เทคนิครู้ทัน "ยาเถื่อน"-"ยาปลอม" ไม่ตกเป็นเหยื่อคำโฆษณา

เทคนิครู้ทัน "ยาเถื่อน"-"ยาปลอม" ไม่ตกเป็นเหยื่อคำโฆษณา

สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก หากตกเป็นเหยื่อโฆษณา “ยาปลอม” และ”ยาเถื่อน” หากไม่เข้าใจว่า “ยาไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่ผู้ป่วยต้องการจะใช้แล้วต้องได้ใช้” โดยเฉพาะยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ซึ่ง “การโฆษณายา”จะต้องได้รับอนุญาต

”ยาที่เข้าถึงยา แปลว่าเป็นยาที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ใช่เข้าใจผิดกันไปว่าเพราะยาเข้าถึงยาก คนถึงต้องไปใช้ยาเถื่อน” นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาฯอย.
  
     

 

    ยาปลอม และยาเถื่อน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบายว่า  “ยาปลอม”จะต้องมีการพิสูจน์ว่าสารที่นำมาทำเป็นยาไม่ถูกต้อง  ส่วน “ยาเถื่อน”เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยาที่ลักลอบนำเข้าไม่ถูกกฎหมาย ถือว่าเป็นยาที่ไม่ถูกต้องในการนำเข้า  โดยหากเป็นยาที่ถูกต้อง จะต้องรู้ว่าผลิตที่ไหน บริษัทใดนำเข้า ระบบการขนส่งเป็นอย่างไรจนถึงร้านขายยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

        หากเป็นยาที่นำเข้าไม่ถูกต้อง ก็จะลักลอบเข้ามาทางช่องทางที่ไม่ถูกต้อง อาจจะเป็นยาปลอม ที่เม็ดยาอาจจะไม่ได้มีเนื้อยาอยู่เลย หรืออาจจะเป็นยาจริงแต่นำเข้ามาโดยกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง  ซึ่งช่วงแรกเมื่อตรวจอาจจะมีเนื้อยา ทว่า ระหว่างการขนส่งที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ร้อน หรือชื้นเกินไป ก็อาจจะทำให้ยาเสียหรือเสื่อมคุณภาพได้ เป็นยาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ยาที่ไม่มีคุณภาพ

  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะมีการขายหรือโฆษณายาปลอมหรือยาเถื่อนผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งเรื่องช่องทางการจำหน่าย ซึ่งไม่อนาพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510  ทั้งในส่วนของการขาย นำเข้า ยาปลอมหรือยาเถื่อน และการโฆษณา 

          “การโฆษณายา หากไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ถือว่ามีความผิดฐานไม่ได้รับอนุญาตในการโฆษณาทั้งหมด ไม่ว่าจะกระทำผ่านช่องทางออนไลน์หรือหนังสือพิมพ์ หรืออื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาอย.ก็มีการดำเนินการทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ฝากเตือนสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายด้วย เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป ที่จะโฆษณาได้โดยไม่ผ่านการขออนุญาต”นพ.สุรโชคกล่าว 
       นพ.สุรโชค กล่าวด้วยว่า  อย.มีกลไกในการตรวจจับผู้ที่กระทำความผิดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมี “หน่วยเฝ้าระวัง” หากพบว่ามีการโฆษณายา มีการร่วมมือกับ Market Placeต่างๆ ในการแจ้งไม่ให้มีการโฆษณายา เนื่องจากตามกฎหมายการโฆษณาจะต้องได้รับอนุญาตจากอย. รวมถึง มีโปรแกรมในการตรวจจับ และมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคช่วยตรวจสอบ  เมื่อพบการกระทำผิดก็จะมีการล่อซื้อและประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการสืบสวนและจับกุม

   กลุ่มยาที่มักจะเป็นยาปลอมและยาเถื่อน นพ.สุรโชค กล่าวว่า  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ซึ่งเป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ อาทิ กลุ่มยานอนหลับ กลุ่มยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ และล่าสุดเป็นยาที่รักษาโควิด-19   ในส่วนของยารักษาโควิด-19 จากข้อมูลการจับกุมล่าสุดช่วงต้นส.ค.จับกุมได้กว่า 80,000 เม็ด มูลค่าราว 10 ล้านบาท ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์
         “หลายคนเข้าใจผิดว่า ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ  ทำให้คนเข้าถึงยาก จึงต้องไปหาแอบซื้อยาเถื่อนหรือตกเป็นเหยื่อของยาปลอม  ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด การที่อย.กำหนดให้ยาใดเป็นยาควบคุมพิเศษ เข้าถึงยาก ต้องสั่งโดยแพทย์ เพราะว่าเป็นยาที่มีความเสี่ยงสูง ต้องรู้ว่ายาทุกชนิดมีความเสี่ยง แต่จะเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ถ้าเสี่ยงน้อยก็สามารถซื้อกินเองได้” นพ.สุรโชคกล่าว   

