เปิดยุทธศาสตร์ใหญ่ ‘ลาซาด้า’ : ‘เมื่อลูกค้าใช้ เรา เป็นเสิร์ชเอ็นจิ้น’

เปิดยุทธศาสตร์ใหญ่ ‘ลาซาด้า’ :  ‘เมื่อลูกค้าใช้ เรา เป็นเสิร์ชเอ็นจิ้น’

ภาพของตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และยิ่งทวีคูณการขยายตัวของตลาด ทั้งฐานลูกค้าและมูลค่าตลาดโดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งการทำตลาด “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ยังถือเป็นน่านน้ำที่หลายต่อหลายบริษัทต้องการเข้ามาสยายปีกธุรกิจตัวเองให้ได้

“ลาซาด้า” อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ เพิ่งเปิดตัวสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในสิงคโปร์ ในชื่อ “Lazada One” หลังจากดำเนินธุรกิจมาแล้วใน 6 ประเทศ ภายใต้ปีกของอาลีบาบา ลาซาด้า ตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายรวมของลาซาด้าเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 300 ล้านคนในปี 2573

เปลี่ยนจากค้นหาเป็นขนส่ง

“เจมส์ ตง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า พฤติกรรมนักช้อปอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังขับเคลื่อนไปอย่างก้าวกระโดด เริ่มเส้นทางตั้งแต่การค้นหาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงส่งสินค้า ซึ่งเกิดขึ้นในแทบจะทุกนาที ลาซาด้าสำรวจผู้ใช้งานอีคอมเมิร์ซ 38,138 ราย และระดับรายได้ครัวเรือนใน 6 ประเทศที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ใช้อีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้นเป็น 413 ล้านคนในปี 2568 ทำให้รูปแบบการช้อปปิงมีความหลากหลายมากขึ้น โดยผลสำรวจนี้พบว่า กว่า 57% ผู้ใช้งานลาซาด้าค้นหาผลิตภัณฑ์โดยตรงบนอีคอมเมิร์ซ มากกว่าค้นหาผ่านโซเชียล มีเดีย ที่มีอัตรา 50% กูเกิล 40% และซูเปอร์ แอพอื่นๆ ที่มีการค้นหาสินค้าราว 9%

มาถึงวันนี้แพลตฟอร์ตอีคอมเมิร์ซอย่าง “ลาซาด้า” ทำได้เหนือกว่า “โซเชียลมีเดีย” และ “เสิร์ช เอ็นจิ้น” ไปสู่การเป็นช่องทางการค้นพบทางเลือก พฤติกรรม และกรอบความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผลักดันให้กลุ่มผู้บริโภคคุณภาพสูง ที่มองหาผลิตภัณฑ์ของแท้คุณภาพดี และประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม หันมาใช้งานบนแพลตฟอร์ม LazMall มากขึ้น ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ มีโอกาสนำเสนอแนวคิดและเชื่อมโยงกับผู้บริโภคโดยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ของลาซาด้า เพื่อเร่งการเติบโตในพื้นที่อีคอมเมิร์ซและสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด

“นักช้อปในภูมิภาคค้นหาสินค้าบนแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซโดยตรง ต่างจากเดิมที่ผู้ใช้งานมักค้นหาผ่าน เสิร์ช เอ็นจิ้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อโซลูชันการตลาดของอีคอมเมิร์ซและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอดในธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องปรับตัวได้ตามสถานการณ์และมีความใกล้ชิดกับลูกค้า”

แพลตฟอร์มเพื่อผู้ขาย-ผู้ซื้อ

อุตสาหกรรม อีคอมเมิร์ซ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ระหว่างปี 2561-2564 เป็นผลมาจากการที่ผู้ซื้อหันมาช้อปปิงออนไลน์มากขึ้น ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ปัจจุบัน ผู้บริโภคเริ่มกลับไปใช้ชีวิตเช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ลาซาด้ายังคงเชื่อมั่นว่าผู้ซื้อ จะยังคงซื้อสินค้าบนช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

พบว่า ผู้บริโภค 8 ใน 10 คนยังคงช้อปปิงออนไลน์ เนื่องจากความสะดวกสบาย แม้ว่ายอดซื้อสินค้าเฉลี่ยต่อรายจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสองปีก่อน LazMall ยังมีจำนวนผู้ซื้อเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด และต่อจากนี้ลาซาด้าจะยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมและรักษาฐานลูกค้ามากกว่าการเน้นเรื่องราคาและโปรโมชันเป็นหลัก

โดยสิ่งสำคัญสำหรับการทำตลาด คือ การรักษาฐานลูกค้าให้เหนียวแน่น มักมาจากการมีตัวเลือกของประเภทสินค้าที่หลากหลาย ราคาที่ดึงดูด ความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นและตัวเลือกการใช้งานที่หลากหลาย ตลอดจนประสบการณ์การช้อปปิงที่ออกแบบเฉพาะบุคคล

