ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม

ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม

การ "เปิดประเทศ" ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแบบไม่ต้องกักตัว ท่ามกลาง "คลัสเตอร์ใหม่" "การฉีดวัคซีน" ต่ำกว่าเป้า และตัวเลข "ผู้ติดเชื้อ" แตะหลักหมื่น นับเป็นความท้าทายของประเทศไทยที่จะนำไปสู่ "ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม"

1 พ.ย วันเริ่ม "เปิดประเทศ" นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าไทยได้แบบไม่ต้องกักตัว พร้อมมีผลตรวจยืนยันว่าปลอดภัยจากโควิด ธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร บริการต่างๆ เริ่มคลายล็อกขยับขยายเพิ่มเวลาเปิดให้บริการได้มากขึ้น มติ ศบค.ล่าสุดปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00 น. ถึง 03.00 น. จากเดิม 22.00 น. ถึง 04.00 น. เพิ่มเวลาใช้ชีวิตทำมาหากินได้มากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่ยังมีอยู่ ตัวเลขแต่ละวันยังแตะหลักหมื่น ผู้เสียชีวิตบางวันแตะถึงหลักร้อย

แต่การที่เรามีอาวุธป้องกันชั้นดีอย่าง “วัคซีน” ที่วันนี้ระดมฉีดไปทั่วประเทศได้ในระดับหนึ่ง ชุดตรวจป้องกัน ยาสำหรับรักษา อาจเป็นเหตุผลเพียงพอให้สามารถเปิดประเทศได้ แม้ต้องเผชิญความเสี่ยง เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกตัวไว้ล่วงหน้า ในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (12 ต.ค.) ที่ผ่านมา 

ความเสี่ยงเกิดขึ้นแน่นอน คลัสเตอร์ใหม่ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่ หากมาตรการของรัฐในการรับมือการเปิดประเทศครั้งนี้ไม่ดีพอ เช่น การระดมฉีดวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามแผน การเดินทางของวัคซีนมาไม่ตรงกำหนด

การหย่อนยานบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้กำกับดูแลละเลยมาตรการที่ยังต้องคุมเข้ม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องรับมือให้ได้ ยังไม่นับมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ต้องทำควบคู่ต่อเนื่องให้ครบทุกกลุ่ม กันไม่ให้ธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยล้มหายตายจากไป แผนฟื้นฟูภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ การเรียก "ความเชื่อมั่นการลงทุน" ให้ฟื้นคืนกลับมาจากนี้ต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม 

สิ่งเหล่านี้ต้องสะท้อนมาจากการบริหารจัดการรับมือความเสี่ยงแบบมืออาชีพของรัฐบาล การควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงเปิดประเทศ รวมไปถึงการคัดกรองผู้ติดเชื้อ แยกออกจากคนปกติให้ได้มากที่สุด

วางแผนหาวัคซีนล่วงหน้าให้เพียงพอ ระดมฉีดวัคซีนให้คนหมู่มากเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เช่นเดียวกับความร่วมมือทุกภาคส่วน รัฐ ประชาชน เอกชน ธุรกิจ ต้องมีความเป็นเอกภาพมากที่สุด เพื่อให้การเปิดประเทศครั้งนี้ เป็นการเปิดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างแท้จริง 

บทเรียนที่เราได้จากวิกฤติแต่ละครั้ง ย่อมส่งผลต่อความคิดการหาวิธีปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับทั้งโลก เป็นการ “รีเซ็ต” โลกสู่มิติใหม่ ลบล้างความคิดแบบเดิม และเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงวิถีการทำงาน การเรียนการสอน การพัฒนาอุตสาหกรรม สังคม เศรษฐกิจ ชีวิตแบบเดิมที่เราเคยคุ้นเคยถูกดิสรัปไปทีละนิด สิ่งสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยน ยอมรับ สัมผัสสิ่งใหม่ และอยู่ร่วมกับวิกฤติ หรือปัจจัยท้าทายอื่นที่จะเข้ามาในอนาคตให้ได้อย่างมีชั้นเชิง...