4 สูตร“วัคซีนโควิด19”ในเด็ก ป้องกันป่วยหนัก-กลุ่มอาการMIS-C

4 สูตร“วัคซีนโควิด19”ในเด็ก ป้องกันป่วยหนัก-กลุ่มอาการMIS-C

ขณะนี้ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิด19 ให้กับกลุ่มเด็ก 3  ช่วงอายุ ตามวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) คือ  12-17 ปีวัคซีนไฟเซอร์(ฝาสีม่วง) 5-11 ปีวัคซีนไฟเซอร์(ฝาสีส้ม) และวัคซีนซิโนแวค 6 ปีขึ้นไป

    เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดเสวนาเรื่อง “วัคซีน mRNA ฉีดในเด็ก 5-11 ปีเรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้” ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า  ไทยให้วัคซีน mRNA ในเด็ก 5-11 ปีเป็นหลัก โดยวัคซีน mRNA มีการฉีดเด็กไปแล้วทั่วโลก พบว่ามีความปลอดภัยสูง  โดยวัคซีนไฟเซอร์ที่ฉีดในเด็ก 5-11 ปี ฉีดในปริมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ โอกาสเกิดผลข้างเคียงก็จะลดน้อยลง อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีด ได้แก่ ไข้ ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย ซึ่งเกิดน้อยกว่าผู้ใหญ่ 2-3 เท่า ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าผู้ใหญ่ 10 เท่า หรือ โอกาสเกิด 4 คนใน 1 ล้านการฉีด  และป้องกันการป่วยหนัก และอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ จากการติดโควิด19ของเด็ก หรือ MIS-Cได้ถึง 90 %
     “การฉีดวัคซีนเป็นทางเลือก  ไม่ได้เป็นการบังคับ และควรฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนการฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้น ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ จึงยังไม่แนะนำ รวมทั้งการฉีดชั้นผิวหนัง ทำให้ปวดบวม 3-4 วัน พ่อแม่จะดูแลเด็กได้ยากขึ้น และส่วนใหญ่การฉีดชั้นผิวหนังก็เป็นฉีดเข็มกระตุ้น ทั้งนี้ เด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดวัคซีนโควิด19 เว้นระยะห่างกับวัคซีนเด็กชนิดอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส โดยมีระยะห่าง 1 สัปดาห์”ศ.พญ.ธันยวีร์กล่าว  

ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวว่า  ภายหลังการฉีดวัคซีนแล้ว พ่อแม่ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด โดย 3 วันแรก ควรถามบ่อยๆ ว่าลูกสบายตัวหรือไม่ หากเป็นไข้ อ่อนเพลีย  สามารถดูแลที่บ้าน โดยให้ยาลดไข้ สำหรับอาการที่ควรพบแพทย์คือ เด็กทำกิจกรรมแล้วรู้สึกเหนื่อย หรือ สังเกตว่าเด็กดูหงอย ซึม ไม่ทำกิจกรรมเหมือนปกติ และกิจกรรมปกติที่ควรงดคือ การขี่จักรยานไปโรงเรียน หรือ ว่ายน้ำ อย่างน้อย 2 สัปดาห์

         ส่วนเด็กที่เคยป่วยโควิด-19 แล้ว  จากการวิจัยพบว่า ภูมิคุ้มกันจากธรรมชาติขึ้นไม่สูง เพราะเด็กส่วนใหญ่มีอาการน้อย ดังนั้นจึงแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนหลังจากหายป่วยแล้ว 1 เดือน โดยฉีดวัคซีนชนิด mRNA เพราะภูมิจะขึ้นสูงและป้องกันโรคได้ยาวนานกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ขณะนี้ข้อมูลวัคซีนยังไม่เพียงพอ ดังนั้น วิธีการปกป้องเด็กเล็ก คือ ผู้ใหญ่ จะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ จะได้ไม่นำเชื้อมาที่เด็ก

 วันเดียวกัน  นพ.วิชาญ ปานวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อในเด็กระลอกหลังๆ ที่มี สายพันธุ์เดลตา โอมิครอน พบมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงอายุ 5-11 ปี อยู่ที่ 6 % แต่อาการค่อนข้างน้อย สิ่งที่กังวลเด็กบางคนที่ติดเชื้อสามารถพบการเกิดภาวะ MIS-C เป็นการอักเสบของอวัยวะหลายระบบที่เกิดหลังติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก จึงมีเป้าหมายเร่งให้เด็กได้ฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด การนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุในบ้าน และรองรับการเปิดโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย ขณะนี้สธ.ได้ฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก 5-11 ปีไปแล้ว  66,165 คน จาก 5.1 ล้านคน  ยังไม่มีรายงานอาการผิดปกติหลังฉีด

