ฤๅ "ไข้หวัดมะเขือเทศ"ในเด็กเล็ก จะเชื่อมโยง "โรคมือเท้าปาก"

ฤๅ "ไข้หวัดมะเขือเทศ"ในเด็กเล็ก จะเชื่อมโยง "โรคมือเท้าปาก"

“ไข้หวัดมะเขือเทศ”ที่พบในเด็กเล็กที่ประเทศอินเดีย น่ากังวลระดับไหน  เมื่อพบมีความเชื่อมโยงกับโรคมือเท้าปาก ซึ่งเรียกได้ว่ามีการระบาดในกลุ่มเด็กเล็กเป็นประจำแทบทุกปี

    เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2565 ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี รศ.(พิเศษ) พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์  กล่าวถึงกรณีโรคไข้หวัดมะเขือเทศ หรือ Tomato Flu ว่า ตอนนี้สถานการณ์โรคยังไม่ชัดเจน ซึ่งทางไทยก็รอข้อมูลจากประเทศอินเดีย เบื้องต้นพบว่าตั้งแต่เดือน พ.ค. - ปลาย ก.ค. ที่อินเดีย มีผู้ป่วยเข้าข่าย 82 ราย แต่มาพบข้อมูลที่ชัดเจนจากการตรวจจำเพาะทำให้สามารถทราบว่า 2 พี่น้องที่เดินทางจากอินเดียไปประเทศอังกฤษ มีประวัติสัมผัสเด็กที่มีผู้ป่วยลักษณะอาการคล้ายกัน ซึ่งผลการตรวจเชื้อไวรัสของเด็ก ทั้ง 2 ราย พบ เป็นเชื้อ คอกแซคกี A16 (Coxsackie A16) ซึ่งเป็นลักษณะของโรคที่แปลกไปจากโรคมือเท้าปาก โดยมีการสันนิฐาน ว่า เชื้อไวรัสโรคไข้หวัดมะเขือเทศ มีลักษณะเชื่อมโยงกับโรคมือเท้าปาก

อาการ เข้าข่ายของโรคไข้หวัดมะเขือเทศเช่น มีไข้ ผื่นขึ้นตามตัว แต่จะมีลักษณะตุ่มที่ใหญ่กว่ามือเท้าปาก ปวดข้อ ข้อบวม โดยตุ่มจะมีลักษณะสีแดงๆ เป็นก้อนนู้นคล้ายลูกมะเขือเทศ  เบื้องต้นพบว่า อาการไม่รุนแรง รักษาหายได้ เป็นการรักษาตามอาการ โดยสถานการณ์ใน รพ.เด็ก จากการคัดกรองผู้ป่วย พบว่า ยังไม่พบเด็กที่ป่วยเข้าข่ายตามข้อบ่งชี้โรคไข้หวัดมะเขือเทศ แต่พบเด็กป่วยด้วยทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบเพิ่มขึ้น รวมไปถึงโรคมือเท้าปาก

   ปัจจัยที่ทำให้ทั่วโลกเฝ้าระวังโรคไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะว่า มีอาการของโรคไข้หวัดมะเขือเทศดูแปลกไปจากโรคมือเท้าปาก เนื่องจากอาการอาจจะสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ เช่น โรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หลังเกิดโรคโควิด-19 พบว่า มีโรคอื่นๆ ที่แปลกไปจากเดิม และมีความเชื่อมโยงกับภูมิคุ้มกันร่างกายที่เปลี่ยนไปเช่น ภาวะมิสซี หรือ ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันในร่างกาย หรือ มีโรคภาวะตับอักเสบรุนแรง ซึ่งคล้ายกับช่วงการระบาดใหญ่ของ ไข้หวัดใหญ่สเปน 1918 หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็จะพบเด็กเป็นโรคตับอักเสบรุนแรงที่อธิบายไม่ได้ ระบาดต่ออีก 2-3 ปี ส่วนในผู้ใหญ่เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สเปน ซากเชื้อจะอยู่ในลำไส้ใหญ่ได้นานอีก 4 เดือน ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายเปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคที่มีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม

     “ในช่วงโควิด-19 เด็กต้องหยุดเรียน ทำให้ต้องอยู่แต่ในบ้านทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเด็กที่ต้องตอบสนองของสภาพแวดล้อมลดลง ประกอบกับหากเด็กได้ติดเชื้อโควิด-19 และมีซากเชื้ออยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน และภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่องอาจจะส่งผลให้การแสดงของโรคจากเดิมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อไป แนะผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน เช่น มีไข้ต่ำ ไม่ยอมทานอาหาร ให้สังเกตตุ่มตามร่างกาย และเด็กอาจจะมีอาการเจ็บและคันตามร่างกาย ให้รีบมาพบแพทย์ เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย รวมถึงเด็กไปโรงเรียนมีการรวมกลุ่มกัน อาจจะติดเชื้อได้ง่าย อย่างไรก็ตามฤดูฝนอากาศชื้นง่ายจะพบเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างและโรคมือเท้าปากจำนวนมาก”รศ.พิเศษ พญ.วารุณี กล่าว

    ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้นที่มี สามารถกล่าวได้ว่าสถานการณ์ของโรคไข้หวัดมะเขือเทศยังไม่น่ากังวล ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศไทย และโรคดังกล่าวเป็นการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด  ซึ่งกระบวนการคัดกรองและรักษาในประเทศก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการรักษาโรคมือ เท้า ปากในเด็ก

         ในปัจจุบันมีทั้งชุดตรวจคัดกรอง ยารักษาในสถานพยาบาลในประเทศทุกระดับ และในช่วงฤดูฝนนี้ อากาศเย็นและชื้น เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองระมัดระวังดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก และบริเวณพื้นที่ที่เด็กอยู่เป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

     ส่วนกรณี โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 สิงหาคม 2565 พบผู้ป่วย 35,074 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุแรกเกิด - 4 ปี (ร้อยละ 81.85) รองลงมาคืออายุ 5 ปี (ร้อยละ 9.38) และอายุ 6 ปี (ร้อยละ 3.75) ตามลำดับ ซึ่งโรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อโดยตรงจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปาก โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ซึ่งจะพบผู้ป่วยมากในกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

หากได้รับเชื้อระยะเริ่มต้นจะมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเป็นเชื้อชนิดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
“ขอเน้นย้ำผู้ปกครองและครูช่วยกันดูแลสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการข้างต้น ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย ควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม” นายแพทย์โอภาส กล่าว

 สำหรับการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้ 1) ผู้ปกครองควรคัดกรองอาการของเด็กก่อนไปเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน 2) ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่นของใช้ จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัสจะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 3) ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น เพื่อลดการสะสมของเชื้อบนฝ่ามือ

4) หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม และ5) สำหรับสถานศึกษาควรจัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร และหากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัว