบระดับนานาชาติประจำปีที่เปิดรับนักศึกษาหรือศิษย์เก่าด้านการออกแบบและวิศวกรรมมาร่วมแข่งขัน ซึ่งจัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในชื่อ James Dyson Award 2022 ก็ได้ผู้ชนะเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ KomilO (โคมิโล) ผลงานของทีมนักออกแบบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี

นอกจากนี้ยังมีอีกสองทีมรองชนะเลิศ คือ The Amazing Hearing Devices or AHDs กับ Aeolus

เปิดใจ 3 ทีมแรกของไทย ผู้คว้ารางวัล \"James Dyson Award 2022\"

สำหรับ “KomilO” คือชื่อระบบปฏิบัติการที่มีส่วนประกอบเป็นเซนเซอร์ 2 จุด ที่ติดตั้งบนตัวโคนม จุดแรกที่บริเวณหู และจุดที่สองบริเวณโคนหางเพื่อตรวจจับพฤติกรรมของโคนม ทำให้คาดการณ์รอบของการเป็นสัดในโคนมได้อย่างแม่นยำโดยอาศัยเทคนิคแมชชีนเลิร์นนิง และเพื่อให้เกษตรกรอ่านข้อมูลได้อย่างสะดวกสบายระบบนี้ยังเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันซึ่งจะช่วยเก็บข้อมูลเฉพาะของโคนมแต่ละตัว จัดการเซนเซอร์ รวมถึงแจ้งเตือนเกษตรกรเมื่อโคนมมีอาการติดสัดและพร้อมสำหรับการผสมเทียม

ทีมผู้ออกแบบ “KomilO” ประกอบด้วยสมาชิกนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชานวัตกรรมบริการดิจิทัล จำนวน 6 คน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี จุดมุ่งหมายของของนักออกแบบรุ่นใหม่เหล่านี้คือการสร้างโซลูชันที่ใช้ง่ายและเข้าถึงได้เพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำนมของเกษตรกรไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจำนวนมากขึ้น

เปิดใจ 3 ทีมแรกของไทย ผู้คว้ารางวัล \"James Dyson Award 2022\"

ได้มีการลงพื้นที่และใช้ตัวนวัตกรรมนี้ในฟาร์มจริงไหม? ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง?

“ทีมได้มีการลงสำรวจพื้นที่และปัญหาในฟาร์มโคนมในจังหวัดราชบุรีทั้งหมด 27 ฟาร์มครับ และหลังจากที่เราได้ตัวต้นแบบมาก็ได้ทดลงใช้จริงในฟาร์มจำนวน 1 ฟาร์มครับ ผลตอบรับที่ได้คือเกษตรกรโคนมในฟาร์มนั้นบอกว่าตัว KomilO สามารถใช้งานได้ง่าย และสะดวก สามารถช่วยตรวจจับอาการเป็นสัดของโคนมได้แม่นยำด้วยครับ”

ราคาต่อเครื่องอยู่ที่ประมาณเท่าไร?

“ราคาตัวเซนเซอร์ต้นแบบทั้งบริเวณที่หูและโคนหาง ณ ตอนนี้ราคาประมาณไม่เกิน 4,000 บาท ซึ่งสิ่งที่เราตั้งไว้คืออยากให้ KomilO มีราคาไม่เกิน 1,000 บาทต่อ 1 ตัวครับเพื่อที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรโคนมในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การขาดแคลนแร่ในการผลิตชิปเซ็ตที่เกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้ บวกกับการที่ตัวต้นแบบไม่ได้สั่งทำแบบหลายชิ้นทำให้ราคาตัวต้นแบบของ KomilO ตอนนี้อยู่สูงกว่าที่เราตั้งเป้าไว้”

มีแผนสำหรับการพัฒนาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโคนมอย่างไรบ้าง?

“เราได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อนำ KomilO ไปศึกษาในฟาร์มทดลอง รวมทั้งมีการหารือกับพันธมิตรเกี่ยวกับการผลิตที่จะสามารถทำให้ราคาต่อโคนม 1 ตัวถูกลง จนเกษตรกรโคนมของไทยสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยครับ”

ซึ่ง “KomilO” จะเป็นตัวแทนจากประเทศไทยในการประกวดรางวัล James Dyson Award ระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เข้ารอบในการประกวดระดับนานาชาติจะประกาศในวันที่ 12 ตุลาคมนี้

เปิดใจ 3 ทีมแรกของไทย ผู้คว้ารางวัล \"James Dyson Award 2022\" ทีม The AHDs

ส่วนทีม “The AHDs” ได้พุ่งเป้าไปที่ประเด็นที่ว่า ในปี 2564 มีจำนวนผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินจำนวนประมาณหนึ่งพันห้าร้อยล้านคนทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสองพันห้าร้อยล้านคนภายในปี 2573 ตามรายงานของ WHO (2021) ซึ่งอัตราส่วนของคนที่เข้าถึงเครื่องช่วยฟังที่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยเกิดจากการออกแบบเครื่องช่วยฟังที่ใช้ไม่ได้สำหรับทุกคน ตัวอย่างเช่น คนที่ใส่แว่นจะใส่เครื่องช่วยฟังไม่ได้ รวมไปถึงการขาดแคลนเครื่องช่วยฟังที่มีน้ำหนักเบาหรือเครื่องช่วงฟังแบบไม่รุกล้ำ

