แหล่งเอราวัณ จุดเปลี่ยนสู่ความมั่นคงทางพลังงานของไทย

แหล่งเอราวัณ จุดเปลี่ยนสู่ความมั่นคงทางพลังงานของไทย

 

ขณะนี้ รัฐบาลกำลังประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมประมูลสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในสองแหล่งปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยคือเอราวัณและบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งดังกล่าว จากระบบสัมปทาน เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการซื้อขายก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซฯ นี้อย่างใกล้ชิด และแบ่งปันผลกำไรระหว่างกันนับเป็นเรื่องที่น่าจับตามองยิ่งเพราะมีผลต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศโดยตรง

แหล่งเอราวัณ ซึ่งมีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน คือแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ความสำเร็จของการเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติที่เอราวัณเมื่อกว่า 36 ปีที่แล้ว นับเป็นจุดเปลี่ยนสู่ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยโดยก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตสำคัญแห่งนี้นอกจากจะถูกนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้ทุกคนได้ใช้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นยังนำไปเป็นวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งยังเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจอีกหลายแขนงที่ต่อยอดมาจากก๊าซธรรมชาติ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนไทยและประเทศไทยเปิดศักราชการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเจริญให้รุดหน้า สู่ความโชติช่วงชัชวาล

เปลี่ยนความท้าทายสู่ความโชติช่วงชัชวาล

อย่างไรก็ตาม การสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เห็นได้จากต้องใช้ระยะเวลาในการสำรวจขุดค้นหาแหล่งก๊าซฯ นับจากได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมแปลงในอ่าวไทยในปี 2511 เป็นเวลาถึง 5 ปี กว่าจะเจอก๊าซฯ ครั้งแรกในปี 2516 และต้องใช้เวลาอีก 8 ปี กว่าจะสามารถผลิตและซื้อขายในเชิงพาณิชย์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2524  โดยต้องมีการวางท่อก๊าซธรรมชาติใต้น้ำยาว 425 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในโลกขณะนั้น เพื่อส่งก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณเข้าสู่โรงแยกก๊าซที่จังหวัดระยอง

ต่อมา เมื่อเริ่มกระบวนการผลิตไประยะหนึ่งแล้ว จากเดิมที่คาดหวังว่าแหล่งกักเก็บก๊าซธรรมชาติแห่งนี้ จะต่อเนื่องกันเป็นแอ่งขนาดใหญ่ กลับพบว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณมีน้อยกว่าที่คาดคะเนไว้ และโครงสร้างแหล่งกักเก็บก๊าซมีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ จำนวนมาก อยู่กระจัดกระจายกันไป อันเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของชั้นหินใต้พื้นพิภพ ดังนั้น จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาแหล่งเอราวัณ ให้เหมาะสมกับลักษณะธรณีวิทยาของอ่าวไทยดังกล่าว ด้วยวิธีการติดตั้งเป็นแท่นหลุมผลิตก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก กระจายออกไปในตามตำแหน่งของหลุมหรือกระเปาะกักเก็บก๊าซฯ ทั้งหลายนั้น แล้วส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อใต้น้ำ มารวมกันยังแท่นผลิตกลาง ซึ่งนับว่าไม่ง่ายเลยที่จะนำทรัพยากรก๊าซธรรมชาติที่มีค่านี้ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เชฟรอนประเทศไทย ผู้ดำเนินการในแหล่งเอราวัณ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี ฝึกอบรมบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ และนำประสบการณ์จากการดำเนินการในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดปัญหาและความเสี่ยงในการสำรวจและขุดเจาะ ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานลง แต่ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างเช่นในอดีตนั้น การจะขุดเจาะหลุมเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 1 หลุมที่ระดับความลึก 3-4 กิโลเมตร ใต้พื้นทะเล จะต้องใช้เวลากว่า 60 วัน และใช้งบประมาณกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อหลุม ซ้ำยังมีความเสี่ยงว่าหากขุดไปแล้ว พบปริมาณน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในระดับที่ไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ก็ถือว่าการลงทุนนั้นสูญเปล่า แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยบวกกับประสบการณ์ที่มีอย่างยาวนาน ช่วยให้ลดขั้นตอนการขุดเจาะเหลือเพียง 4-5 วันต่อ 1 หลุม และใช้งบประมาณน้อยลงกว่าเดิมมากซึ่งในแต่ละปีเชฟรอนจะเจาะหลุมจำนวนมากประมาณ 300-400 หลุม ตามความจำเป็นจากโครงสร้างของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่เป็นกระเปาะเล็กๆ กระจัดกระจายและมีความสลับซับซ้อนค่อนข้างมากดังที่กล่าว

ขณะที่ในปัจจุบันเชฟรอนมีแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ แท่นผลิตน้ำมันดิบ แท่นที่พักอาศัยของพนักงานที่ปฏิบัติการนอกฝั่ง ประมาณ 316 แท่นการจ้างงานพนักงานคนไทยถึง 96% ของจำนวนทั้งหมดกว่า 1,500 คน และมีพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมา ประมาณ 1,100 คน สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 1,809 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 65,353 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ 60,352 บาร์เรลต่อวัน (ข้อมูลเดือนมีนาคม 2561) และสร้างรายได้ให้ประเทศในรูปของค่าภาคหลวงมากกว่า 455,785 ล้านบาท (นับตั้งแต่เริ่มผลิตในปี 2524-2560) ตลอดจนส่งเสริมการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกด้วย

เวลานี้ที่รัฐบาลกำลังเตรียมการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ที่กำลังจะสิ้นสุดอายุในปี 2565-2566 ซึ่งเชฟรอนประเทศไทยผู้รับสัมปทานเดิมในแหล่งเอราวัณได้ประกาศความพร้อมเข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน โดยแม้ว่าขณะนี้ปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งดังกล่าวจะมีความท้าทายจากปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ลดน้อยลง แต่ก็ประกาศชัดเจนว่าจะมุ่งมั่นพัฒนาการปฎิบัติงานทุกขั้นตอนเพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลง ตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซในประเทศ ลดการนำเข้าพลังงาน สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับคนไทยและช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป