ส่องสภาพ "ครอบครัวไทย" ทำไม เด็กเกิดใหม่น้อย ?

ส่องสภาพ "ครอบครัวไทย" ทำไม เด็กเกิดใหม่น้อย ?

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง เรียนสูงขึ้น มีค่านิยมอยู่เป็นโสด มีความหลากหลายทางเพศ ภาวะมีบุตรยาก และอีกหลายปัจจัย ล้วนส่งผลให้ "เด็กเกิดใหม่" น้อยลง ปี 2563 เด็กเกิดใหม่เพียง 569,338 คน อัตราเจริญพันธุ์รวม(TFR) 1.24 และมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก

เด็กเกิดใหม่น้อย โดยปี 2563 อยู่ที่ 569,338 คนอัตราเจริญพันธุ์รวม(TFR) อยู่ที่ 1.24 และมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบที่ตามมา คือปี 2564 วัยแรงงาน 3.4 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน และคาดว่าปี 2583 วัยแรงงาน 1.7 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ทำให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชากรไม่เพียงพอ

 

กรมอนามัย ระบุถึงสาเหตุ เด็กเกิดน้อย ว่า เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง เรียนสูงขึ้น มีค่านิยมอยู่เป็นโสด มีความหลากหลายทางเพศ  ความต้องการมีบุตรและจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป มองเป็นภาระ 

 

มาตรการที่จูงใจให้คนต้องการมีบุตรมีน้อยและมาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถจูงใจให้คนอย่างมีบุตรได้ รวมถึง สภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้คนชะลอการมีบุตร และ คนที่อยากมีบุตรประสบปัญหา ภาวะมีบุตรยาก และไม่สามารถเข้าถึงบริการช่วยเหลือภาวะมีบุตรยากได้

 

เปิดเหตุผลคนไทยมีลูกน้อย

 

“พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์”  อธิบดีกรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า เหตุผลที่ปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับเนื่องมาจาก.การเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรบางกลุ่ม ผู้หญิงที่รับการศึกษาและอยู่ในระบบการศึกษาจนอายุมากขึ้น ทำให้ชะลอการมีครอบครัวและชะลอการมีบุตรด้วย ขณะที่ วิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวดีขึ้น ความประสงค์ของผู้หญิงที่จะเข้าสู่ความเป็นแม่ หรือตั้งใจมีบุตรถูกชะลอออกไปและลดจำนวนลง

และ.ความคาดหวังต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่และต่อคุณภาพของลูก เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะหลัง โดยพ่อแม่หลายคนคาดหวัง หากจะต้องเป็นพ่อแม่คนก็ต้องมีความพร้อม จึงตั้งมาตรฐานความพร้อมไว้สูง กว่าจะถึงเวลาที่พร้อมจริง ความสามารถในการมีบุตรก็อาจถดถอยลงไป และความเครียดความจริงจัง ทำให้โอกาสต่อการเจริญพันธุ์ได้รับผลกระทบด้วย

 

“ความคาดหวังต่อคุณภาพของเด็ก คาดหวังรูปแบบการเลี้ยงดูที่พ่อแม่จะมีให้กับลูก ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกวิตกกังวลต่อบทบาทความเป็นพ่อแม่ กว่าจะพร้อมก็เลยเวลาของวัยเจริญพันธุ์ไปพอสมควรแล้ว” พญ.อัมพรกล่าว    

 

ทางออกยุคเด็กไทยเกิดน้อย

 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เสนอทางออกแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อยด้วยการให้รัฐบาลประกาศนโยบายประชากร รณรงค์ให้ครอบครัวที่มีความพร้อมมีบุตรครอบครัวละไม่น้อยกว่า 2 คน เป็นไปด้วยความสมัครใจ มีการวางแผนและมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึง มีการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะมีบุตรยาก ให้เข้าถึงบริการได้เร็วขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนมาตรการหลัก 4 เรื่อง คือ 

  • เสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมแก่คนรุ่นใหม่ ในการสร้างครอบครัวและมีบุตรในวัยอันควร 
  • ผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0-5 ปี
  • ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน ในเวลากลางวันที่พ่อแม่จะต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพ
  • ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาในอายุที่น้อยลงเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น

"แม่วัยรุ่น" ครึ่งหนึ่งตั้งใจปล่อยท้อง

 

"นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์" ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ฉายภาพการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า ปี 2563 มี 28 % ปี 2564 กลับสูงขึ้นเป็น 47.5 % เนื่องจากพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2559 ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิม ปี 2564 ได้เรียนต่อที่เดิม 33.8% นักเรียนนักศึกษาที่คลอดแล้ว

 

ส่วนใหญ่ 52.6% อยู่บ้านเลี้ยงลูกซึ่งครึ่งหนึ่งตั้งใจจะท้อง ซึ่งทารกจากแม่ที่อายุน้อยไม่มีปัญหาสุขภาพกาย แต่แม่อายุน้อยมากอาจจะคลอดยาก และช่วงฝากครรภ์หากรับสารอาหารไม่ดี ทารกจะตัวเล็ก ถ้าคลอดได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน สุขภาพของทารกจะไม่ต่างจากที่คลอดจากแม่วัยอื่น เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้าน

 

"แม่วัยรุ่น" ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบการศึกษา ปัจจุบันสามารถพักการเรียนได้ เมื่อสภาพร่างกาย และจิตใจพร้อม สถานศึกษาก็เปิดโอกาสให้กลับมาเรียนหลังคลอด หรือส่งต่อไปศึกษาที่อื่นตามที่แม่วัยรุ่นและครอบครัวร้องขอ รวมทั้งจัดระบบติดตามดูแลจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

 

อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นต้องให้แม่วัยรุ่นฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดการดูแลที่ต่อเนื่อง ประคับประคองช่วยเหลือ โดยดึงครอบครัวทั้งฝ่ายแม่ของแม่วัยรุ่นและครอบครัวของสามีเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกัน การสร้างทักษะการเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่ระยะก่อนคลอด ขณะคลอด และหลังคลอด 

 

เน้นให้ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย และการคุมกำเนิดระยะยาวที่มีประสิทธิภาพ จัดหางานที่เหมาะสมหรือให้แม่วัยรุ่นสามารถรับงานมาทำที่บ้านได้ เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ในการเลี้ยงดูลูก และสามารถดำรงชีพพร้อม ๆ กับสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้       

 

สิทธิ “พ่อลาคลอด” สำคัญ

 

บทบาท “พ่อ” มีผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการของลูก ปัจจุบัน หลายประเทศจึงให้ความสำคัญให้ “พ่อลาคลอด” เพื่อช่วยคุณแม่ และนับเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างความผูกพันในครอบครัว โดยในส่วนของประเทศไทยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 มีมติขยายวันลาคลอดของแม่ (ข้าราชการหญิง) เป็น 98 วัน เมื่อครบลาต่อเนื่องได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือน 50% ให้ข้าราชการชายมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกัน

 

สวีเดน ให้สิทธิพ่อลาเลี้ยงดูบุตรเป็นเวลา 6 เดือน โดยยังได้รับค่าจ้าง ลาเพื่อดูแลบุตรอายุต่ำกว่า 10 ปี ที่ป่วยจำนวน 10 วัน ต่อเด็กหนึ่งคน ต่อปี เป็นประเทศที่มีสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูบุตรที่ดีที่สุดในโลก พ่อแม่ลางานเลี้ยงลูกได้ 480 วัน หรือ 16 เดือน แบ่งเป็น 6 เดือนแรกหลังคลอด ลางานได้ฝ่ายละ 3 เดือน จากนั้นอีก 10 เดือนที่เหลือพ่อหรือแม่สามารถแบ่งกันใช้สิทธิได้

 

ปี 2563 รัฐบาล ฟินแลนด์ เพิ่มวันลาคุณพ่อ โดยได้รับค่าจ้างเป็น 164 วัน ไอซ์แลนด์ คุณพ่อลาได้ถึง 3 เดือน รัฐบาลแจกกล่อง Kela box ให้แก่ครอบครัวที่สมาชิกใหม่ เปลี่ยนกล่องเป็นเงินมูลค่า 170 ยูโรแทนได้

 

ขณะที่ ยูนิเซฟ ทั่วโลกให้สิทธิพ่อลา 16 สัปดาห์ บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) ให้สิทธิลา (Parental Leave) ดูแลบุตรแรกเกิดได้ 98 วัน โดยได้รับค่าตอบแทน แบ่งลาได้ 3 ช่วงใน 1 ปี ส่วน อิเกีย ลาได้ 1 เดือนได้รับเงินเดือน