เทคนิครู้ทัน \"ยาเถื่อน\"-\"ยาปลอม\" ไม่ตกเป็นเหยื่อคำโฆษณา

      อย่างยารักษาโควิด-19 ยาทุกตัวเป็นยาที่ยังไม่มีการศึกษาที่ครบถ้วน ข้อบ่งชี้ในทุกประเทศ ใช้เฉพาะบางกลุ่ม ดังนั้น หากใช้ไม่ถูกต้อง เช่น  คนเป็นโควิด ปอดอักเสบแล้วมีอาการหอบแล้ว ให้ยาโมลนูพิราเวียร์กินก็ไม่ทัน เพราะยานี้ไม่ได้ใช้ในผู้ที่ปอดอักเสบรุนแรง  คนที่ซื้อมากินเองคิดว่าจะหายก็ไม่หาย  กลับกันอีกกลุ่มคนที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย และไม่มีความเสี่ยง กินหรือไม่กินยาก็ไม่ต่างกัน ซึ่งในต่างประเทศและข้อมูลยาที่ขึ้นทะเบียนยากับอย. บริษัทยาพิสูจน์มาแล้วว่า “ได้ประโยชน์เฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ในกลุ่มไม่เสี่ยง ได้ผลไม่ต่างกันระหว่างกินกับไม่กิน”

        ปัจจุบัน อย. ได้อนุมัติทะเบียนตำรับยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 ให้แก่ผู้รับอนุญาตจำนวนหลายราย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทเอกชน ได้แก่ ยาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 3 ทะเบียน ยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 3 ทะเบียน ยาเรมเดซิเวียร์ จำนวน 5 ทะเบียน โดยได้มีการกระจายยาไปสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน อย. จึงไม่เคยปิดกั้นหรือผูกขาดการนำเข้าแต่อย่างใด

         นพ.สุรโชค เตือนว่าหากไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อของกระบวนการขายยาปลอมหรือยาเถื่อน สิ่งสำคัญ 1.ประชาชนต้องมีความเข้าใจหลักการเกี่ยวกับการใช้ยา ว่าการที่ไปพบแพทย์และรับยาตามระบบที่ถูกต้องก็จะได้ยาตามความจำเป็นและได้ยาที่มีคุณภาพ และตัดตอนคนที่เอายาปลอม ยาเถื่อนมาขาย เพราะเมื่อลักลอบแล้วขายได้ ก็มีคนพร้อมลักลอบที่จะกระทำผิด

      และ2. รับยาจากช่องทางที่ถูกกฎหมาย ซึ่งผ่านการนำเข้าหรือผลิตจากผู้รับอนุญาตด้านยาเท่านั้น ถึงจะสามารถยืนยันได้ถึงความปลอดภัย เนื่องจากผู้ได้รับอนุญาตจะมีระบบการประกันคุณภาพยาตามมาตรฐานสากล ตลอดห่วงโซ่การกระจายยา จึงสามารถมั่นใจได้ว่ายาจะคงคุณภาพและความปลอดภัยจนถึงมือผู้ป่วย รวมไปถึงมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาด้วย

          “การซื้อยาจากแหล่งที่ไม่รู้ที่มาที่ไป หรือผู้ขายที่ไม่ใช่ผู้รับอนุญาตด้านยา ผู้ป่วยอาจได้รับยาที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่มีมาตรฐานการผลิตยาที่ดี รวมทั้งอาจได้รับยาปลอมหรือยาที่ไม่มีคุณภาพ นอกจากจะเสียเงินโดยใช่เหตุแล้ว อาจเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง”นพ.สุรโชคกล่าว

         หากผู้บริโภคพบเห็นหรือมีเบาะแสการนำเข้าหรือขายยาที่ผิดกฎหมายหรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา สามารถแจ้งหรือร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. โทร1556  หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai