รู้จัก“ศูนย์ACPHEED” ไทยได้รับเลือกเป็นที่ตั้งหลังรับมือโควิด19

รู้จัก“ศูนย์ACPHEED” ไทยได้รับเลือกเป็นที่ตั้งหลังรับมือโควิด19

หลังประเทศไทยรับมือกับสถานการณ์โควิด19 ทำให้ได้รับเลือกจากประเทศอาเซียน ให้เป็นที่กตั้งของ สำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ( ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) 

   ก่อนหน้านี้ การเจรจาเพื่อเลือกประเทศที่ตั้งของศูนย์ ACPHEED  ไม่ได้ข้อสรุปมานานกว่า2 ปี โดยมีประเทศที่เสนอตัวเช่นเดียวกับประเทศไทย คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม  โดยไทย ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 6 ประเทศ อินโดนีเซียก็ได้รับเสียงสนุบสนุนจาก 6 ประเทศเท่ากัน ขณะที่ประเทศเวียดนามได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศลาวเพียงประเทศเดียว

     แต่หลังจากที่ประเทศไทยได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคโควิด19

       ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 15 (15th ASEAN Health Ministers Meeting) ณ โรงแรม Conrad เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียนั้น   ประเทศสมาชิกอาเซียนให้การสนับสนุนประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) โดยจะทำการเปิดสำนักงานฯ ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างมาก

      ที่สำคัญที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนได้สั่งการให้ข้าราชการประจำระดับสูง (Senior Official Meeting on Health Development, SOMHD) จัดทำข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ (Established Agreement) ให้เริ่มการประชุมครั้งแรกในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 และให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

     นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญของอาเซียน รวมถึงทีมสาธารณสุขไทยที่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยมีบทบาทนำในการจัดตั้ง ACPHEED ได้สำเร็จ

        นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในระหว่างการ การประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 ( APEC Health Week )ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจาก 7 ประเทศอาเซียนเข้าร่วมด้วยนั้น จะมีการเชิญเข้าร่วมการเปิดศูนย์ ACPHEED อย่างไม่เป็นทางการ ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขอีก 3 ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมเอเปค  คือ  ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา  ก็จะเดินทางมาร่วมการเปิดศูนย์นี้เช่นกัน  โดยศูนย์นี้จัดตั้งที่อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค ถนนสาทร

      สำหรับศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases:  ACPHEED) จะมีภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างขีดสมรรถนะของภูมิภาคอาเซียนในการเตรียมความพร้อม การป้องกัน ตรวจจับ และตอบโต้ต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ในสถานะที่เป็นศูนย์ความเป็นเลิศและเป็นศูนย์รวมทรัพยากรบุคคลของภูมิภาค

       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563  คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติกรอบการเจรจาและข้อเสนอของไทยเพื่อจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขฯ เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยจากภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ให้กับประชาคมอาเซียนโดยเน้นขีดความสามารถ พร้อมรับ ตรวจจับ และตอบโต้

        งบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของAPHEED จะอยู่ที่ปีละประมาณ 12-15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหากให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจะใช้งบประมาณ 28-33 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี โดยใน 5 ปีแรกของการจัดตั้งAPHEED จะต้องมีการตั้งงบลงทุนประมาณ 14-17 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

         ในส่วนงบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของAPHEED ซึ่งในปีแรกคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและจากกลไกการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน ที่เหลือจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ

      หลังประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้งAPHEED จะได้มีส่วนร่วมสำคัญในการพิจารณากำหนดกรอบการดำเนินการของAPHEED นำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือทั้งด้านวิชาการและการดำเนินการป้องกันโรคร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนและความร่วมมือจากประเทศอื่น

      ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย  คือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยที่ให้การสนับสนุนในการคัดกรองและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การตรวจรักษา และการควบคุมโรคระบาดในกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของไทย และประเทศสมาชิกอาเซียน จะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจร่วมกันของอาเซียนและจากประเทศในภูมิภาคอื่นทั่วโลก รวมทั้งยังช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้มีความยั่งยืน