การค้นพบสินค้าจากการค้นหา และสินค้าแนะนำช่วยสนับสนุนผู้บริโภคในกระบวนการตัดสินใจซื้อ โดย 94% ของนักช้อปใช้ฟังก์ชันค้นหาเพื่อมองหาสินค้าบนลาซาด้า และ 94% ตัดสินใจซื้อสินค้าที่พวกเขาพบจากฟังก์ชั่นค้นหา

นอกจากนี้ 71% ของนักช้อปยังซื้อสินค้าที่แสดงในฟีเจอร์ “สินค้าแนะนำ” ที่ลาซาด้าคัดสรรมาให้ตรงตามความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน

“ความไดนามิกของเส้นทางการช้อปปิงคือการไม่ได้วางแผนการค้นพบที่นำโดยการค้นหาและการแนะนำผลิตภัณฑ์ช่วยนักช้อปในการตัดสินใจ ตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการคลิกของนักช้อป ได้แก่ การจัดวางผลิตภัณฑ์ รูปภาพผลิตภัณฑ์ การจัดส่งฟรี และบัตรกำนัลส่วนลด”

เมตาเวิร์สเปลี่ยนโลกชอปปิ้ง

โฮเวิร์ด หวัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ลาซาด้า กรุ๊ป อธิบายว่า เทคโนโลยีอันล้ำสมัยของลาซาด้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ของอาลีบาบา ช่วยทำให้ระบบต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มเกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของลูกค้า โปรแกรมที่ช่วยให้ผู้ขายประสบความสำเร็จ และการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์

นอกจากนี้ ข้อมูลอัจฉริยะของบริษัทยังช่วยให้แบรนด์และผู้ขายสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ และเพิ่มการซื้อได้มากขึ้น โดยลาซาด้ายังนำเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) มาใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลลัพธ์ทางธุรกิจและยกระดับประสบการณ์ของนักช้อปที่มีต่อแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น

เขา พูดถึงเทคโนโลยี AR ของลาซาด้า ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ความงามได้แบบเรียลไทม์และได้ผลลัพธ์ที่สมจริง ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถมอบประสบการณ์การช้อปปิงแบบเสมือนจริงที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการของลูกค้า และมอบความสมจริงได้อย่างเหนือชั้น

ฟีเจอร์ Virtual Try On (VTO) มีฟังก์ชันมากมายที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกและลองใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อายแชโดว์ อายไลเนอร์ รองพื้น และบลัชได้จากทุกที่ ฟีเจอร์ดังกล่าวยังช่วยให้แบรนด์พันธมิตรด้านความงามบน LazMall ประสบความสำเร็จในการขายอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการซื้อเพิ่มขึ้นถึง 3.1 เท่า และมูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 11%

“ที่ลาซาด้าเรามีวิศวกรมากกว่า 1,000 คน มีคนทำระบบโปรแกรมหลังบ้าน นักวิเคราะห์ข้อมูลและเราจะไม่หยุดในการสร้างความประทับใจให้ลูกค้าเพื่อให้ได้รับประการณ์ที่ดีที่สุด ผ่านแพลตฟอร์มของเรา โดยเทรนด์เมตาเวิร์สเราเองก็มองว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนรูปแบบการชอปปิ้งไปอย่างสิ้นเชิงในอนาคตด้วย”

ล่าสุด ลาซาด้า จัดงาน LazMall Brands Future Forum (BFF) เป็นงานเพื่อกลุ่มธุรกิจที่รวบรวมผู้นำในอุตสาหกรรมและพันธมิตรของลาซาด้าจากทั่วทั้งภูมิภาคมาแลกเปลี่ยนมุมมองและนวัตกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้แบรนด์และผู้ขายสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และมอบประสบการณ์ค้าปลีกที่แตกต่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งาน BFF เป็นหนึ่งในงานสำคัญที่ลาซาด้าริเริ่มขึ้นเพื่อมุ่งสร้างอีโคซิสเต็มของอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่ง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค

และเพื่อเป็นการฉลองความร่วมมือและการเติบโตของ LazMall ร่วมกับแบรนด์พันธมิตร ภายในงาน ยังจะมีการประกาศรางวัล BFF 2022 Awards ซี่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับแบรนด์ระดับโลกและแบรนด์ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บน LazMall ที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยมและโดดเด่นเรื่องนวัตกรรม รางวัลดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนความเป็นเลิศในแวดวงการค้าปลีกออนไลน์ ตลอดจนความคล่องตัว ในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของธุรกิจการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง