'สงกรานต์ 2564' ชีวิตวิถีใหม่ 'ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก ขับไม่เร็ว กลับให้ถึงอย่างปลอดภัย'

'สงกรานต์ 2564' ชีวิตวิถีใหม่ 'ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก ขับไม่เร็ว กลับให้ถึงอย่างปลอดภัย'

"สงกรานต์ 2564" สถิติ "7 วันอันตราย" มีอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นประจำทุกช่วงสงกรานต์ ซึ่งในแต่ละปีจะมีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะการดื่มแล้วขับ หรือขับรถเร็วเกินกำหนด โดยไม่สวมหมวกนิรภัย

"สงกราน 2564" นี้ พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวภาพรวม เมื่อประเด็นของอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลกำลังวนกลับมาอีกครั้ง แม้รัฐบาลประกาศชัดเจนว่า จะงดเล่นน้ำ งดกิจกรรมสุ่มเสี่ยง และบางพื้นที่งดขายแอลกอฮอล์ ซึ่งพบว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่การเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงสงกรานต์ก็เป็นกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น

“ทุกๆ ปี ก่อนวันสงกรานต์ 3 วัน จะมีผู้เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด พบว่า มีอุบัติเหตุท้องถนนเสียชีวิตจากความรีบร้อนกลับจนไม่ได้พักผ่อน ขับรถข้ามเขตแล้วมีรถในพื้นที่ตัดหน้า รวมถึงขับรถด้วยความเร็ว สงกรานต์ปีนี้จึงอยากให้ทุกคนถ้าขับรถกลับบ้าน ไม่ได้ใช้รถสาธารณะขอให้ตรวจสอบสภาพรถ เส้นทาง เตรียมอาหาร สภาพร่างกายให้พร้อม อย่าขับรถเร็ว และไม่ควรขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านที่ต่างจังหวัดหากใช้เวลานานๆ และถ้าคิดว่าตัวเองมีภาวะสุ่มเสี่ยงโควิด 19 ควรจะอยู่บ้าน เพื่อป้องกันทั้งอุบัติเหตุและการแพร่ระบาดของโลก อย่างไรก็ตาม สงกรานต์นี้ อยากให้ทุกคนที่เตรียมพร้อมจะกลับบ้านขอให้เดินทางอย่างปลอดภัย และปฏิบัติตามวิถีชีวิตใหม่”

161760119051

แม้อุบัติเหตุท้องถนนที่เกิดขึ้น นอกจากเรื่องการดื่มเมาแล้วขับ หรือขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อกแล้วสถิติจะลดลง แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 กลับพบว่า มีประชาชนกลุ่มหนึ่ง จะไม่ใช้รถสาธารณะ แต่จะขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านที่ต่างจังหวัด เพื่อลดการติดเชื้อโควิด 19 ทว่าด้วยการเดินทางระยะเวลายาวนาน อีกทั้งร่างกายไม่เคยชิน ทำให้หลายคนเกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับขี่ได้

ฉะนั้น อยากฝากทุกคนให้ขับขี่กลับบ้านต่างจังหวัด หรือเดินทางท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย และอย่าขับมอเตอร์ไซค์ข้ามจังหวัด หากไม่คุ้นชินทาง สภาพร่างกายไม่ไหว

ขณะที่ รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จับมือกับสำนักงานเครือข่ายอุบัติเหตุ (สคอ.) เป็นระจำทุกปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมสร้างกระแสการรับรู้ เพิ่มความตระหนักขับขี่ปลอดภัยในแบบชีวิตวิถีใหม่แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้ น่าจะมีวันหยุดยาวติดต่อกัน 6-9 วัน คาดการณ์ว่าจะมีผู้เดินทางทั้งกลับบ้าน ท่องเที่ยวจำนวนมาก เนื่องจากปีที่ผ่านมาหลายคนไม่ได้กลับบ้านเพราะสถานการณ์โควิด 19 ดังนั้น เมื่อมีจำนวนผู้เดินทางสูงมากขึ้น อุบัติเหตุที่สูงอยู่แล้วคาดว่าจะสูงมากขึ้น

สำหรับ "สงกรานต์ 2564" สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุทางถนน รณรงค์ ชีวิตวิถีใหม่ สงกรานต์ดื่มไม่ขับ คิดถึงกลับให้ถึงอย่างปลอดภัย กิจกรรมที่จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งใน 1 นาที เฉลี่ยจะพบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างน้อย 6 คน โดยพฤติกรรมเสี่ยงส่วนใหญ่ เกิดจากดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่สวมใส่หมวกนิรภัย อีกทั้งในเรื่องของความเร็ว หลายคนอาจจะสับสนว่าต้องขับขี่ความเร็วเท่าใด รวมถึงการใช้อุปกรณ์นิรภัย โดยเฉพาะหมวกกันน็อกน้อยมาก ปัจจุบันมียอดรถประมาณ 41.5 ล้านคัน และเป็นมอเตอร์ไซค์ 21 ล้านคน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เด็กและเยาวชนอายุ 15-15 ปี เป็นกลุ่มเสียชีวิตจากอุบัติมากที่สุด

"การลดอุบัติเหตุท้องถนนต้องเริ่มต้นด้วยตนเอง และมีสิ่งแวดล้อม การรณรงค์ให้ความรู้ เตรียมพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสม ในช่วงเทศกาล สงกรานต์ 2564 นี้ อยากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ควรดื่มแล้วขับ และถ้าไม่มั่นใจว่าเส้นทางหลักควรขับขี่ด้วยความเร็วเท่าใด ควรไม่เกิน 80 กม.ต่อชม.ดีที่สุด แต่หากเป็นพื้นที่ต้องระมัดระวัง อย่าง พื้นที่แออัด หน้าโรงเรียน ตลาด ต้องลดความเร็ว ไม่ให้ถึง 50 กม. ควรสวมใส่หมวกกันน็อก และจัดสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้มีการสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์" รุ่งอรุณ กล่าว

