ผวา "ฝีดาษลิง" รายแรกมหาสารคาม - รายที่ 6 ของไทย สสจ.ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ผวา "ฝีดาษลิง" รายแรกมหาสารคาม - รายที่ 6 ของไทย สสจ.ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ผวา "ฝีดาษลิง" รายแรกมหาสารคาม หรือรายที่ 6 ของไทย สสจ.ย้ำเฝ้าระวังเข้ม ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนัง

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม (สสจ.) เปิดเผยว่า ตามที่ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แถลงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า พบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร หรือ "ฝีดาษลิง" ยืนยันรายที่ 6 ของประเทศไทย เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 21 ปี มีภูมิลำเนาที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม มีประวัติไปประกอบอาชีพพนักงานร้านนวดแผนไทยที่ประเทศกาตาร์

 

 

โดยในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ผู้ป่วยเริ่มมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ วันที่ 21 สิงหาคม 2565 เดินทางกลับมาประเทศไทย และวันที่ 22 สิงหาคม 2565 เดินทางกลับถึงบ้านที่ จ.มหาสารคาม โดยในวันเดียวกันได้เข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย เนื่องจากมีตุ่มน้ำใสและอาการป่วยคล้ายกับฝีดาษวานร หรือ "ฝีดาษลิง" จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ และมีผลตรวจยืนยันพบเชื้อโรคฝีดาษลิง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

 

ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม แจ้งข้อมูลอาการผู้ป่วยรายดังกล่าว เริ่มมีอาการตั้งแต่อยู่ที่ต่างประเทศ ขณะเดินทางผู้ป่วยแสดงอาการผื่นเพียงเล็กน้อยและอยู่ในร่มผ้า อย่างไรก็ตามในระหว่างเดินทางผู้ป่วยมีการป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่น ๆ

 

และเมื่อเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวังและได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ได้เร่งดำเนินการควบคุมเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของโรค โดยแยกผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรค ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม เป็นต้นมา และให้ทีมสอบสวนโรคค้นหาผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงของผู้สัมผัสจากการสอบสวนโรค โดยพบผู้สัมผัสรวม 28 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว 3 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 24 ราย

 

 

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด สุขภาพของผู้ป่วย "ฝีดาษลิง"รายที่ 6 ของไทยรายนี้ โดยรวมถือว่าปลอดภัยดี มีแสดงอาการเพียงเล็กน้อย คือปวดเมื่อยตามตัว มีตุ่มหนองขึ้น 1 จุด อยู่ในบริเวณร่มผ้า มีอาการคัน ไม่มีไข้ ไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนในกลุ่มเสี่ยงที่อาจสัมผัสใกล้ชิดคาดว่าจะมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากในระหว่างเดินทางผู้ป่วยมีการป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่น ๆ

 

ส่วนกลุ่มเสี่ยงจากการค้นหาผู้สัมผัส พบผู้สัมผัสทั้งหมด 28 คน แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว จำนวน 3 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษา จำนวน 1 ราย ทั้งหมดไม่มีอาการ ส่วนในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 24 ราย จะเป็นบุคคลในครอบครัว จำนวน 7 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษา จำนวน 9 ราย ผู้สัมผัสร่วมยานพาหนะ จำนวน 6 ราย และกลุ่มอื่น ๆ อีก 2 ราย ซึ่งขณะนี้ทั้งหมดไม่มีอาการ แต่เจ้าหน้าที่ให้กักตัวและสังเกตอาการก่อนเป็นเวลา 21 วันเพื่อความปลอดภัย ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

 

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวแนะนำประชาชน ขออย่าได้ตื่นตระหนกกับข่าวสารที่ไม่ถูกต้องที่เผยแพร่ตามโซเชียลมีเดีย และขอเน้นย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนังขณะป่วย จึงขอแนะนำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้เดินทางไปหรือกลับจากประเทศที่มีการระบาดโรคฝีดาษลิงหรือพำนักอาศัยที่ต่างประเทศ ให้เลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกายสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้อื่น ไม่สัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก

 

ควรรับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด และไม่สัมผัสสัตว์ป่วย หากผู้ที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง หรือมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด หลังจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านท่านได้ทันที

 

ข่าวโดย เอนก กระแจ่ม จ.มหาสารคาม