ต.ค.นี้ WHOเตรียมประชุมคกก.ฉุกเฉิน หารือระดับเตือนภัยโควิด-19

ต.ค.นี้ WHOเตรียมประชุมคกก.ฉุกเฉิน หารือระดับเตือนภัยโควิด-19

อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุปรับโควิด-19เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง อิงตามสถานการณ์โรคปัจจุบัน เผยต.ค.องค์การอนามัยโลก(WHO)เตรียมประชุมคกก.ฉุกเฉินหารือระดับเตือนภัยโควิด  ย้ำประชาชนป้องกันตัวเช่นเดิม ยกเลิกกักตัวคนสัมผัสผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 ว่า  เป็นการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน  ซึ่งระดับโรค แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคติดต่อทั่วไป เป็นโรคที่มีชื่อเอาไว้  หากรุนแรงขึ้น ก็อาจมีการประกาศเป็นโรคระบาด 2.โรคติดต่อเฝ้าระวัง เป็นโรคที่ไม่รุนแรงมาก แพร่ระบาดไม่สูง ปัจจุบันมีกว่า 50 โรค และ3. โรคติดต่ออันตราย คือโรคที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด แพร่เร็ว ต้องให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการต่างๆ เพื่อควบคุมกักตัว หากอยู่ในระยะสงสัย มีราว 13-14 โรค

     เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ก็เทียบได้กับโรคไข้เลือดออก ที่ต้องมีการระวังการติดต่อ และรายงานการติดเชื้อมายังระดับกรมควบคุมโรค จากนั้นก็รายงานให้กระทรวงสาธารณสุขทราบ ซึ่งการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ยังต้องจับตาดู เพราะโรคนี้แม้ความรุนแรงเท่ากับอดีต แต่เชื่อว่าสถานการณ์ความรุนแรงของโรคค่อยๆปรับลดลง และการกลายพันธุ์ของโรคก็ช้าลง จะเห็นว่า ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงจาก อู่ฮั่น อัลฟา เดลต้า โอมิครอน และสายพันธุ์ย่อยจากBA.1. BA.2 และBA.4 ,BA.5  รวมถึง คนอยู่กับโรคนี้มา 3 ปีแล้วรู้ว่าจะต้องป้องกันตนเองอย่างไร

  “ในเดือนต.ค.องค์การอนามัยโลก(WHO) โดยคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน จะมีการประชุมหารือ เรื่องระดับเตือนภัยโควิด -19  เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เปลี่ยนไปมาก ขณะนี้ทั่วโลกปฎิบัติกับโควิดเหมือนโรคทั่วไปทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไม่มีการจำกัดการเดินทางใช้ชีวิตตามปกติ”นพ.โอภาสกล่าว 

       สำหรับประชาชนยังปฎิบัติตัวเช่นเดิม ยังคงต้องรับวัคซีนเข้มกระตุ้นทุก 4 เดือน ควรสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ส่วนการรักษา การแยกกัก และกักตัวคนที่สัมผัสผู้ป่วยหรือเสี่ยงสูง จะค่อยๆเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์  โดยคนป่วยแยกกักรักษาจากเดิม 14 วันก็เหลือ 7+3 วัน  ส่วนกักตัวในคนสัมผัสผู้ป่วยก็ได้มีการยกเลิกแล้ว

     กรณีการให้สถานพยาบาลจัดซื้อยาต้านไวรัสรักษาโควิดได้เอง นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้ เป็นการดำเนินการที่ได้เตรียมการไว้มากกว่า 3-4 เดือน ไม่ใช่ว่าใครมาเรียกร้องแล้วก็เปลี่ยนแปลงทันที การให้สถานพยาบาลจัดซื้อยาเอง ก็เพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาอย่างกทม. ที่ไม่มีรพ.สต.  ซึ่งสถานพยาบาลที่จะเข้าใกล้ผู้ป่วยมากที่สุดได้กลับเป็นคลินิก และรพ.เอกชน  ผิดกับต่างจังหวัดที่ไม่มีปัญหาเรื่องยา  เพราะมีรพ.สต. โดยการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อยานี้ครอบคลุมในทุกสถานพยาบาลทุกสังกัด รวมถึงคลินิก จะเริ่ม 1 ก.ย.นี้

       “การที่เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น แล้วรัฐเข้าดำเนินการซื้อยาและกระจายเองก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เพราะคนที่กำลังทรัพย์น้อยจะได้เข้าถึงยา   ทั้งนี้การกระจายยาในลักษณะนี้ก็เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีการกระจายทามิฟูล ที่ก็ให้ทุกสถานพยาบาล และคลินิกยกเว้นร้านขายายาและขอย้ำว่าต้านไวรัส ที่ใช้รักษาโควิด ทุกชนิด เป็นยาอันตราย และจัดอยู่ในยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจากโดยแพทย์  จะเห็นได้ว่าในประเทศที่เจริญแล้วไม่มีใคร  ซื้อได้ในร้านขายยา ในสหรัฐอเมริกาก็ไม่มี  การจะซื้อยาได้ต้องมีใบสั่งแพทย์ ดังนั้นการจ่ายยาต้องทำโดยแพทย์”นพ.โอภาสกล่าว