161760161291

สุรินทร์ หอมชื่นใจ กำนันตำบลแสลงพัน อ.วังม่วง จ.สระบุรี กล่าวว่า ทาง อ.วังม่วง ได้มีการรณรงค์ป้องปรามการลดอุบัติเหตุท้องถนน โดยเป็นกิจกรรมเชิงรุก ที่มีการตั้งด่านชุมชนสกัดนักดื่ม ทั้งในส่วนของถนนสายหลัก และถนนสายรองมาเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งในส่วนของถนนสายหลักนั้น การตั้งด่านดังกล่าว ทำให้อุบัติเหตุลดลงทุกปี แต่ในส่วนของ ด่านรอง หรือด่านที่ตั้งในถนนสายรอง กลับพบว่า มีอุบัติเหตุมากขึ้น เนื่องจากบางคนดื่มและมองว่าขับในชุมชน ไม่น่าจะเกิดอันตราย เมื่อทุกคนในชุมชนมีเป้าหมายเดียวกันในการลดอุบัติเหตุท้องถนน เมาไม่ขับ ขับขี่ปลอดภัย ความร่วมมือทุกภาคส่วนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน หรือคนในชุมชนได้ร่วมกันวางแผนป้องปราม สกัดนักดื่ม

"ในช่วงเทศกาลและหลังเทศกาล ทางชุมชนได้มีการตั้งด่านสกัดนักดื่ม ทั้งด่านหลักและด่านรอง โดยเฉพาะด่านรองในชุมชน ได้มีการวิเคราะห์จุดเสี่ยง มีการให้ความรู้เรื่องการขับขี่ปลอดภัย และมีมาตรการ หากใครดื่มแล้วขับ ก็จะมีการยึดรถและให้ญาติพี่น้อง รวมถึงนักดื่มมาเป็นผู้รับรถคืน เพื่อจะได้ให้ทุกคนในครอบครัวช่วยเหลือกัน และมีการชี้แจง ทำความเข้าใจ ให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เน้นให้ทุกคนนึกถึงครอบครัว เพราะหากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนมากที่สุดและเป็นอันดับแรก คือ ครอบครัว ดังนั้น ทุกคนในครอบครัว ชุมชนต้องช่วยกันดูแลปฎิบัติตามกฎจราจร ช่วยลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสีย" สุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน จำนวน 1,151 คน เรื่องความเชื่อและสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย ปี 2562 ระบุว่า เด็กและเยาวชนกว่าร้อยละ 26.2 เคยเกิดเหตุรถจักรยานยนต์ล้มและลื่นไถล และกว่าร้อยละ 9.4 ถูกเฉี่ยวชนขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ และจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวร้อยละ 5.4 ได้รับบาดเจ็บสาหัส

พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ทำงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุท้องถนน ปัญหาหลักของเด็กและเยาวชน คือ การไม่สวมหมวกกันน็อก เพราะพวกเขามองว่าไม่เท่ และพวกเขาจะขับขี่ด้วยความเร็ว เป็นความท้าทายที่พวกเขาชอบ รวมถึงหลายคนจะแต่งรถ ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่มีเฉพาะในประเทศไทย อย่าง ลาว ก็เป็นอีกประเทศที่เด็กและเยาวชนไม่สวมหมวกกันน็อก ภาครัฐได้ส่งเสริมให้พวกเขาออกแบบหมวกกันน็อกเอง ทำให้ตอนนี้เกิดกระแสค่านิยมสวมหมวกกันน็อกมากขึ้น

"ต้องทำให้เกิดค่านิยมในหมู่ของเด็กและเยาวชน ว่าการไม่สวมหมวกกันน็อก ขับเร็ว แต่งรถ เป็นเรื่องเอาท์ไปแล้วสำหรับยุคสมัยนี้ และสร้างค่านิยมใหม่ ให้พวกเขาออกแบบหมวกกันน็อก ทำให้รู้ว่าการไม่สวมหมวกกันน็อกมันน่ากลัวอย่างไร และใช้การสื่อสารแบบเพื่อนเตือนเพื่อน ด้วยความห่วงใยซึ่งกันและกัน และต้องทำให้เกิดการรับรู้การขับขี่อย่างปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น อยากฝากเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ถือโอกาสนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ที่ปลอดภัย ไม่ไปเพิ่มความเสี่ยงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น" พชรพรรษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พบว่า

ปี 2562 เกิดเหตุ 3,338 ครั้ง บาดเจ็บ 3,442 ราย เสียชีวิต 386 ราย

ปี 2563 เกิดเหตุ 1,307 ครั้ง บาดเจ็บ 1,260 ราย เสียชีวิต 167 ราย สาเหตุจากขับเร็วและดื่มแล้วขับ

ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญช่วงสงกรานต์ คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 59 พาหนะเสี่ยงสุดคือ มอเตอร์ไซค์(ส่วนบุคคล) เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 79.39 รองลงมาคือรถปิกอัพ ร้อยละ 6.35

นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิต สูงถึงร้อยละ 17.80 หากไม่อยากเป็นหนึ่งในข้อมูลสถิติเหล่านี้ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เมาไม่ขับ ขับขี่ไม่เร็ว และไปใกล้ไกลก็ควรจะสวมใส่หมวกกันน็อก หรือคาดเข็มขัดนิรภัย

161760243821

161760245476

161760247720

161760249441