'เอตทัคคะ' เรียนรู้ 'แก่นธรรม' ด้วยเรื่องเล่าของพุทธบริษัท

'เอตทัคคะ' เรียนรู้ 'แก่นธรรม' ด้วยเรื่องเล่าของพุทธบริษัท

เชื่อว่าในแต่ละวันที่ต้องเผชิญเรื่องวุ่นๆ และสิ่งเร้าที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดไม่หย่อน หลายคนอาจเคยคิดอยากมีเครื่องมือตั้งสติเพื่อใช้รับมือกับปัญหาต่างๆ แต่หลายคนก็ลืมไปเช่นกันว่า จริงๆ แล้วนั้น เรามี "อาวุธ" ทางใจนี้อยู่ใกล้ตัวมาโดยตลอด

โอกาสดีของการสร้างสุขภาวะทางปัญญา หาวัคซีนคุ้มกันใจกำลังกลับมาอีกครั้ง เมื่อยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดงาน “เอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา” ปี 2 เชิดชูพุทธบริษัท 4 นำเรื่องราวบุคคลในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา 11 ท่าน มาถ่ายทอดหวังสร้างแรงบันดาลใจในใช้ชีวิต น้อมนำหลักธรรมยึดปฏิบัติในช่วงภาวะว้าวุ่นเช่นปัจจุบันนี้

สำหรับผลการจัดงาน “เอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา” ที่จัดขึ้นเป็นปีแรกในปี 2563 ซึ่งจัดต่อเนื่องถึง 9 ครั้ง มีผู้ให้ความสนใจมาร่วมงานถึง 1,913 คน และยังได้เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงสาธุชนทั่วไปกว่า 300,000 คน ทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook และ Youtube

ความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดธรรมบรรยายประวัติและปฏิปทาพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนาอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะเป็นการแสดงธรรมจากพระอาจารย์ จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งยังได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์รับอาราธนามาเป็นองค์แสดงธรรม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของพระอริยสาวก อาทิ พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต(อนิลมาน ธมฺมสากิโย) พระเมธีวชิรโสภณ(ประนอม ธมฺมาลงฺกาโร) พระครูบวรวีรวงศ์(ครรชิต อกิญจโน) พระครูปลัด สัมพิพัฒนศีลาจารย์(ครรชิต คุณวโร) พระสมทบ ปรักกโม พระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ ดร.สุภีร์ ทุมทอง และ อ.ธนา เตรัตนชัย

161759808191

มรกต ศรีแสงนาม ประธานโครงการเอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา กล่าวว่า ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ จัดงาน “เอตทัคคะและพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนา” ปีที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องไม่เพียงเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครบรอบ 70 ปี และก้าวย่างสู่ปีที่ 71 เท่านั้น

แต่การนำเรื่องราวชีวประวัติของเหล่าพระอริยสาวกในพระพุทธศาสนาเป็นชีวิตที่น่าศึกษาและสามารถเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันที่ต้องการแบบอย่างที่ดี ด้วยความหวังว่าการนำเรื่องราวของผู้เป็นเลิศในด้านต่างๆ แบบอย่างที่ดีทางพุทธศาสนาจะช่วยจุดประกายให้เยาวชนและผู้สนใจได้มีโอกาสใกล้ชิดหลักธรรมคำสอนและน้อมนำข้อธรรมเหล่านี้ไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตไม่มากก็น้อย

เอตทัคคะ” ซึ่งแปลว่า ที่สุด ประเสริฐ ความยอดเยี่ยมยิ่ง ความเป็นเลิศ ความชำนาญเฉพาะ ถือกันว่าเป็นตำแหน่งทางพระพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องประทานแต่งตั้งให้พุทธบริษัท 4 คือบุคคลถึง 4 กลุ่ม ซึ่งไม่จำกัดแต่ ภิกษุและภิกษุณี ทว่าคนธรรมดาที่เป็น "อุบาสก" และ "อุบาสิกา" ที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง ต่างล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถยอดเยี่ยมในด้านนั้นๆ ซึ่งมีทั้งหมด 74 ท่าน

161759792281

คำว่า "เอตทัคคะ" [เอ-ตะ-ทัก-คะ] ถือกันว่าเป็นตำแหน่งทางพระพุทธศาสนา ที่พระบรมศาสดาทรงประทานแต่งตั้งให้พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความรู้ความสามารถยอดเยี่ยมในด้านนั้นๆ เป็นตำแหน่งเฉพาะบุคคลที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งรูปเดียวเท่านั้น แม้จะมีท่านอื่น ๆ มีความรู้ความสามารถในด้านเดียวกันก็จะไม่ทรงแต่งตั้งขึ้นมาอีก

"ในฝ่ายภิกษุและภิกษุณี ที่ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะนั้น ล้วนแต่เป็นพระอรหันตขีณาสพทั้งสิ้น เว้นแต่พระอานนท์เพียงรูปเดียวที่เป็นพระโสดาบัน ต่อเมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนในฝ่ายอุบาสก มีตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอนาคามี เว้นตปุสสะกับภัลลิกะ สองพ่อค้าที่มิได้บรรลุมรรคผลใดใด ในส่วนอุบาสิกานั้น ทุกท่านล้วนแต่เป็นพระโสดาบันทั้งสิ้น"มรกต อธิบาย

ดังนั้น หากเปรียบง่ายๆ ผู้เป็นเลิศเหล่านี้ไม่ต่างกับไอดอล หรือ "ต้นแบบ" ที่วัยรุ่นยุคสมัยนี้ได้รับอิทธิพล เป็นแบบอย่างหรือแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

