“ป่วยโควิด” ลดลง-เสียชีวิตพุ่ง ยังไม่ใช่ตัวเลขจริง “สงกรานต์”

“ป่วยโควิด” ลดลง-เสียชีวิตพุ่ง ยังไม่ใช่ตัวเลขจริง “สงกรานต์”

ติดตามสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" หลังสงกรานต์ 1-2 สัปดาห์ จะสะท้อนตัวเลขที่แท้จริง ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยคาดการณ์ว่า หากคงมาตรการต่างๆ ในระดับปัจจุบัน อาจมีผู้ติดเชื้อสูงสุดราว 50,000 รายต่อวัน

ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค "โควิด-19" ทั่วโลกเริ่มลดลง แต่หลายประเทศผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตยังมีจำนวนมาก เช่น อเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการติดเชื้อจำนวนมากก่อนช่วง "สงกรานต์ 2565" เฉลี่ย 14 วัน อยู่ที่ 22,176 ราย 

โดยวานนี้ (18 เม.ย.) มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 2,123 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 939 ราย เสียชีวิต 124 ราย ซึ่งผู้ป่วยปอดอักเสบ และเสียชีวิตสูงที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการติดเชื้อจำนวนมาก 2-3 สัปดาห์ก่อนสงกรานต์ แพร่เข้าสู่กลุ่มเสี่ยงและอาการหนักมาก ทำให้มีป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจสูงขึ้นตามมา

ผู้เสียชีวิตที่มีการรายงานเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงวัย ส่วนใหญ่อายุ 70 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรังประจำตัว และไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ฉีดเข็มเดียว หรือ 2 เข็ม และไม่ได้รับเข็มกระตุ้น จึงจำเป็นมากที่ต้องรณรงค์ให้มารับ "วัคซีนเข็มกระตุ้น" หลังสงกรานต์ 

 

เนื่องจากในหลายจังหวัดมีลูกหลานกลับบ้านไปพบปะรวมกลุ่ม ทำกิจกรรมรดน้ำดำหัวช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยขณะนี้ผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ที่ 39.4 % ขณะที่เป้าหมายของรัฐบาลต้องการฉีดให้ถึง 70-80% จะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้สูงวัย 

ที่สำคัญต้องติดตามสถานการณ์หลังสงกรานต์ 1-2 สัปดาห์ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อผู้เสียชีวิต รวมทั้งผู้ป่วยอาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วงสงกรานต์ จะสะท้อนตัวเลขที่แท้จริงในช่วงนั้น  ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์ว่าหากคงมาตรการต่างๆ ในระดับปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อจะสูงสุดราว 50,000 รายต่อวัน

ในวันนี้ (19 เม.ย.) ผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดราว 3,000 ราย ประมาณวันที่ 5-6 พ.ค. 2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดจะอยู่ที่ราว 900 ราย และผู้เสียชีวิตกว่า 100 รายต่อวัน 

ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ ณ วานนี้ (18 เม.ย.) ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ ส่วนผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตนั้น สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้แล้ว 

 

ส่วนกรณีที่ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกัก-กักตัว ประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อมาตรการป้องกันตนเองแบบครอบจักรวาล (UP) จะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดราว 1 แสนรายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดราว 6,000 ราย

ช่วง 5-6 พ.ค.2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดจะอยู่ที่ราว 1,700 ราย และผู้เสียชีวิตราว 250 รายต่อวัน  ซึ่งต้องรอดูหลังจากนี้ไป 14 วันว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่

ที่สำคัญจะต้องติดตามอัตราการครองเตียงว่า ระบบสาธารณสุขรองรับได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งอาการของผู้ป่วยรุนแรงน่าเป็นห่วงหรือไม่  ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าอัตราการติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยลง อาการป่วยไม่รุนแรง ก็จะไม่กระทบกับเป้าหมายการเข้าสู่โรคประจำถิ่นที่กำหนดไว้ช่วงเดือนกรกฎาคม 

หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ไม่มีอะไรเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข ศบค. ก็น่าจะผ่อนคลายมาตรการ ให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติได้ในที่สุด