กฟผ. ผนึกพันธมิตรปั้นเซอร์วิส “EGAT EV Business Solutions” ยกระดับอุตสาหกรรม EV

กฟผ. ผนึกพันธมิตรปั้นเซอร์วิส “EGAT EV Business Solutions” ยกระดับอุตสาหกรรม EV

กฟผ. เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน EV จับมือพันธมิตรขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า 48 แห่งภายในปีนี้ รองรับการเติบโตของรถยนต์ EV ที่คาดว่าจะทะลุ 1 ล้านคันในอีก 10 ปีข้างหน้า

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. พร้อมสร้างการเปลี่ยนผ่านให้แก่ภาคพลังงานและคมนาคมขนส่ง ในฐานะของผู้ให้บริการด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าที่สำคัญ นับเป็นโอกาสอันดีที่ กฟผ. จะได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขให้แก่คนไทยมากขึ้น ด้วยธุรกิจใหม่ของ กฟผ. EGAT EV Business Solutions

สำหรับธุรกิจนี้ กฟผ. ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน EV เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ผู้ใช้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดย กฟผ. จะเป็นผู้ช่วยและเป็นผู้เชื่อมโยงธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางในอนาคตและร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ ภายใต้ธุรกิจ EGAT EV Business Solutions ประกอบด้วย

  1. สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGATที่ชาร์จไฟได้รวดเร็ว ปลอดภัย มั่นใจ เพื่อรองรับทุกการเดินทางของผู้ใช้ยานยนต์ทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้ติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี ร่วมกับสถานีบริการน้ำมัน PT และพันธมิตรติดตั้งสถานีชาร์จ EV ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งเพิ่มเป็น 48 สถานี ภายในสิ้นปี 2564 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 90 ล้านบาท เน้นขยายสถานีตามเส้นทางการเดินทางหลักทั่วประเทศ เพื่อเลือกพื้นที่ที่ตอบโจทย์การใช้งานและตรงกับตามต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด โดยจะทยอยติดตั้งให้ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพฯ และเส้นทางหลักสายสำคัญ โดยสถานีชาร์จ EV เหนือสุดจะไปถึงที่ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสานไกลสุดจะไปถึง จ.อุดรธานี และ จ.อุบลราชธานี ภาคตะวันออกไกลสุดจะไปทื่ จ. จันทบุรี และ ภาคใต้สุดจะไปถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่วนในปี 2565 จะขยายเพิ่มอีก 35-40 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดขนาดใหญ่ คือ เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งอัตราค่าบริการจะอยู่ใกล้เคียงกับตลาดที่ 6-8 บาทต่อหน่วย หรือ 1.30 บาทต่อกิโลเมตร
  2. Mobile Application Platform EleXA ที่เสมือนเป็นผู้ช่วย เพิ่มความสะดวกสบายในทุกขั้นตอนให้แก่ผู้ใช้รถ EV ตั้งแต่การค้นหา จอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็วสำหรับผู้ใช้งานทุกคน โดย กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้เชื่อมโยง ทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการต่างๆ ที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ. เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกกลุ่ม และยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งเครือข่ายไปพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรม EV
  3. เครื่องอัดประจุไฟฟ้า โดยEGAT Wallbox เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้ารถ EV ขนาดเล็ก ซึ่ง กฟผ. ได้รับสิทธิ์จำหน่ายรายเดียวในไทย รวมถึงเป็นผู้ดูแลให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษา จึงเหมาะแก่การติดตั้งในบ้านเรือน และให้บริการกับลูกค้าในโรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม สนามกอล์ฟที่มีระยะเวลาในการจอดรถชาร์จไฟฟ้าได้นานกว่าในสถานีบริการน้ำมัน ส่วน EGAT DC Quick Charger เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วฝีมือคนไทยขนาด 120 กิโลวัตต์ จึงช่วยลดต้นทุนให้ผู้ลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ โดย กฟผ. จะนำผลิตภัณฑ์นี้จำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3 ปีนี้

4 ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Backend EGAT Network Operator Platform (BackEN) ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งระบบผลิตและส่งไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการในภาพรวมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีเสถียรภาพ และมั่นคง ด้วยระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้มาตรฐานและระบบวิเคราะห์ทางเทคนิคที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชม.

ล่าสุด กฟผ. ร่วมมือกับพันธมิตร 6 บริษัทรถยนต์ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche เพื่อให้ความร่วมมือกันในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูลและการส่งเสริมการขาย

“กฟผ. ได้หารือร่วมกับบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาจำหน่ายในไทย เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการตั้งสถานีชาร์จ EV ให้สอดคล้องกับแผนการตลาด ซึ่งพบว่านอกจากพื้นที่ กทม. แล้ว ในจังหวัดสำคัญที่จะขยายออกไปจะอยู่ใน จ.เชียงใหม่ และจ.ภูเก็ต ดังนั้นจึงได้เร่งขยายสถานี EV ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด”

โดย กฟผ. ยังพร้อมเปิดรับพันธมิตรจากทุกภาคส่วนที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ เพื่อร่วมกันสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเชิญผู้ที่สนใจเข้าชมข้อมูลธุรกิจได้ที่ www.elexaev.com

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ปริมาณการใช้รถยนต์ EV จะสูงขึ้นมาก ซึ่ง บลูมเบิร์ก ได้ประเมินว่าในอีก 4 ปี ข้างหน้า หรือ ในปี 2568 ราคารถยนต์ EV จะใกล้เคียงกับราคารถยนต์สันดาปทั่วไป เพราะราคาแบตเตอรี่ลดลงมาก จะทำให้ยอดการใช้รถยนต์ EV จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีการใช้รถยนต์ EV 7 แสน ถึง 1 ล้านคัน ดังนั้นจึงต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