สองทศวรรษลูกโลกสีเขียว กับเส้นทางการสร้าง “พลังเปลี่ยนโลก”

สองทศวรรษลูกโลกสีเขียว กับเส้นทางการสร้าง “พลังเปลี่ยนโลก”

 

ตลอดยี่สิบปีของการดำเนินงาน “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในกำลังที่ช่วยยกย่อง เชิดชูผู้ที่ทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสาขาต่างๆ รวมถึงเผยแพร่คุณค่าผลงานให้เป็นที่รับรู้ต่อสังคมและสื่อสารสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ ยังทำให้สังคมมีแบบอย่างนักปฏิบัติที่ดีและที่เป็นเลิศ (Good Practice, Best Practice) กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ที่มาของ รางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นโครงการต่อเนื่อง จากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ปตท. ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ด้วยความร่วมมือของผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนและให้กำลังใจ แก่ผลงานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของบุคคลและกลุ่มบุคคล ที่ทำด้วยแรงกาย แรงใจ และด้วยความมุ่งมั่น เป็นความดีที่สมควรได้รับการยกย่องและเผยแพร่เป็นแบบอย่างต่อไป โดยได้มีการจัดมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวขึ้นต่อเนื่องทุกปี นับจากปีแรกจนถึงปัจจุบัน มีผู้รับรางวัลและขยายผลการเรียนรู้ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 700 รางวัล

ปีนี้ รางวัลลูกโลกสีเขียว เดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 20ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญแห่งการเติบโตเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และขยายเครือข่ายแห่งการอนุรักษ์ออกไปมากขึ้นกว่าเดิม

สองทศวรรษลูกโลกสีเขียว กับเส้นทางการสร้าง “พลังเปลี่ยนโลก”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียวเอ่ยว่าจากการที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างในระดับต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมารองรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เหล่านี้ทำให้สถาบันลูกโลกสีเขียวตระหนักว่า “การปลูกป่าในใจคน” อย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการอยู่รอด จำเป็นต้องหนุนเสริมความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเครือข่าย มีความสามารถในการปรับตัวมีการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการที่ธรรมชาติโหดร้ายขึ้น ในแต่ละปี

สองทศวรรษลูกโลกสีเขียว กับเส้นทางการสร้าง “พลังเปลี่ยนโลก”

ดังนั้นก้าวต่อไป ในด้านการยกย่องผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว จะต้องมีการปรับเกณฑ์การพิจารณาผลงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อาทิ การทำงานของชุมชนเมืองที่ไม่มีพื้นที่ป่า แต่สามารถสร้างเครือข่ายทำให้เกิดพื้นที่ป่าใหม่ๆ หรือชุมชนที่ไม่สามารถขยายพื้นที่ป่า แต่ยังคงสร้างนวัตกรรมในการบริหารจัดการที่เป็นความรู้ใหม่อย่างไม่หยุดนิ่ง การทำงานของกลุ่มเยาวชนที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในบทบาทของ “ยุวทูตสีเขียว” เครือข่ายครูสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดงานเขียนสีเขียวรูปแบบใหม่ๆ ที่ส่งพลังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย

สองทศวรรษลูกโลกสีเขียว กับเส้นทางการสร้าง “พลังเปลี่ยนโลก”

“ระยะเวลายี่สิบปีนั้นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาพวกเราอยู่แล้วถึงวิธีการทำงาน ในการพยายามแสวงหาตัวอย่างความสำเร็จของกลุ่มคนหรือตัวบุคคลที่สามารถรักษาความเขียวหรืออนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นการสานต่อแนวทางการอนุรักษ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมุ่งหวังไว้ ในการที่จะฟื้นฟูดูและอนุรักษ์ป่าที่พระองค์ท่านได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี”

ดร.สุเมธกล่าวต่อว่า ในการจัดงานดังกล่าว จึงไม่ใช่หวังผลเพียงแค่การได้รับรางวัล แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้คนไทยทุกคนจะได้รับองค์ความรู้และแนวทางในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลสิ่งแวดล้อมจากการปฏิบัติจริงของหลากหลายพื้นที่ ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบหรือนำไปประยุกต์ใช้ต่อในพื้นที่อื่นๆ อีกมากมาย

“ที่ผ่านมาเราอาจไม่รู้ว่าตัวอย่างความสำเร็จเหล่านี้ที่มีอยู่ทั่วแผ่นดิน อยู่ที่ไหนบ้าง แต่เมื่อมีโครงการรางวัลลูกโลกสีเขียว เขาจึงได้ออกมาแสดงตัวกับเรา ซึ่งตลอดยี่สิบปีก็ถือว่าได้รับความสำเร็จเพราะมีผลงานที่เข้ามาในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก”

