ภาวะหัวใจเต้นระริก ภัยร้ายที่ไม่ควรละเลย

ภาวะหัวใจเต้นระริก ภัยร้ายที่ไม่ควรละเลย

 

หัวใจเต้นรัวหรือเต้นเร็วจนรู้สึกได้ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ รู้สึกเหนื่อยง่าย สัญญาณเตือนโรคหัวใจห้องบนเต้นระริก ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ภาวะนี้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองขาดเลือดได้ถึง 5 เท่ารวมทั้งเพิ่มโอกาสเป็นโรคหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก ( Atrial Fibrillation ) หรือ AF เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ อุบัติการณ์การเกิดพบร้อยละ1-2 ในประชาชนทั่วไป แต่โรคนี้จะพบบ่อยขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอายุ80-90 ปีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ5-15 สิ่งที่สำคัญคือ คนที่เป็นโรคนี้เพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคสมองขาดเลือดได้ถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไปและเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจล้มเหลวนอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตด้วย

พญ.ชาร์มิลา เสรี อายุรแพทย์โรคหัวใจ  โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อธิบายว่า ภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกหรือ “AF” คือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่ง โดยทั่วไป การทำงานของหัวใจจะควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า ในภาวะปกติหัวใจห้องบนและห้องล่างจะทำงานสัมพันธ์กัน แต่ในAF หัวใจห้องบนจะมีวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติ กระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ทำให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนเสียไป เลือดจึงหมุนวนตกค้างอยู่ในหัวใจห้องบนจนก่อให้เกิดลิ่มเลือดได้ ซึ่งสามารถหลุดออกจากหัวใจไปอุดกั้นหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือดซึ่งผู้ป่วยจะเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตฉับพลันได้               

พญ.ชาร์มิลา  ระบุว่า  สาเหตุของภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก แบ่งออกเป็น 3  กลุ่ม กลุ่มแรก เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น คนไข้เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

กลุ่มที่สองเกิดจากโรคในระบบอื่นๆ เช่น คนไข้เป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษโรคปอดเรื้อรังภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและภาวะหลังการผ่าตัดและกลุ่มที่สาม ไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

คนที่เป็นโรคนี้กว่าครึ่งจะไม่มีอาการ  อาการที่พบได้ เช่น อาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายเวลาที่ออกแรงทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เวียนศรีษะหากโชคร้ายจะมาด้วยผลแทรกซ้อน เช่น เป็นอัมพาตจากโรคสมองขาดเลือดหรือภาวะหัวใจล้มเหลว

ในการตรวจเบื้องต้น พญ.ชาร์มิลา  แนะนำให้ตรวจชีพจรด้วยตนเอง โดยให้คนไข้หงายข้อมือข้างที่ไม่ถนัดขึ้น คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือข้างที่ถนัดมาสัมผัสร่องบริเวณใต้ข้อมือด้านฐานของนิ้วโป้ง จะคลำพบชีพจรเต้น หัวใจเต้น 1 ครั้ง...เท่ากับชีพจรเต้น 1 ครั้งในภาวะปกติความรู้สึกที่เราได้จากการสัมผัสจะชัดเจนและสม่ำเสมอ แต่คนที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริกชีพจรจะไม่สม่ำเสมอทั้งความแรงและจังหวะความถี่ห่างไม่เท่ากัน  หากสังเกตเห็นลักษณะที่ผิดปกติให้รีบมาปรึกษาแพทย์

โดยแพทย์จะทำการประมวลจากประวัติการตรวจร่างกาย และยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography)หรือ ECG หากตรวจพบว่ามีภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก แพทย์จะแนะนำให้ตรวจดูโครงสร้างหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) และตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไป    

วัตถุประสงค์หลักในการรักษาภาวะหัวใจห้องบนเต้นระริก คือการรักษาอาการและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน สำหรับแนวทางการรักษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นการควบคุมอัตราการเต้นหัวใจ เป็นการให้ยาเพื่อควบคุมไม่ให้หัวใจห้องล่างเต้นเร็วเกินไป เพื่อบรรเทาอาการผู้ป่วย กลุ่มที่สองเป็นการควบคุมจังหวะที่ผิดปกติ ให้เป็นปกติ ซึ่งกลุ่มนี้มี 2ทางเลือกอย่างแรกคือการรักษาด้วยยา  อย่างที่สองเป็นการจี้รักษา คือการใส่สายเข้าไปที่หัวใจห้องบนเพื่อตัดวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation) หรือการใช้ความเย็นจัด (Cryoballoon Ablation)และที่สำคัญคือการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตด้วยการรับประทานยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด หรือเรียกว่า ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

แนวทางการป้องกันโรคโดยตรงนั้นไม่มีแต่สิ่งที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็คือ คนไข้ควรจะใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองสม่ำเสมอ  ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อทราบถึงปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดของตนเอง พร้อมปรับพฤติกรรมด้วยการออกกำลังกายอย่างน้อย5วันต่อสัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ30นาที รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและควบคุมน้ำหนักให้พอเหมาะ งดการสูบบุหรี่  ควบคุมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  หากเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ควรจะควบคุมให้ดี เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

เนื่องในวันที่ 30 กันยายน เป็นวันหัวใจเต้นระริกสากล หรือ AF DAY (Atrial Fibrillation Awareness Day) จึงอยากให้ทุกคนใส่ใจในการตรวจสุขภาพประจำปี เนื่องจากโรคหัวใจเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย และเมื่อมีอาการ ควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ดูแลหัวใจของคุณให้ดี เพราะคุณมีหัวใจดวงเดียว