ไทยร่วมเวทียูเอ็น – ชงยุทธศาสตร์ “เสริมแกร่งกระบวนการ ยธ. รับมือโควิด”

ไทยร่วมเวทียูเอ็น – ชงยุทธศาสตร์ “เสริมแกร่งกระบวนการ ยธ. รับมือโควิด”

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤติที่ทำให้หลายๆ ปัญหาที่เคยถูกซุกไว้ใต้พรม หรือเกิดขึ้นมานาน จนกลายเป็นความเคยชินไปแล้ว ปรากฏอาการออกมาอย่างชัดแจ้งและร้ายแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม

อย่างเช่น ปัญหานักโทษล้นคุก ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ซึ่งพูดกันมาเนิ่นนาน และประเทศไทยก็เผชิญกับปัญหานี้ในระดับต้นๆ ของโลกด้วย แต่การจัดการปัญหากลับเป็นไปอย่างล่าช้า ปรากฏว่าเมื่อโควิดมา ทำให้ปัญหานี้ยิ่งเด่นชัด รุนแรง ถึงขั้นที่ว่า “ไม่จัดการทันที ไม่ได้อีกต่อไป” ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่เจอโควิดบุกเรือนจำ

เหตุนี้เอง หากมองในอีกมุมหนึ่ง วิกฤติโควิด-19 แม้จะร้ายแรง แต่ก็สามารถพลิกให้เป็น “โอกาส” ในการ “ปฏิรูป” หรือ “ยกเครื่องครั้งใหญ่” เพื่อแก้ไขปัญหาหลายๆ ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมได้เช่นกัน 

นอกจากปัญหานักโทษล้นคุกแล้ว ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรราม, อาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นสูงมากในยุคที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน และจำกัดการเดินทางติดต่อ พบปะ สังสรรค์
เช่น อาชญากรรมไซเบอร์ รวมไปถึงคดีความรุนแรงในครอบครัวที่พุ่งสูง เป็นต้น

เมื่อโลกทั้งโลกต้องเผชิญวิกฤติใหม่ร่วมกัน การมีเวทีสำหรับพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในประเด็นของการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เท่าทันกับพลวัตของปัญหา มีเวที
ของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ (United Nations Commission on Crime Prevention and Criminal Justice) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ รองรับการขับเคลื่อนในเรื่องนี้

CCPCJ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 และจัดประชุมทุกปี เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลในการพัฒนากลยุทธ์ระดับชาติและระดับสากล ทั้งยังเปิดให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบงานยุติธรรม รวมถึงการป้องกันอาชญากรรม ผ่านการเสนอร่างข้อมติ หรือ Resolution ด้วย

ปีนี้ก็เช่นกัน การประชุม CCPCJ จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. ซึ่งนับเป็นสมัยที่ 30 และถือเป็นการประชุมครั้งแรกในระหว่างสถานการณ์โควิด ทำให้หลายประเทศนำเสนอนโยบายที่จะช่วยป้องกันอาชญากรรม
ให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

ไทยร่วมเวทียูเอ็น – ชงยุทธศาสตร์ “เสริมแกร่งกระบวนการ ยธ. รับมือโควิด”

สำหรับไทย หน่วยงานหลักที่เข้าร่วมประชุม คือ หน่วยงานสำคัญในกระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ร่วมกันผลักดันประเด็น “การรับมือของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายใต้สถานการณ์โควิด-19” ผ่านข้อมติ “Strengthening criminal justice systems during and after the coronavirus disease (COVID-19) pandemic” ต่อที่ประชุม CCPCJ 

ข้อมตินี้ยกร่างโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และ TIJ มีสาระสำคัญในการมุ่งสนับสนุนให้รัฐสมาชิกนำบทเรียนและประสบการณ์ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 มาใช้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง
ให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยส่งเสริมการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขและเรือนจำในการจัดบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ การกำหนดนโยบายการลงโทษโดยคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน และการใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก 

ไทยร่วมเวทียูเอ็น – ชงยุทธศาสตร์ “เสริมแกร่งกระบวนการ ยธ. รับมือโควิด”

กล่าวเฉพาะปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไทยร่วมผลักดันข้อมตินี้นั้น ในรายงานของ Global Prison Trends 2021 ซึ่งจัดทำโดย TIJ ร่วมกับ Penal Reform International (PRI) ระบุว่า ปัจจุบันมีกว่า 118 ประเทศที่ประสบกับปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และในบางประเทศมีผู้ต้องขังเกินอัตราความจุเรือนจำถึง 450 - 600% ทั้งยังพบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิดมากกว่า 530,000 คนทั่วโลก

นอกจากประเด็นที่กล่าวมา ร่างข้อมติที่ไทยเสนอ ยังส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะการคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงที่แตกต่างจากผู้ต้องขังชาย
และประเมินผลกระทบจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่อาจจะส่งกระทบต่อผู้ต้องขังหญิงด้วย โดยนำข้อกำหนดต่างๆ ของสหประชาขาติมาปรับใช้ โดยเฉพาะ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” หรือ The  Bangkok Rules ว่าด้วยการปฏิบัติต่อ​ผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสําหรับผู้กระทําผิดหญิง

นอกจากประเด็น “การรับมือของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายใต้สถานการณ์โควิด-19” แล้ว ประเทศไทยยังได้เสนอข้อมติ “การใช้การกีฬาเป็นยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา
ของเด็กและเยาวชน” (
Integrating sport into youth crime prevention and criminal justice strategies) ซึ่งไทยให้ความสำคัญมาตลอด โดยต่อยอดจากข้อมติในหัวข้อเดิมที่เคยนำเสนอเมื่อปี 2563

ไทยร่วมเวทียูเอ็น – ชงยุทธศาสตร์ “เสริมแกร่งกระบวนการ ยธ. รับมือโควิด”

ขณะเดียวกัน TIJ ยังได้เข้าร่วมประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “แนวทางในการป้องกันอาชญากรรมโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานด้านกีฬา เยาวชน และชุมชน” (Holistic crime prevention approaches: The contribution of the sport sector towards youth and community resilience) จัดโดย UNODC ซึ่งแต่ละประเทศมีข้อเสนอที่หลากหลายและน่าสนใจ

ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวตอนหนึ่งต่อที่ประชุม CCPCJ เพื่อตอกย้ำเจตจำนงของ TIJ ในการร่วมพัฒนากระบวนการยุติธรรมทั้งภายในประเทศไทยและระดับสากล

ไทยร่วมเวทียูเอ็น – ชงยุทธศาสตร์ “เสริมแกร่งกระบวนการ ยธ. รับมือโควิด”

“TIJ ในฐานะสถาบัน PNI จะยังคงมุ่งมั่นแสวงหาแนวทางใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และเป็นกลไกสำคัญในการต่อยอดแนวคิดที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาที่ท้าทายในกระบวนการยุติธรรมอย่างครอบคลุมและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดผลตามพันธกิจร่วมกันในระดับนานาชาติต่อไป”