สปสช.จ่อดึง ‘คลินิกเวชกรรม’ ใน กทม. คาดเริ่ม 1 ต.ค.นี้

สปสช.จ่อดึง ‘คลินิกเวชกรรม’ ใน กทม. คาดเริ่ม 1 ต.ค.นี้

สปสช.จ่อดึง ‘คลินิกเวชกรรม’ ใน กทม. เป็นหน่วยบริการ ‘รับส่งต่อทั่วไป’ เพิ่มการเข้าถึงบริการ-ลดค่าใช้จ่ายประชาชน ตั้งเป้าเปิดบริการ 1 ต.ค. นี้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากการประเมินพบว่าหน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ที่จะรองรับประชาชนในบางพื้นที่ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) สปสช. จึงมีนโยบายเพิ่มคลินิกเวชกรรมเข้ามาเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไปในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้ามารองรับประชาชนที่เกิดเจ็บป่วยเล็กน้อยในบริการแบบผู้ป่วยนอกโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว 

สำหรับคลินิกเวชกรรมในกลุ่มนี้อาจจะเป็นคลินิกที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น เปิดให้บริการแค่ช่วงเย็นเท่านั้น เนื่องจากแพทย์ที่ให้บริการอาจจะติดงานที่โรงพยาบาลในช่วงกลางวัน หรือเป็นคลินิกที่ตรวจแล็บได้ไม่ครบ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาคลินิกเวชกรรมในลักษณะนี้ สปสช. ไม่ได้นำเข้ามาในระบบ เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ครบ เช่น ในคุณสมบัติระบุว่าต้องให้บริการวันละ 8 ชั่วโมง ฯลฯ ทำให้เสียโอกาส ฉะนั้นจึงคิดว่าจะเปิดให้คลินิกเวชกรรมเข้ามารองรับ เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เท่าที่เคยตรวจสอบกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พบว่ามีคลินิกเวชกรรมประมาณ 5,000 แห่ง ทั่ว กทม. เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นคลินิกเสริมความงามก็จะเหลือประมาณกว่า 2,000 แห่งที่เป็นคลินิกทั่วไป ขณะเดียวกันตอนนี้ก็มีคลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 200 แห่ง ซึ่งตั้งเป้าว่าถ้าได้ประมาณ 500 แห่งก็น่าจะเข้ามาช่วยแบ่งเบากรณีที่มีผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการใกล้บ้านได้ โดยพยายามจะดูการกระจายตัว หรือความหนาแน่นในบางพื้นที่ 

“เชื่อว่าคลินิกฯ ที่มีอยู่เพียงพอ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาคลินิกฯ อาจจะไม่สนใจ และในอีกส่วนหนึ่งกติกาไม่เอื้อให้เข้ามาในระบบ ซึ่งเราก็จะมีการปรับกติกาให้เอื้อมากขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์ในการเข้าร่วมกับ สปสช.ก็ไม่ยาก หากคลินิกเวชกรรมได้ขึ้นทะเบียนกับ สบส.แล้ว ก็สามารถสมัครเข้ามาได้ เพราะคลิกนิกเวชกรรมที่ถูกกฎหมายนั้นมี พ.ร.บ.สถานพยาบาลรองรับอยู่แล้ว ส่วนเรื่องระบบการจ่ายนั้นจะเป็นการจ่ายค่าบริการแบบรายรายการ หรือ Fee schedule ซึ่งเป็นการจ่ายเมื่อเกิดบริการที่ในขณะนี้มีอยู่ประมาณ 4,000 รายการในระบบ โดย สปสช.ได้ปรับปรุงระบบการบันทึกและจ่ายเงินที่เป็นปัจจุบัน(Real time) ซึ่งในส่วนนี้จะมีโปรแกรมฟรีให้กับคลินิกด้วย รวมไปถึงมีระบบการพิสูจน์ตัวตน และมีระบบส่งข้อมูลรายการที่ให้บริการ ฉะนั้นการเบิกจะไม่เป็นอุปสรรคเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม การเปิดรับคลินิกเวชกรรมเข้ามาเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไปนั้น ตั้งใจให้เริ่มบริการได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่ ซึ่งขณะนี้จะมีการเสนอรายละเอียดให้กับคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) กทม.และหลังจากนั้นจะเริ่มประกาศผ่านสื่อเพื่อให้มีหน่วยบริการเข้ามาเสริมกลไกดังกล่าว ตั้งเป้าว่าวันที่ 1 ต.ค. จะเริ่มเปิดตัว และคาดว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถเปิดรับสมัครได้ 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือประชาชนในกรณีที่เจ็บป่วยเล็กน้อยจะได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้านมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เพราะไม่ต้องเดินทางไกล ซึ่งตรงนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการยกระดับบริการปฐมภูมิใน กทม. นอกเหนือจากรูปแบบใหม่ๆ ฉะนั้นหน่วยบริการรับส่งต่อจะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่เข้ามายกระดับบริการปฐมภูมิใน กทม. ซึ่งในอนาคตก็อาจะมีการขยายไปที่หัวเมืองใหญ่ๆ ต่อไป 

“ถ้าท่านเป็นคลินิกฯ ที่ไม่ครบกติกาของการเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยบริการประจำ ท่านอาจจะเปิดตอนเย็นบ้างช่วงหลังจากปฏิบัติราชการแล้ว เราก็เชิญชวนให้คลินิกฯ ในลักษณะนี้เข้ามาเป็นหน่วยรับส่งต่อ เพื่อให้บริการกับพี่น้องประชาชนที่อาจจะอยู่ใกล้บ้าน หรือสะดวกเดินทางมาที่ท่าน และท่านก็สามารถมาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับ สปสช. ได้ ซึ่งตอนนี้เราพัฒนาระบบการจ่ายอย่างรวดเร็วแล้ว เชื่อว่าถ้าท่านตกลงในราคาที่เราจะจ่ายในลักษณะ Fee schedule หรือการจ่ายตามรายการและราคาที่กำหนด ไม่เกิน 2-3 วันเราก็จ่ายเงินได้” นพ.จเด็จ กล่าว 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand