"30บาทรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล รับบริการสะดวก

"30บาทรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล รับบริการสะดวก

ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กทม. ชี้นโยบาย "ยกระดับบัตรทอง" 30 บาทรักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ เป็นผลดีกับประชาชนในพื้นที่รอยต่อปริมณฑลที่ทำงานใน กทม. ช่วยให้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยได้สะดวก ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวหรือกลับไปรับบริการในพื้นที่ตัวเอง

ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการ ยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 แก่ประประชาชนโดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่า นโยบายนี้ถือเป็นการทลายกำแพงการเข้าถึงบริการของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

 

ทำให้ผู้ที่เดินทางไปทำธุระ ท่องเที่ยว หรือทำงานในต่างพื้นที่แล้วมีเหตุจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล เช่น เจ็บป่วยกระทันหัน ต้องทานยาต่อเนื่องแล้วยาหมดพอดี หรือปวดฟัน เหงือกบวม ต้องพบทันตแพทย์ ฯลฯ สามารถเข้าไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่อยู่ในเครือข่ายของ สปสช. ได้เลย โดยไม่จำกัดว่าต้องมีใบส่งตัวหรือต้องเดินทางกลับไปรับบริการในพื้นที่ที่ตัวเองลงทะเบียนไว้

 

"30บาทรักษาทุกที่" ทลายกำแพงบริการ

ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม. มีการเปิดให้ผู้ใช้ สิทธิบัตรทอง สามารถเข้าไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิในลักษณะข้ามเขตได้ตั้งแต่ปี 2564 แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2563 มีกรณีการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการที่มีความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงินค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนจึงอนุโลมให้ผู้ที่หน่วยบริการประจำของตัวเองถูกยกเลิกสัญญา สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ จากนั้นเมื่อมีการรับสมัครหน่วยบริการใหม่ ก็ถือโอกาสจัดระบบบริการแบบใหม่โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นหน่วยบริการประจำให้แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม.

 

"30บาทรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล รับบริการสะดวก

เบิกจ่ายตามรายการกว่า 3,000 รายการ

ส่วนหน่วยบริการที่ทำสัญญากับ สปสช. ชุดใหม่ จะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้หน่วยบริการประจำ ในลักษณะเป็นเครือข่ายหรือพวงบริการในเขตนั้นๆ ประกอบกับขณะนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ 2564 และอยู่ระหว่างเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิชุดใหม่ บางพื้นที่มีหน่วยบริการน้อยแต่จำนวนประชากรมาก ถ้ารอรับบริการเฉพาะในพื้นที่นั้นก็อาจติดขัด

 

เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจึงเกิด Model 5 คือ ให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย สปสช. ที่ไหนก็ได้ โดยเบิกจ่ายตามรายการบริการ หรือ fee schedule กว่า 3,000 รายการ

 

"จะเห็นว่าในพื้นที่ กทม. เรานำร่องดำเนินการอยู่แล้ว พอปีใหม่ 2565 มีนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศออกมา สิ่งที่ขยายขอบเขตคือจากเดิมที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองไปรับบริการในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิของตนเองใน กทม. ก็ปรับเป็นรับบริการข้ามเขตสุขภาพได้ เช่น ประชาชนจากเขตใกล้เคียงอย่าง สระบุรี ราชบุรี ระยอง ถ้าเข้ามาใน กทม. แล้วเจ็บป่วย ก็มาเข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว"

 

"แบบนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนจากเขตอื่นๆ ตามรอยต่อของปริมณฑล เพราะจะมีบางส่วนที่ทำงานใน กทม. เช้านั่งรถมาทำงาน เย็นนั่งรถกลับ กว่าจะถึงบ้านก็มืดแล้ว รพ.สต.ปิดแล้ว แต่พอมีนโยบายนี้ก็สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการใน กทม. ได้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมาได้ 3 เดือนยังอยู่ระหว่างเก็บตัวเลขสถิติข้อมูล แต่เท่าที่มีในปัจจุบันยังไม่มีการร้องเรียนใดๆ" ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าว

 

"30บาทรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล รับบริการสะดวก

ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับบริการนั้น ตั้งแต่ปี 2564 สปสช.เขต 13 ได้จัดทำตัวชี้วัดเพื่อดูว่ามีโอกาสที่คนไข้จะไป shopping around หรือไปรับบริการไปทั่ว ไปคลินิกนั้นทีคลินิกนี้ทีหรือไม่ อย่างไรก็ดี พบว่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการชุดเก่าในปี 2563 แล้ว ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในการรับบริการนอกเครือข่ายหน่วยบริการหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับบริการของประชาชน

 

โรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็ไม่ได้มีคนไปรับบริการมากขนาดนั้น แต่ก็ต้องติดตามดูในระยะยาวด้วยเนื่องจาก 2 ปีมานี้เกิดการระบาดของโควิด-19 จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่เห็นภาพการไปรับบริการในสถานการณ์ปกติได้ ต้องดูว่าเมื่อสถานการณ์การระบาดสงบลงแล้วทิศทางพฤติกรรมการรับบริการจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

ทั้งนี้ปัจจุบันในพื้นที่ สปสช.เขต 13 กทม. มีหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งประกอบด้วยศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น หน่วยบริการปฐมภูมิในโรงพยาบาลใหญ่ๆ มีประมาณ 300 แห่ง แต่ยังมีหน่วยร่วมบริการ เช่น หน่วยร่วมบริการด้านเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกพยาบาลและผดุงครรภ์ และร้านยา จะมีเพิ่มขึ้นอีก 600 กว่าแห่ง เฉพาะร้านยามี 488 แห่ง คลินิกเวชกรรม 102 แห่ง คลินิกทันตกรรม 28 แห่ง

 

โดยรวมระบบบริการมีหน่วยบริการกว่า 955 แห่ง หากเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ลงทะเบียนกับ สปสช. กทม. จะรู้ว่าหน่วยบริการปฐมภูมิของตัวเองอยู่ที่ไหน หน่วยบริการประจำอยู่ที่ไหน หน่วยบริการรับส่งต่ออยู่ที่ไหน และมีความคุ้นเคยกับคลินิกชุมชนอบอุ่นซึ่งจะมีจะมีป้ายสัญลักษณ์ สปสช. เพราะฉะนั้นถ้าเคยใช้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่นมาก่อน ผู้ใช้สิทธิจะรู้อยู่แล้วว่าถ้าเห็นป้ายสัญลักษณ์แบบนี้ก็สามารถเข้าไปรับบริการได้เลย

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของประชาชนที่อาจจะมาจากพื้นที่อื่นๆ สปสช.เขต 13 กทม. จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นระยะๆ รวมทั้งจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์หน่วยร่วมให้บริการ เช่น หน่วยร่วมบริการด้านเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านยา ให้มากขึ้น แต่ให้สังเกตง่ายๆ คือหน่วยบริการที่มีป้ายคำว่าชุมชนอบอุ่นต่อท้ายก็เข้าไปรับบริการได้

 

สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

"30บาทรักษาทุกที่" ช่วยผู้ป่วยรอยต่อ กทม.-ปริมณฑล รับบริการสะดวก