ลาลามูฟ รุก ‘ขนส่งออนดีมานด์’ หนุนช่วย SMEs ให้เติบโต

ลาลามูฟ รุก ‘ขนส่งออนดีมานด์’ หนุนช่วย SMEs ให้เติบโต

ลาลามูฟ ใช้กลยุทธ์ ‘การขนส่งแบบออนดีมานด์’ รุกตลาดโลจิสติกส์ทั้งไทยและต่างประเทศ ล่าสุด เปิดบริการที่บังคลาเทศ พร้อมทั้งหนุนช่วย SMEs ให้เติบโต

ขณะที่ทั้งโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาด ธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งถือ โลจิสติกส์ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ลาลามูฟ (Lalamove) แพลตฟอร์มช่วยจัดส่งของแบบอีคอมเมิร์ช เป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมคนขับ (Driver) และผู้ใช้งาน (User) ให้สามารถทำการค้าร่วมกันซึ่งเป็นเสมือนมือขวาของธุรกิจ SMEs 

ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก มีคนขับ 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 160% จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้เปิดให้บริการ 11 ประเทศในทวีปเอเชีย ละตินอเมริกา และในปี 2565 ได้ขยายบริการในตลาดบังคลาเทศ

ลาลามูฟ รุก ‘ขนส่งออนดีมานด์’ หนุนช่วย SMEs ให้เติบโต

  • กลยุทธ์แบบ On-Demand Logistics หนุน SMEs

พอล ลู ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ลาลามูฟ กล่าวว่า SMEs เป็นฐานลูกค้าหลักของลาลามูฟทั่วโลก ในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 20% และสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลาลามูฟต้องการเติบโตไปพร้อมกับ SMEs จึงช่วยเรื่องลดต้นทุนในการจัดส่งหรือขนส่ง ให้ความอิสระแก่คนขับในการเลือกงานที่เหมาะสมกับประเภทของตนเอง และยังพัฒนาแอปพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เกิดการใช้งานที่เสถียรและมีความเข้าถึงได้ง่ายที่สุด 

ลาลามูฟใช้กลยุทธ์แบบ On-Demand Logistics โดยโฟกัสที่ Last-Mile Logistics กับ Mid-Mile Logistics โดยแบ่งรูปแบบการจัดส่งสินค้าประกอบด้วย 3 ระดับ คือ

  1. First-Mile Logistics เป็นการจัดส่งสินค้าจากโรงงานผลิตไปยังศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่
  2. Mid-Mile Logistics การจัดส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ไปสู่ศูนย์กระจายสินค้าขนาดเล็ก - โกดัง - เอาท์เล็ตต่าง ๆ
  3. Last-Mile Logistics เป็นการจัดส่งขั้นสุดท้าย จากศูนย์กระจายสินค้ารายย่อยให้ถึงมือผู้บริโภค

“เราตั้งใจขยายธุรกิจให้ครอบคลุมจาก Last-Mile Logistics ไปจนถึง Mid-Mile Logistics เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม  ตั้งแต่กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงกลุ่มองค์กร ขณะที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น เราต้องการทำให้คนขับนั้นรับออเดอร์ได้มากขึ้น และต้องทำให้ลูกค้าลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง” 

โดยทางลาลามูฟได้ตั้งเป้าขยายการเติบโตในปีนี้ไว้ที่ 50% และคาดหวังว่าจะเป็นแพลตฟอร์มแรกในประเทศไทยที่สามารถทำกำไร ไปพร้อม ๆ กับการช่วยผลักดันธุรกิจ SMEs ได้

ลาลามูฟ รุก ‘ขนส่งออนดีมานด์’ หนุนช่วย SMEs ให้เติบโต

  • อะไรที่ทำให้ลาลามูฟแตกต่างจากแพลตฟอร์มขนส่งเจ้าอื่น

เบน ลิน กรรมการผู้จัดการลาลามูฟคนใหม่ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จุดแข็งของลาลามูฟคือ มีประเภทรถให้เลือกที่หลากหลาย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนมีการขนส่งด้วยการเดินเท้า หรือปั่นจักรยาน ส่วนในประเทศไทยมีบริการรถ ได้แก่ รถ 2 ล้อ, รถ 4 ล้อ ที่ครอบคลุมไปถึงรถตุ๊กตุ๊ก รถกระบะ รถตู้ รถ SUV รถซีดาน รถ Hatchback และรถบรรทุกขนาดใหญ่ 

นอกจากนี้ ลาลามูฟยังให้อิสระแก่คนขับ ในส่วนของบริษัทโลจิสติกส์อื่น ๆ คนขับไม่สามารถเลือกงานเองได้ แต่ของลาลามูฟคนขับสามารถเลือกงานเองได้ จะทำงานกี่ชั่วโมงก็ได้ สามารถเลือกประเภทรถให้เหมาะสมกับสินค้าของผู้ใช้ได้ด้วยตนเอง และยังสามารถเปลี่ยนเส้นทางการวิ่งรับออเดอร์ได้โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดเส้นทางรับงานเดิม ๆ 

“ยกตัวอย่างเช่น ตอนแรกผมใช้มอเตอร์ไซค์ในการกดรับออเดอร์ลูกค้าประจำ แต่เมื่อมีออเดอร์ใหญ่เข้ามา และผมมีรถบรรทุก ผมก็สามารถกดรับออเดอร์นั้นโดยใช้รถบรรทุกของผมได้ และถ้าผมอยากเปลี่ยนเส้นทางการรับออเดอร์ผมก็สามารถเปลี่ยนได้เลยทันที มันจะเกิดความอิสระของการรับออเดอร์ตรงนี้ และช่วยสร้างให้เกิดดีมานด์มากขึ้นเบน ลิน กล่าว

ในส่วนของแอปพลิเคชั่นจะถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย โดยใช้เทคโนโลยีและดาต้าเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมี บริการแก่ผู้ใช้งาน เช่น การเช่ารถพร้อมคนขับทั้งวัน (Full day rental), บริการจัดส่งสินค้าแบบกำหนดเวลา (Scheduled Delivery) และบริการจัดส่งพัสดุ (Courier)

ส่วนในแอปพลิเคชั่น ลูกค้าสามารถระบุคนขับที่ชื่นชอบได้ (เช่น อาจเคยใช้บริการขนส่งเป็นประจำ) เมื่อลูกค้ากดออเดอร์ใหม่ ระบบก็จะแสดงผลคนขับที่ลูกค้าชื่นชอบขึ้นมาก่อน เป็นต้น

และยังมีฟีเจอร์ช่วยค้นหาคนขับในระยะกว้าง, ติดตามการจัดส่งผ่าน GPS แบบเรียลไทม์, การจัดส่งแบบหลายจุด, การมีเครื่องมือทางบัญชีให้ธุรกิจได้ใช้ และการเชื่อมต่อ API กับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เป็นต้น

ลาลามูฟ รุก ‘ขนส่งออนดีมานด์’ หนุนช่วย SMEs ให้เติบโต

  • การขยายบริการไปต่างจังหวัดและเมืองอื่น ๆ 

ปัจจุบันลาลามูฟมีบริการขนส่งจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยเป็นการขนส่งแค่เที่ยวเดียว ยังไม่มีการขนส่งเริ่มต้นสถานที่ต้นทางจากต่างจังหวัด แต่มีการวางแผนว่า หากสร้างให้การขนส่งภายในเมือง (Intra-city) และการขนส่งแบบข้ามเมือง (Inter-City) สำเร็จแล้วจึงจะขยายไปแต่ละจังหวัดแบบทีละเมืองต่อไป 

ในส่วนของต่างประเทศ นอกจากการเปิดตลาดที่บังคลาเทศแล้ว ยังมีแพลนที่ขยายบริการไปแต่ละเมือง โดยจะเปิดบริการลาลามูฟใน 1 ปี ไม่ต่ำกว่า 3-4 เมือง  

“ประเทศที่ใช้ลาลามูฟมากที่สุดคือ ละติน อเมริกา และประเทศในแถบเอเชีย” พอล ลู เสริมทิ้งท้าย