"หมอยง" เทียบ โควิด-19 กับการระบาดของโรคในอดีต

"หมอยง" เทียบ โควิด-19 กับการระบาดของโรคในอดีต

"หมอยง" เทียบ โควิด-19 กับการระบาดของโรคในอดีต ชี้กลุ่มเปราะบางยังน่าห่วง ย้ำวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า "โควิด-19" เราไม่สามารถหนีกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ

 

 

โดย หมอยง หรือ ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ เผยว่า ในอดีตที่ผ่านมามีการระบาดของโรคร้ายแรงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไข้ทรพิษ กาฬโรค และความรู้ การแพทย์ไม่ทันสมัยเหมือนสมัยนี้ เราก็สามารถผ่านพ้นกันมาได้จนทุกวันนี้ การระบาดของโรคจะไม่ยืดยาวนานอย่าง โควิด-19 ในปัจจุบัน

 

ตามกฎเกณฑ์ของวิวัฒนาการ กระต่ายเคยทำลายพืชเกษตรเสียหายมาก มนุษย์จึงใช้ไวรัสที่ก่อโรครุนแรงในกระต่ายถึงเสียชีวิต และเป็นโรคระบาดใส่ให้กระต่าย ผลปรากฏว่ากระต่ายเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ก็จะมีจำนวนหนึ่งที่ทนต่อไวรัสนี้และหลงเหลืออยู่แพร่พันธุ์ต่อมา เพิ่มจำนวนได้เท่าเดิม

 

เมื่อมองย้อนไปถึงการระบาดของโรคในอดีต การระบาดส่วนใหญ่จะใช้เวลาปีเดียว มีการติดต่อกันมาก อย่างเช่น อหิวาตกโรค ในรัชกาลที่ 2 หรือ ไข้หวัดใหญ่สเปน ในรัชกาลที่ 6 ระบาดอยู่เพียงปีเดียว ก็เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาล แต่มีการสูญเสียค่อนข้างมากโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร

 

เราประมาณการกันว่า ไข้หวัดใหญ่ ระยะเวลา 3 ปี เกือบทุกคนจะเป็นหนึ่งครั้ง และเมื่อครบ 9 ปีโดยเฉลี่ยแล้วจะเป็นครบทั้งไข้หวัดใหญ่ A (H1N1, H3N2) และ B รวม 3 ตัว ดังนั้นในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน การให้ครั้งแรกของชีวิตจะต้องให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน แต่ถ้าใครอายุเกิน 9 ปี ก็ถือว่าน่าจะเคยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มาแล้ว การให้วัคซีนจะเป็นเข็มกระตุ้น 1 ครั้ง Covid 19 ก็น่าจะเช่นเดียวกัน ถ้าใช้ระยะเวลา 3 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ก็น่าจะเคยติดเชื้อมาเป็นส่วนใหญ่แล้ว

 

ในปัจจุบันการแพทย์เราดีขึ้นก็ตาม การระบาดของโรคเราต่อสู้กับมันมาตลอด ทำให้ระยะเวลาในการระบาดยืดยาวออก และในที่สุดประชากรส่วนใหญ่ก็คงจะต้องเคยติดโรค เปรียบเสมือนไข้หวัดใหญ่ โรคทางไวรัส ส่วนใหญ่เป็นในเด็กอาการจะไม่มีรุนแรง อาการจะรุนแรงในกลุ่มเปราะบาง

 

 

เรายืดระยะการระบาดมาถึง 2 ปีครึ่งแล้ว เพื่อให้มีการพัฒนา การรักษา การป้องกันด้วยวัคซีน ปัจจุบันก็ทราบแล้วว่า วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ช่วยลดความรุนแรง การระบาดในระยะหลัง จึงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อาจจะเป็นจำนวนเป็นหลายหมื่น ถ้ารวมผู้ติดเชื้อมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ และไม่ได้ตรวจ ก็อาจจะเป็นแสนก็ได้ ปัญหาของโรคจึงอยู่ในกลุ่มเฉพาะเปราะบาง จำนวนการนอนโรงพยาบาลจึงอยู่ที่ 2,000 - 3,000 คน การเสียชีวิต 20-30 คน

 

"เรารับความจริงแล้วว่า โรคนี้จะอยู่กับเราตลอดไป และจะอยู่ด้วยกันได้ ไวรัสจะทำร้ายเราน้อยลง เรามีระบบภูมิต้านทานที่ดีขึ้น ที่เคยได้รับวัคซีนติดเชื้อในแล้ว และมียาที่ดีขึ้น อัตราการสูญเสียก็จะน้อยลง เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วๆไป โดยเฉพาะในเด็ก เมื่อเป็นแล้ว โตขึ้นก็จะมีภูมิต้านทาน และถ้าได้รับเชื้อความรุนแรงของโรคก็จะน้อยลงเอง"

 

ทั้งนี้ "หมอยง" ระบุอีกว่า โควิด-19 กำลังจะเปลี่ยนจาก "โรคติดต่ออันตราย" ไปสู่ "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 โรคค่อนข้างรุนแรง ระบาดรวดเร็วทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โรคโควิด-19 จึงถูกบรรจุเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ลำดับที่ 14 ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ

 

ระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 2 ปี ความรุนแรงของโรคเริ่มน้อยลง ถึงแม้จะยังแพร่กระจายได้ง่าย ในอนาคตก็คงไม่ต่างกับไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นเราจึงได้ยินว่าในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะมีการลดระดับของโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอื่น ๆ อีก 55 โรค ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

 

ในอนาคตการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เชื่อว่าโรคโควิด-19 จะมียารักษาที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ และการดูแลที่สำคัญจะมุ่งเน้นในกลุ่มเปราะบางที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

 

ที่มา Yong Poovorawan