ความเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบกำลังฟื้นตัวสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ

ความเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบกำลังฟื้นตัวสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันกำลังฟื้นตัวเนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐและยุโรปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการปรับปริมาณการผลิตน้ำมันจากกลุ่มโอเปกพลัสเพื่อรักษาสมดุลของตลาด ให้มีน้ำมันเพียงพอกับความต้องการของตลาด

ราคาน้ำมันดิบ Dated Brent เดือนพฤษภาคมนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 4.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นโดยสหรัฐอเมริกามีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็ม มากกว่า 50% และมีเป้าหมายให้ถึง 70% ภายใน 4 กรกฏาคมนี้ นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอินเดียมีแนวโน้มลดลงจากประมาณ 400,000 คน/วัน ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เหลือต่ำกว่า 100,000 คน/วัน ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ขณะที่ประเทศกลุ่มโอเปกพลัส ยืนยันเพิ่มปริมาณการผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฏาคม 2564 รวม 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือเฉลี่ย 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในแต่ละเดือน ประกอบกับการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งคาดว่าเร็วที่สุดที่อิหร่านจะเพิ่มการส่งออกได้คือไตรมาส 4

ความเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบกำลังฟื้นตัวสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ

คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Dated Brent เดือนมิถุนายนอยู่ที่ประมาณ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากในเดือนนี้จะมีโรงกลั่นกลับมาดำเนินการหลังปิดซ่อมบำรุงประจำปี ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียจะมีความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม คิดเป็นปริมาณรวม 29.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากเป็นฤดูกาลขับขี่ โดยเฉพาะปีนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ของสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องเหลือต่ำกว่า 10,000 รายต่อวัน จากที่เคยสูงถึง 70,000 รายต่อวันในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ และยุโรปที่ฟื้นตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่อนคลายมาตรการควบคุม หลังรัฐบาลเร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

ความเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบกำลังฟื้นตัวสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ

ประเด็นที่ต้องจับตา ได้แก่ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ความคืบหน้าในการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งอาจประสบผลสำเร็จส่งผลให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้ โดยปัจจุบันอิหร่านผลิต 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากที่เคยผลิตได้สูง 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงก่อนจะมีการคว่ำบาตร ด้านเศรษฐกิจให้จับตาท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจลดวงเงินซื้อพันธบัตรฯ 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แม้ว่าแนวโน้มจะดีขึ้นเนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่หากเกิดการระบาดอีกรอบจะทำให้การฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันไม่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด

ความเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบกำลังฟื้นตัวสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