4 สูตร“วัคซีนโควิด19”ในเด็ก ป้องกันป่วยหนัก-กลุ่มอาการMIS-C
      สำหรับ คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในการฉีดวัคซีนโควิด19 กลุ่มเป้าหมายอายุต่ำกว่า 18 ปี  มี 3 กลุ่มเป้าหมาย 4 สูตรวัคซีน ได้แก่

1.เด็กอายุ  5-11 ปี  วัคซีนไฟเซอร์(ฝาสีส้ม) 2 เข็ม ขนาด  0.2 มิลลิลิตรต่อโดส  ระยะห่างระหว่างเข็ม1และ 2 อยู่ที่ 8 สัปดาห์ 

2.เด็กอายุ 6-17 ปี ซิโนแวค ขนาด 0.5 มิลลิลิตรต่อโดส ระยะห่างระหว่างเข็ม1และ 2 อยู่ที่ 4 สัปดาห์ 

3.เด็กอายุ 12-17 ปี  วัคซีนไฟเซอร์(ฝาสีม่วง) 2 เข็ม ขนาด 0.3 มิลลิลิตรต่อโดส ระยะห่างระหว่างเข็ม1และ 2 อยู่ที่  3-4  สัปดาห์ 

และ4.เด็กอายุ 12-17 ปี  วัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค+ไฟเซอร์ โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคขนาด 0.5 มิลลิลิตร และเข็มที่ 2 เป็นไฟเซอร์(ฝาสีม่วง) ขนาด 0.3 มิลลิลิตร  ระยะห่างระหว่างเข็ม1และ 2 อยู่ที่ 4  สัปดาห์  ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง

           คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีคำแนะนำการฉีดสูตรไขว์ซิโนแวค+ไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี เพื่อเป็นทางเลือกได้ โดยมีการพิจารณาถึงข้อมูลการศึกษา ของคณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการศึกษาการระดับภูมิคุ้มกันของเด็กวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี ที่ฉีดสูตรไขว้ พบภูมิคุ้มกันภายหลังฉีดเข็ม 2 ขึ้นเทียบเคียงกับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะอนุกรรมการฯ ตัดสินใจแนะนำการฉีดสูตรไขว์ในเด็ก 12-17 ปี แต่สำหรับเด็กเล็ก 6-11 ปี ยังต้องรอนำข้อมูลเข้าพิจารณาอีกครั้ง 

       “ผู้ปกครองที่ลังเลว่าจะให้บุตรหลานฉีดหรือไม่ฉีดนั้น จากข้อมูลพบอัตราป่วยตายจากโควิด19ในกลุ่มเด็กอยู่ที่สัดส่วน 2 ใน 10,000 แต่ถ้าฉีดวัคซีนอัตราตายลดลงอย่างมากเป็นพันเท่าตัว การฉีดวัคซีนจึงมีประโยชน์ป้องกันการป่วยตายในเด็กได้ดี”นพ.วิชาญกล่าว 
4 สูตร“วัคซีนโควิด19”ในเด็ก ป้องกันป่วยหนัก-กลุ่มอาการMIS-C
         การศึกษาผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค ในกลุ่มอายุ  3-17 ปีในประเทศจีน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค.2564) มีกลุ่มประชากรเด็กอายุ 3-17 ปี จำนวน 235 ล้านราย  ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค พบว่า มีรายงานการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 19,000 ราย
       การศึกษาผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มอายุ 5-17 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ม.ค.2565) ผลข้างเคียงทั่วไป อาการอ่อนเพลียพบ 39.4 % ปวดหัว 28 % ปวดเมื่อย 11.7 %  หนาวสั่น 9.8 % โอกาสพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 2 ต่อการฉีดวัคซีน จำนวน 1 ล้านโดส
        ในกลุ่มอายุ 5-11 ปี พบอุบัติการณ์เกิดในเพศชายและเพศหญิง เป็น 4.3  รายและ 2 รายตามลำดับ กลุ่มอายุ 12-15 ปี พบอุบัติการณ์เกิดในเพศชายและเพศหญิง เป็น 45.7  รายและ 3.8 ราย ตามลำดับ และกลุ่มอายุ 16-17 ปี พบอุบัติการณ์เกิดในเพศชายและเพศหญิง เป็น 70.2  ราย และ 7.6 ราย ตามลำดับ