สิ่งที่เกิดขึ้น "5 ปีปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข"

สิ่งที่เกิดขึ้น "5 ปีปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข"

5 ปีปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เตรียมชง ครม. ตั้งหน่วยงานระดับชาติดูแลข้อมูลสุขภาพประชาชนเต็มรูปแบบ กสทช.ให้งบ 4 พันล้านบาท ทำเครือข่ายสุขภาพดิจิทัลเชื่อมโยงข้อมูล

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขจะครบวาระ 5 ปีตามกฎหมาย ในวันที่ 14 ส.ค. 2565 จึงสรุปผลการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 5 ด้าน หรือ 5 Big Rock เป็นการบูรณาการร่วมกับเครือข่ายระบบสาธารณสุขทั่วประเทศไทย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โรงเรียนแพทย์ และหน่วยงานต่างๆ

ซึ่งมีความสำเร็จเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องเป็นสิ่งที่ สธ.ปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น นโยบาย 3 หมอ ,พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ,นโยบายการดูแลผู้สูงอายุ ,การรวบรวมระบบข้อมูลสุขภาพเชิงดิจิทัล ซึ่งจะมี กสทช. มาร่วมสร้างเครือข่ายข้อมูลดิจิทัลสุขภาพประชาชน สอดคล้องกับการเดินหน้านโยบาย 3หมอ และบัตรทองรักษาทุกที่ ที่ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูล

       “จะตั้งเป็นหน่วยงานระดับชาติ คือ National Digital Health Agency ดูแลข้อมูลสุขภาพประชาชนเต็มรูปแบบ ทำให้สามารถสร้างเครือข่ายให้บริการครอบคลุมหนึ่งเดียวทุกกองทุน ทั้งนี้ จะนำข้อมูลทางวิชาการจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขมาบูรณาการทำงานร่วมกัน ซึ่งเรามีเป้าหมายตรงกัน คือ สุขภาพที่ดีของประชาชน รับบริการดีที่สุดด้านการสาธารณสุขจากรัฐบาล”นายอนุทินกล่าว   

  ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ความสำเร็จของงานปฏิรูปมี 2 ส่วน  คือ 1.ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้างทำงานอย่างเป็นรูปธรรม หรือ Game Change และ 2.ไปช่วยหน่วยงานที่ทำอยู่แล้ว ยกระดับการทำงาน เร่งรัดให้เกิดผลสำเร็จขึ้น โดยตัวอย่างความำสเร็จ เช่น Big rock 1 การปฏิรูปการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ ก็มีการปฏิรูประบบปฐมภูมิใน กทม. ซึ่งช่วงโควิดเราจะเห็นปัญหาใน กทม.มาก เพราะไม่มีระบบปฐมภูมิปะทะข้างหน้า ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม.รับไปแล้ว มีการทำแซนด์บ็อกซ์ 2 แห่ง คือ ราชพิพัฒน์โมเดล และดุสิตโมเดล

         การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ก็เชิญกระทรวงดิจิทัลเพื่อเสรษฐกิจและสังคม กสทช. และหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันเชื่อมโยง ก็จะตอบสนองงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพราะอย่างผู้ป่วยอยู่ รพ.ต้นสังกัดแห่งหนึ่ง เมื่อไปรักษาที่หนึ่งก็จะไม่มีทางหาข้อมูลเก่าได้ ถ้าเชื่อมข้อมูลกัน อย่างอยู่บุรีรัมย์ไปเชียงใหม่ก็มีข้อมูลดึงได้ทันที รักษาเสร็จส่งข้อมูลกลับต้นสังกัด ซึ่งการเสนอตั้งหน่วยงานกลางระดับชาติด้านสุขภาพดิจิทัล รองนายกฯ เห็นชอบแล้ว กำลังเสนอนายกฯ เข้า ครม. ส่วนการจัดทำเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพดิจิทัล

       กสทช.ก็สนับสนุนงบประมาณ 4,000 ล้านบาทในการดำเนินงาน หรือ Big Rock 2 การดูแลโรคไม่ติดต่อ ก็เกิด Healthy Workplace Policy ให้ทุกสถานประกอบการในระบบ HR ต้องมี Cheif Health Officer ที่ต้องรู้ข้อมูลสุขภาพพนักงาน เช่น กี่คนเป็นเบาหวาน ความดัน ติดตามดูผลตรวจสุขภาพ เพื่อลดการเจ็บป่วย ไม่ใช่ทำงานแล้วเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ทั้งที่เป็นวัยทำงาน 

     อนึ่ง ผลสำเร็จการดำเนินงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข 5 Big Rock ประกอบด้วย  Big Rock 1 การปฏิรูปการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมถึงโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ โดยทำให้เกิดการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ กทม. ปฏิรูประบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ และปฏิรูปกลไกการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน โดยสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อคือ ผลักดันให้เกิดรูปแบบการจัดการระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่ในพื้นที่ กทม. ผลักดันแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลแห่งชาติบรรจุเป็นแผนระดับ 3 และประกาศใช้ภายใน 1 ปี เป็นต้น

Big Rock 2 การปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสร้างเสริมสุขภาพ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การป้องกันและดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อ ทำให้เกิด Healthy Workplace Policy ระดับประเทศ มีหลักสูตรพัฒนาผู้นำสุขภาพองค์กรระดับต่างๆ มีสถานประกอบการทั่วประเทศเข้าร่วม 4.2 หมื่นแห่ง

Big Rock 3 การปฏิรูประบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุด้านการบริบาล การรักษาพยาบาลที่บ้าน เกิดการปรับหลักสูตรการพยาบาลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เกิดการบริบาลผู้สูงอายุ 46,256 คน ดูแลผู้สูงอายุกว่า 4 แสนคน โดยต่อไปจะผลักดันระบบการคัดกรองผู้สูงอายุและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าสู่ระบบดิจิทัล ต่อยอดขยายผล Telemedicine และ Telehealth เข้าระบบบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ

Big Rock 4 การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและกองทุนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการปฏิรูปบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น ประชาชนทุกสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคจำนวน 11 รายการ ขยายสิทธิประโยชน์ Long Term Care เป็นประชาชนทุกกลุ่มวัย เกิดการปฏิรูปบริการการแพทย์ฉุกเฉินภาครัฐ

Big Rock 5 การปฏิรูปการบริหารจัดการเขตสุขภาพ ทำให้เกิด Sandbox เขตสุขภาพนำร่อง 4 เขต เกิดระบบการกระจายอำนาจและกลไกบริหารจัดการเขตสุขภาพ เกิดรูปแบบบริการใหม่หลากหลายเพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพที่เฉพาะเจาะจง คือ เขตสุขภาพที่ 1 เรื่องโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง เขตสุขภาพที่ 4 การดูแลหญิงตั้งครรภ์ เขตสุขภาพที่ 9 เรื่องแม่และเด็ก วัยทำงาน และกลุ่ม Pre-Aging และเขตสุขภาพที่ 12 เรื่องโรคหืดและหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง และการคัดกรองมะเร็งเต้านม