AHDs คือเครื่องช่วยฟังที่มุ่งเป้าไปที่การออกแบบให้เข้าถึงง่าย นำเสนอเครื่องช่วยฟังที่ใส่สบายและนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นมิตรกับผู้ใส่โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด นอกจากนั้นยังมาพร้อมกับที่คาดหัวเพื่อใช้สำหรับการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวเยอะ

เปิดใจ 3 ทีมแรกของไทย ผู้คว้ารางวัล \"James Dyson Award 2022\"

The AHDs แตกต่างจากเครื่องช่วยฟังที่พบได้ทั่วไปอย่างไรบ้าง?

“เครื่องช่วยฟังที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทยเป็นเครื่องประเภทเสียบในช่องหู แต่ The AHDs ออกแบบให้ติดที่บริเวณหลังหู ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถใช้ร่วมกับแว่นสายตาได้ รวมทั้งยังมีน้ำหนักเบากว่าดีไซน์ปกติที่พบได้ทั่วไป นอกจากนั้นเรายังนำเสนอทางเลือกให้ผู้ใช้ด้วยการมีที่คาดศีรษะสำหรับใช้ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวได้ด้วย”

ได้มีการให้ผู้สูญเสียการได้ยินได้ทดลอง The AHDs ใช้บ้างไหม ผลตอบรับเป็นอย่างไร?

“เราได้มีการทำตัวต้นแบบเพื่อทดลองใช้เพื่อให้คนใส่สบายที่สุด รวมทั้งยังสอบถามความเห็นเกี่ยวกับดีไซน์จากผู้คนทั่วไปด้วย ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเก็บความคิดเห็นจากทั้งผู้ใช้และผู้คนทั่วไป เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีไซน์ของตัว The AHDs ตอบโจทย์ผู้ใส่ทั้งในเชิงการใช้งานและความสวยงามด้วย”

เปิดใจ 3 ทีมแรกของไทย ผู้คว้ารางวัล \"James Dyson Award 2022\"

และทีม “Aeolus” สนใจข้อมูลงานวิจัยที่ระบุว่าประชากรโลกจำนวน 17 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหาเรื่องการนอนหลับโดยมีสาเหตุมาจากหมอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งนอกจากสิ่งนี้จะทำให้การนอนแบบมีคุณภาพน้อยลงแล้ว ยังนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรงมากขึ้น เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต และภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ ในขณะที่ร่างกายของมนุษย์เราแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่หมอนในท้องตลาดที่ปรับให้เข้ากับร่างกายได้ยังมีอยู่น้อยมาก

“Aeolus” คือหมอนแบบปรับตามความต้องการโดยอาศัยแอปพลิเคชันในการปรับขนาดเพื่อทำให้การนอนแบบมีคุณภาพ เข้าถึงได้ ออกแบบมาให้ใช้การตรวจจับจุดกดทับเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับท่าของการวางศีรษะและการวิเคราะห์คุณภาพการนอนหลับโดย แอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาเสริม ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอแก่ผู้ใช้ว่าการปรับหมอนแบบไหนจะส่งผลดีกับคุณภาพการนอนมากที่สุด หมอน Aeolus มีระบบควบคุมอากาศที่ประกอบด้วยปั๊มลมและหน่วยประมวลผลทำให้ปรับความสูงของหมอนจนถึงระดับที่ทำให้หลับสบายที่สุดได้ ทำให้ส่งผลดีต่อร่างกายในระยะยาว

เปิดใจ 3 ทีมแรกของไทย ผู้คว้ารางวัล \"James Dyson Award 2022\"

การทำงานของหมอนกับตัวปั๊มลมทำงานร่วมกันอย่างไร?

“ตัวปั๊มลมจะทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันในการกำหนดรูปร่าง ความสูง และขนาดของหมอน โดยเมื่อกำหนดรูปทรงของหมอนแล้วจะต้องต่อหมอนเข้ากับปั๊มลมเพื่อปรับขนาด รูปร่าง และความสูงของหมอนครับ และเมื่อปรับสำเร็จแล้วจึงสามารถถอดออกได้ ทำให้สามารถพกพาได้สะดวก”

การทำงานโดยเอาข้อมูลการนอนของผู้ใช้มาปรับให้เข้ากับพฤติกรรม มีการทำงานอย่างไรบ้าง?

“ตัวแอปพลิเคชันจะสามารถตรวจจับแรงกดของศีรษะบนหมอนได้ ทำให้สามารถรู้ได้ว่าพฤติกรรมการนอนของผู้ใช้เป็นอย่างไร และเมื่อเก็บข้อมูลตรงนี้จนเพียงพอก็จะสามารถแนะนำรูปแบบของหมอนที่เหมาะกับผู้ใช้ที่สุดได้”