"ปีนี้ทางโครงการฯ ได้คัดเลือกเรื่องราวขององค์เอตทัคคะและพระอริยสาวก 11 องค์ คือ พระมหาโมคคัลลานะ พระปุณณ-มันตานีบุตร พระรัฐบาลเถระ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ พระอานนท์ พระสีวลี พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระปฏาจาราเถรี อนาบิณฑิกะเศรษฐี นางสุชาดา และพระยสเถระ พระอรหันตสาวกองค์ที่ 6 ของพระพุทธศาสนา" มรกตกล่าวเพิ่มเติม

มรกตบอกเล่าถึงแนวคิดการคัดเลือกหัวข้อที่นำมา เป็นชีวประวัติของเอตทัคคะหลากหลายท่าน ที่มีทั้งเรื่องดีเลว บาป ความผิดหวัง มีความในใจเหมือนมนุษย์ทั่วไป มีความอยากได้ มีความรักโลภโกรธหลง และปิดท้ายด้วยมีข้อธรรมองค์พระพุทธเจ้า โดยทางสมาคมฯพยายามคัดเลือกให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ฟังทุกกลุ่ม อย่างใครเชื่อเรื่องกรรมก็กลุ่มหนึ่ง มีทั้งกลุ่มที่สนใจแค่ผิวเผินไปจนถึงกลุ่มที่ต้องการศึกษาลึกซึ้ง

"Behind the scene คือเราพยายามคัดสรรที่จะให้เกิดความหลากหลาย เพื่อให้ข้อธรรมที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องสนุกน่าสนใจและนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ เนื่องจากสังคมทุกวันนี้คนเราคงมีโอกาสน้อยที่จะได้เสพอะ.ไรแบบนี้ ซึ่งเรามองว่าเยาวชนเหล่านี้อย่างน้อยก็ได้ยินได้ฟังแง่คิดที่น่าสนใจต่างๆ ผ่านเรื่องราวสนุกสนานที่ดูเป็นเรื่องใกล้ตัว จริงๆ แล้วเรื่องเหล่านี้เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วตลอด เพียงแต่เราไม่เลือกที่จะนำมาใช้ หรืออาจเพราะเมื่อก่อนเราได้เรียนรู้จากการสอน มองเป็นการสั่งสอน ซึ่งดูไกลตัว"

มรกตเอ่ยว่า แม้มุมมองศาสนาเป็นมุมมองที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ทำอย่างไรจะมีโอกาสได้นำไปใช้ และเพื่อให้ทันพฤติกรรมผู้บริโภคยุคสมัยนี้ ที่ชอบอะไรที่เข้าถึงได้ทันที การเผยแผ่ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วยตามกลุ่มเป้าหมาย

"อย่างปัจจุบันด้วยไลฟสไตล์คนเรา และสถานการณ์โควิด 19 เราก็ปรับออนไลน์มากขึ้น ให้สอดคล้องตามยุคสมัยและสถานการณ์สังคม ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อดีเพราะสะดวกใน การเข้าถึง เพราะการปฏิบัติธรรม เมื่อเข้าใจหลักปฏิบัติแล้ว หรือหลักศาสนาแล้วอยู่ที่ไหนก็ทำได้ อย่างยุคโควิด 19 ทำให้เราเห็นความตายเป็นเรื่องปกติและจริงมากขึ้น เป็นส่งที่เตือนให้เราเข้าใจหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวอยู่เสมอว่า เธอจงทำมรณานุสติในทุกขณะ"

161759835625

เกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมศาสนา กล่าวถึงมุมมองการจัดกิจกรรมนี้ว่าเป็นโครงการที่มีจุดดีทั้งในแง่การได้ร่วมส่งเสริมพระพุทธศาสนาและยังมีภาพลักษณ์ที่เหมาะสมในด้านการจัดงาน เนื่องจากแม้ว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะประสบเหตุการณ์โควิด 19 ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากได้ แต่ก็ทราบว่าได้รับความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งที่สมาคมฯ ผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมากและเนื่องจากปีนี้ สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น โดยทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ ทางยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ จีงได้จัดงานภายใต้มาตรการเวันระยะห่างอย่างเคร่งครัด สำหรับกิจกรรมนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาแก่ประชาชน ที่มีความสนใจ ซึ่งมองว่าเป็นประโยชน์ เพราะเป็นโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้จากหลักธรรมต่างๆ ในกิจกรรมนี้

พูดคุยกับคนร่วมงานครั้งแรก ปรีชา เสนีย์สถาพร และ พวงชมพู เสนีย์สถาพร คุณปู่และหลานสาววัย 5 ปี คุณปู่เล่าว่าเดิมทราบข่าวจากภรรยาว่าจะมีงานนี้จึงเกิดความสนใจ ตั้งใจมาฟังคนเดียว แต่หลานสาวเกิดความสนใจขอตามมาด้วย ซึ่งเป็นประสบการณ์มาฟังแสดงธรรมเป็นครั้งแรกของหลานสาว

"เป็นความสนใจของหลานสาวอยู่แล้วที่เคยเอ่ยปากอยากนั่งสมาธิ แต่ติดที่ยังต้องไปเรียน และตื่นเช้า พอได้มาฟังแล้วหลานเขาก็ดูสนใจนะ แต่เขายังเด็กไป บางจุดอาจยังไม่มีความเข้าใจ หรือไม่รู้จักคำศัพท์หรือความหมายบางอย่าง ก็ตั้งใจว่าจะพาเขามาฟังบ่อยๆ อยากให้เขาซึมซับ ฝึกความมีจิตใจอ่อนโยน"

สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ซอยเพชรเกษม 54 กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าร่วมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางหน้าเพจ Facebook YTV โดย ยุวพุทธฯ และเพจ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย, www.thaihealth.or.th หรือโทร. 02-455-2525

161759863439

161759864642

161759866782

161759868110

161759869471

161759870836