โลกสีเขียววันนี้กับวันแรกแตกต่างกันเพราะนอกเหนือจากตัวอย่างความสำเร็จเหล่านี้แล้ว ยังมีบทเรียนที่แทรกอยู่ด้วยว่าพวกเขาทำสำเร็จเพราะอะไร เพราะความสามัคคีในชุมชน การมีปราชญ์ชุมชน การปรับให้สภาพแวดล้อมกลับคืนมา ทำให้เรายังได้อะไรหลายอย่างที่ นำมาถอดบทเรียนได้อีกมากมายตั้งแต่ริมฝั่งชายทะเล พื้นที่ราบ ไปจนถึงบนเขา หรือการพัฒนาพื้นที่ป่าในเมือง”

รวมถึงมีการจัดการความรู้และสร้างช่องทางการเผยแพร่สู่เครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้เกิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนที่ต่างจากศูนย์เรียนทั่วไปที่เน้นการมาศึกษาดูงานนั้นๆ แต่ศูนย์เรียนรู้ลูกโลกสีเขียวจะเน้นการเรีบรู้เชิงปฏิบัติการ และถอดบเรียนของผู้มาเรียนรู้ร่วมกันกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่

แต่นอกจากการยกย่องผลงานโดยมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวที่ผ่านมาสถาบันลูกโลกสีเขียวยังหนุนเสริมความเข้มแข็งผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ เวทีเครือข่ายลูกโลกสีเขียวเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันทั้งในระดับภาคและส่วนกลาง กิจกรรม “เพื่อลูกโลกสีเขียว” เพื่อเสริมพลังและงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมความรู้ใหม่ เน้นการมีส่วนร่วมให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นทีมวิจัย ไม่เน้นความเป็นวิชาการที่เคร่งครัด แต่ใช้การสื่อสารที่เข้าใจง่ายและการปฏิบัติที่ทำให้เข้าใจ เกิดการเรียนรู้ ใช้งานได้จริง

สองทศวรรษลูกโลกสีเขียว กับเส้นทางการสร้าง “พลังเปลี่ยนโลก”

พร้อมกันนี้ จากสถานการณ์การลักลอบตัดไม้ ค้าไม้ ค้าสัตว์ป่าโดยส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ยังนำไปสู่การขยายพื้นที่การทำงานอนุรักษ์แบบ “ข้ามพรมแดน” โดยสถาบันลูกโลกสีเขียวยังมีแนวคิดในการเชื่อมโยงงานอนุรักษ์ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในกรอบประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดต่อไป

“ระยะเวลายี่สิบปี มีถึงเจ็ดร้อยกว่าแห่ง มันเริ่มมีสัญญาณที่ดี จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้โลกทุนนิยม หน่วยงานเอกชนต่างๆ เองก็มีจิตสำนึกมากขึ้น อีกทั้งเริ่มมีกติกาสังคมเกิดขึ้นในเรื่องนี้ ไปจนถึงระดับโลกอย่างองค์การสหประชาชาติที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Develop Goals)” ดร.สุเมธกล่าว

สองทศวรรษลูกโลกสีเขียว กับเส้นทางการสร้าง “พลังเปลี่ยนโลก”

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 ในปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 38 ผลงาน จาก 7 ประเภทผลงาน ได้แก่ประเภทชุมชน ประเภทบุคคล ประเภทกลุ่มเยาวชน ประเภท “สิปปนนท์ เกตุทัต” รางวัลแห่งความยั่งยืน ประเภทงานเขียน ประเภทความเรียงเยาวชน และประเภทสื่อมวลชน

เนื่องในวาระครบรอบยี่สิบปีครั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลฯ นิทรรศการ “สองทศวรรษรางวัลลูกโลกสีเขียว” ภายใต้แนวคิด “#พลังเปลี่ยนโลก” เพื่อแสดงเส้นทางการเติบโตของ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ควบคู่กับการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชน สะท้อนผ่าน “ต้นแบบ” ที่ได้รับรางวัลที่ได้รับรางวัลฯ จำนวนมากกว่า 700 ผลงาน นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา ห้องอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเยาวชน และลานกิจกรรมภาค ตลอดจนการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากเครือข่ายลูกโลกสีเขียวต่างๆ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าชุมชนที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยงานลูกโลกสีเขียวครั้งนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 27-28 สิงหาคม 2561 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. กรุงเทพฯ