เตรียมพร้อมก่อน "สูงวัย" ใช้ชีวิตร่วมเด็กGEN Z

เตรียมพร้อมก่อน "สูงวัย" ใช้ชีวิตร่วมเด็กGEN Z

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรมากกว่า 66ล้านคน  ซึ่งเป็นประชากรผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด นับได้ว่าไทยกำลังเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์

โครงสร้างขอประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุจำนวนมากถือเป็นคานงัดสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศทั่วโลก

  • อัตราการเกิดติดลบ อัตราการตายเพิ่ม

ปรากฎการณ์โครงสร้างประชากร จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมสังคมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยการเตรียมความพร้อมไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนในวัยก่อนสูงอายุเท่านั้น แต่รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนา การทำงานกับเด็กรุ่นใหม่พร้อมใช้ชีวิตผู้สูงอายุอย่างมีความสุข

วานนี้ (30 ส.ค.2565) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดเวทีเปิดคลังความรู้ มส.ผส. 2565 "การเตรียมความพร้อมรอบด้าน ในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ สู่สังคมไทยที่มีสุขอย่างยั่งยืน"

เตรียมพร้อมก่อน "สูงวัย" ใช้ชีวิตร่วมเด็กGEN Z

โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล กรรมการบริหารมส.ผส. กล่าวว่าการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์มีความจำเป็น เพราะปี2564 เป็นปีแรกที่อัตราการเกิดน้อยลงเมื่อเทียบกับอัตราการตาย โดยมีการเกิด 5.4 แสนคน ขณะที่การตาย 5.6 แสนคน  

ในปี 2565 ผ่านไป 7 เดือน คาดว่าการเกิดจะเหลือเพียง 5 แสนคน ขณะที่การตายอาจเพิ่มถึง 6 แสนคน ฉะนั้น หลังจากนี้ อัตราการเกิดจะติดลบไปเรื่อยๆ และอัตราการตายจะเพิ่มขึ้น

เตรียมพร้อมก่อน "สูงวัย" ใช้ชีวิตร่วมเด็กGEN Z

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รวบรวมทุก “อาชีพผู้สูงอายุ” หาเงินอย่างไร? ให้มีความสุข

                        9 เทคนิค "การนอนหลับ" เคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับผู้สูงวัย

                        7 เรื่องกินดี บำรุงสมอง เพื่อสุขภาพที่ดีของ "คุณแม่"

                        ‘อบจ.สงขลา’ สร้างการเข้าถึงบริการ ‘ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ-ผู้มีภาวะพึ่งพิง’

 

  • สึนามิคนก่อนสูงวัยเพิ่มขึ้น 1 ล้านคนต่อปี

“ปีนี้ถือว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แน่นอน ซึ่ง1ใน5 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด โดยปัจจุบันมีผู้สูงอายุเกือบร้อยละ 20 แต่มีเด็กต่ำกว่าอายุ 15 ปี มีเพียง ร้อยละ 15-16”ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ กล่าว

ส่วนในปี 2566 ประชากรเกิดตั้งแต่พ.ศ.2506 จะเป็นกลุ่มสึนามิประชากร หรือกลุ่มคนที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีเพิ่มประมาณ 1 ล้านคนไปเรื่อยๆ  เช่นเดียวกับผู้สูงอายุวัยปลาย 70 ปีขึ้นไป จะมีเพิ่มมากขึ้นไปถึง 4 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มภาวะพึ่งพิง

เตรียมพร้อมก่อน "สูงวัย" ใช้ชีวิตร่วมเด็กGEN Z

นอกจากนั้น ครอบครัวไทยเล็กลง เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 3 คนต่อ 1 ครัวเรือน จะมีครัวเรือนที่ผู้สูงอายุคนเดียว หรืออยู่ด้วยกัน 2 คนตายายประมาณเกือบร้อยละ 30 สถานการณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะภาคส่วนไหน ต่อให้อายุมากหรืออายุน้อย ต้องมองอนาคตข้างหน้าของไทยว่าจะเป็นแบบไหน  การเตรียมพร้อมสำหรับเข้าสู่วัยสูงอายุมีความสำคัญมาก

 

  • ผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียงต้องการพึ่งพิงสูงขึ้น

ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวถึงสถานการณ์ของสังคมสูงวัย ความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ว่า ปี 2564 เป็นปีแรกที่เด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิต และในปี 2565 เป็นต้นไปก็จะเป็นเช่นเดียว ทำให้โครงสร้างพีระมิดประชากรจะเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับ

สิ่งที่น่ากังวล คือ จะมีจำนวนผู้สูงอายุติดบ้าน หรือติดเตียง หรือต้องการพึ่งพิงจำนวนมาก  รวมถึงมีปัญหาเรื่องสมองเสื่อม จากสถานการณ์ปัจจุบัน มีผู้ป่วยสมองเสื่อม 1 ใน 8 ของผู้สูงอายุ หรือผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ประมาณร้อยละ 12.4 เริ่มมีภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นในอนาคต  จึงเป็นความท้าทายและปัญหาหากไม่มีการปรับปรุงระบบ เพื่อรองรับผู้สงอายุ

เตรียมพร้อมก่อน "สูงวัย" ใช้ชีวิตร่วมเด็กGEN Z

ทั้งนี้ จากการสำรวจลักษณะการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ พบว่า

  • ร้อยละ 12.0  กลุ่มผู้สูงอายุอยู่คนเดียว  
  • ร้อยละ 21.1  ผู้สูงอายุอยู่ลำพังกับคู่สมรส
  • ซึ่ง2 กลุ่มนี้คาดว่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้น

ส่วนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุผ่านเทคโนโลยี พบว่า

  • ผู้สูงอายุจำนวนมาก ไม่สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้ 
  • มีผู้สูงอายุ เพียง1 ใน 3เท่านั้นที่ใช้งานดิจิตอลเทคโนโลยี -อินเทอร์เน็ต
  • ร้อยละ 49 ใช้ Smartphone

ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาผู้สูงอายุในเรื่องนี้เพื่อให้เข้าถึงการบริการ สวัสดิการของรัฐ

“สึนามิประชากร หรือ กลุ่มคนก่อนสูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น และกลุ่มคนนี้จะเข้าสู่ผู้สูงอายุ ต้องให้กลุ่มนี้เรียนรู้ทั้งการติดต่อสื่อสาร การทำงาน การใช้ไอที ดิจิตอลเทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพ เพราะหากผู้สูงอายุสามารถทำงานผ่านดิจิตอลเทคโนโลยีได้ก็จะสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้ รวมถึงติดต่อกับเครือข่าย หรือสมาชิกในครอบครัวได้ รวมถึงต้องมีการเตรียมพร้อมกลุ่ม Gen Z ให้มีความเข้าใจกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถทำงานร่วมกันกับกลุ่มผู้สูงอายุได้ และต้องทำความเข้าใจกับผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน ดร.นพ.ภูษิต กล่าว

เตรียมพร้อมก่อน "สูงวัย" ใช้ชีวิตร่วมเด็กGEN Z

  • การทำงาน- บุตรให้-เบี้ยยังชีพ ช่องทางรายได้ของสูงวัย 

ข้อมูลจากการสำรวจลักษณะการทำงานและแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2564 พบว่า  ผู้สูงอายุร้อยละ50 จะต้องทำงานแม้อยู่ในวัยเกษียณอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยต้น (60-69ปี) ซึ่ง 2 ใน 3  จะยังทำงานอยู่ 

ส่วนรายได้ของผู้สูงอายุ

  • ร้อยละ 32.4 มาจากการทำงาน
  • ร้อยละ 32.2 มาจากบุตร
  • ร้อยละ 19.2 มาจากเบี้ยยังชีพทางราชการ   

ฉะนั้น ต้องเพิ่มการดูแลเรื่องเศรษฐกิจของสูงวัยด้วย  

ดร.นพ.ภูษิต กล่าวต่อว่าเส้นทางชีวิตของผู้สูงอายุ ถ้าดูภาพรวมจะแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง มีศักยภาพ ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ด้วยอายุย่อมมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ต้องมีการเพิ่มระบบบริการ สวัสดิการเมื่อเข้าสู่ภาวะเจ็บป่วย

ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง ต้องพึ่งพิง ควรมีการเพิ่มสวัสดิการในการดูแล เพื่อให้สัดส่วนของสูงวัยที่สุขภาพดีและสุขภาพไม่ดีเท่าๆ กัน และควรขยายเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้ในทุกกลุ่มอายุ

เตรียมพร้อมก่อน "สูงวัย" ใช้ชีวิตร่วมเด็กGEN Z

  • ระบบบริการสุขภาพ สวัสดิการไทยไม่ทั่วถึง

“เงื่อนปมสำคัญในระบบบริการสุขภาพและสวัสดิการของไทย คือ  ไม่ทั่วถึง เข้าไม่ถึง มีแต่ไม่รู้ ไม่เชื่อมต่อกัน ขาดการบูรณาการกลไก และไม่ทันเวลา เป็นแบบตั้งรับ เหวี่ยงแห และขาดมิติในเชิงรุก” ดร.นพ.ภูษิต กล่าว

ดังนั้น  สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องเตรียมความพร้อมตัวบุคคล  โดยกลุ่มก่อนเข้าสู่ผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะช่วงวัยไหน  ต้องมีการส่งเสริมด้านสุขภาพ ออกกำลังกาย งดบุหรี่ เหล้า  ด้านเศรษฐกิจ ต้องวางแผนการเงิน การออม  ด้านสังคม ต้องมีทัศนคติที่ดี ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ ต้องเตรียมสุขภาพ ทันตกรรม สมองเสื่อม กิจกรรมทางกาย โภชนาการ  ด้านเศรษฐกิจ ควรมีอาชีพเสริม มีรายได้ ด้านสังคม ควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ สิทธิ ทัศนคติ  

ดร.นพ.ภูษิต กล่าวอีกว่า ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาระบบรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งระบบสุขภาพ ระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ และบริการสาธารณะ

โดยต้องมีนโยบาย  องค์ความรู้ และขับเคลื่อนสร้างความตระหนัก ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านเดิมของตนเองให้ได้มากที่สุดและนานที่สุด ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี มีรายได้ที่สามารถพึ่งตนเองได้นานที่สุด และควรมีการปรับปรุงที่อยู่ให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

  • มุมมองของเด็ก Gen Z เมื่อไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย

จากการสำรวจ ได้มีการสอบถามเด็ก Gen Z หรือกลุ่มเด็กวัยมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย ถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสังคมสูงวัยของไทย โดยส่วนใหญ่ มองว่า หากพวกเขาเป็นผู้สูงอายุ พวกเขาจะใช้ชีวิตกับลูกหลาน อยู่กับครอบครัว หรือออกไปท่องเที่ยว อยู่บ้านเล่นเกม เล่นหุ้น เลี้ยงต้นไม้ และจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จะไม่ยอมแก่  ไม่ปล่อยให้ตัวเองซึมอยู่ที่บ้าน จะออกไปทำกิจกรรม ดูแลสุขภาพของตนเอง และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ

เตรียมพร้อมก่อน "สูงวัย" ใช้ชีวิตร่วมเด็กGEN Z

ส่วนมุมมองการดูแล สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในยุคของพวกเขา ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะดีกว่าผู้สูงอายุ ณ ปัจจุบันที่ได้กัน พวกเขาจะมีรากฐานที่มั่นคง มีเงินเก็บ  มีธุรกิจของตนเอง ไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน

คาดว่าจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกตอบโจทย์ผู้สูงอายุมากกว่านี้ รวมถึงอยากให้มีบริการที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุมากขึ้น และมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต่างระหว่างอายุ อยากให้รัฐสนับสนุนสุขภาพ และสวัสดิการ และมีชมรมกิจกรรมให้ทำ อยากให้มีเบี้ยยังชีพมากกว่า 600 บาท เพราะ 600 บาทไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุน่าจะเข้าถึงเทคโนโลยี มีสื่อที่ทำให้ผู้สูงวัยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ดูแลฝึกสมอง และสุขภาพสูงวัย