'THAIHEALTH INNO AWARDS' ปลุกนวัตกรนักคิด ปั้นนวัตกรรม 'ชีวิตดีเริ่มที่เรา'

'THAIHEALTH INNO AWARDS' ปลุกนวัตกรนักคิด ปั้นนวัตกรรม 'ชีวิตดีเริ่มที่เรา'

การประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ "THAIHEALTH INNO AWARDS" ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดแนวคิด “ชีวิตดีเริ่มที่เรา”

การประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ "THAIHEALTH INNO AWARDS" ก้าวสำคัญคือ การปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึก "เพื่อสังคม" ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งในปีนี้ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อคนไทยทั่วประเทศ 

จากประสบการณ์ทำงานด้านสุขภาวะกว่า 20 ปี ทำให้ตระหนักดีว่า "สิ่งแวดล้อม" มีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมสุขภาพของคนเรา เพื่อชักชวนให้สังคมไทยตระหนักถึงการเรียนรู้จัดสรร ออกแบบสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ให้เอื้อ ส่งเสริมต่อการมีสุขภาวะที่ดีครบ 4 มิติ นั่นคือ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางปัญญา

การประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ THAIHEALTH INNO AWARDS ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ ซึ่งทาง สสส. ร่วมกับมูลนิธิวายไอวาย และภาคีเครือข่าย ได้จัดพิธีประกาศผลรางวัลโครงการไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ปี 2564 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 319 ทีม ก่อนจะคัดเลือกทีมที่เข้ารอบสุดท้าย 20 ทีม ซึ่งว่าที่นวัตกรรุ่นใหม่เหล่านี้ได้มีโอกาสในการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการสร้าง นวัตกรรุ่นใหม่ที่ใส่ใจด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนาผลงาน พร้อมๆ กับการปลูกกล้าพันธุ์ใหม่ที่มีสำนึกดี ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกสู่การเป็น "นวัตกรเพื่อสังคม" แท้จริง

สำหรับ การประกวดในปีนี้ สสส. ได้กำหนดแนวคิด "ชีวิตดีเริ่มที่เรา" เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน หรือช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยผู้ที่เข้าประกวดสามารถเลือกแนวคิดจาก 7 โจทย์สำคัญเพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมด้านสุขภาวะ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อ ดังนี้

  1. ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. การสูบบุหรี่
  3. ลดอุบัติเหตุทางถนน
  4. เพิ่มการบริโภคผักผลไม้และอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ  
  5. เพิ่มกิจกรรมทางกายหรือลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง
  6. การสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เช่น การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
  7. นวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

161579801495

ที่ผ่านมา การประกวดแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปีนี้ทีมที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ มีดังนี้

  • รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ Real Time Exercise Game by Instagram Filter จากทีม 16 ยังแจ๋ว โรงเรียนชลกันยานุกูล
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ อุปกรณ์เตือนภัยขาตั้งสำหรับรถจักรยานยนต์ 1 ได้ถึง 3 (ขาตั้งสติแตก) จากทีม IF โรงเรียนวังโพรงพิทยาคม
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ตุ๊กตาช่วยเตือนจุดเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในการขับรถ ทีม Mito Team โรงเรียนศรีตระกูลวิทยา
  • รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ทีม R-lu-mi-right วิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา จากผลงานที่ชื่อว่า FIFO light นวัตกรรมในซอยแคบ
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ เกมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหว สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง "น้องจุกผจญภัย"  ทีมน้องจุก จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารสําหรับครัวเรือน ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากทีม SRPC Save the world วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี
  • รางวัลพิเศษ Rising star ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ที่มีโอกาสพัฒนาต่อในอนาคตได้ 2 รางวัลได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา Water scrubber system face mask หน้ากากจากระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (D-mask ดีม๊ากกก) ทีมวุยก๊กจะเฟื่องฟูศัตรูจะแพ้พ่าย โรงเรียนชลราษฎรอำรุง และ ระดับอาชีวศึกษา BizcomPN (SEX EDUBOT) ทีม BizcomPN วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี

พูดคุยกับแชมป์รุ่นจิ๋ว จากทีม "16 ยังแจ๋ว" วณัฐณิชา เลิศกิจเจริญผล ภัทรสิรี ศิริเธียรวานิชกุล และเมติยา เชื้อจั่น 3 สาวนักคิดวัยใสจากโรงเรียนชลกันยานุ เจ้าของนวัตกรรมชื่อว่า Real Time Exercise Game by Instagram Filt ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ "รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา" ในปีนี้ ช่วยกันเล่าถึงความประทับใจและประสบการณ์จากการได้เข้าร่วมโครงการว่า นอกจากความภูมิใจที่ผลงานที่คิดประสบความสำเร็จเป็นที่ตอบรับอย่างดีแล้ว สิ่งที่พวกเธอมองว่าเป็นประสบการณ์อีกด้านที่หาได้ยากคือโครงการนี้ยังช่วยจุดประกายความคิดใหม่ๆ และปรับมายด์เซ็ตของพวกเธอในการพัฒนานวัตกรรมหลายเรื่อง

161579779016

"หลังเข้าไปร่วมเวิร์คช็อป รู้สึกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากตอนที่เราทำโครงงานส่งอาจารย์ในชั้นเรียนมาก เมื่อก่อนเราก็คิดว่า ทำโครงการไปแค่เพื่อให้จบมีงานส่งเท่านั้น แต่ที่ค่ายของ THAIHEALTH INNO AWARDS  ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าการจะคิดพัฒนาโครงงานหรือโครงการอะไรสักอย่างควรให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ปลายทาง และต้องเริ่มจากการโฟกัสว่า นวัตกรรมเหล่านี้มันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่" เมติญา สมาชิกหนึ่งในทีม 16 ยังแจ๋วเปิดใจ

"ตอนแรกที่พวกเราเขียนเสนอผลงานเข้าไป ก็เน้นแต่ความยากของฟิลเตอร์ที่เราคิด ไม่ได้ใส่ใจกลุ่มเป้าหมายเลย พอเข้าไปเวิร์คช็อป ทำให้ได้รู้จริงๆ แล้วนวัตกรรมของเราไม่จำเป็นต้องยากก็ได้ แค่ต้องสร้างอิมแพ็คท์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้จริง ถึงเป็นความสำเร็จที่แท้จริง" วณัฐณิชา ช่วยเสริม

สามสาวบอกว่าความรู้ที่ได้มาจากการอบรมเชิงปฏิบัติการกับทาง สสส. ยังช่วยในการพัฒนาผลงานของเธอจนประสบความสำเร็จมากขึ้น

"ช่วงที่พัฒนาใหม่ๆ โปรแกรมก็ดูไม่ค่อยเวิร์ค พี่ๆ ที่ค่ายฯ ​ก็แนะนำเราให้รู้จักการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย เราเลยกลับไปสังเกตพฤติกรรมเพื่อนๆ และจัดทำแบบสอบถามเชิงลึกเก็บข้อมูล หลังจากนั้นเราได้แรงบันดาลใจว่า ควรปรับปรุงแอปฯ เราให้มีหน้าตาฟิลเตอร์แบบไหนถึงจะถูกใจเพื่อนๆ หรือผู้ใช้" วณัฐณิชา เล่า

"อย่างแรกเลย เพื่อนๆ จะชอบฟิลเตอร์ที่ทำให้หน้าสวยดูดี เพราะทำให้เขามั่นใจมากขึ้น เราเลยปรับแต่งสีเพิ่มให้มีสีสัน อีกส่วนคือเพลง เวลาเล่นเกมมีเพลงจะทำให้เพลิดเพลินมากขึ้น และสาม คือเป็นเกมที่ต้องเล่นกับเพื่อนด้วยได้ เพราะจากการวิเคราะห์เราสังเกตพบว่าคนส่วนใหญ่มักไม่ชอบเล่นคนเดียว แต่การเล่นกับเพื่อนได้ด้วย เขาก็จะรู้สึกสนุกกับแอปฯ ของเรามากขึ้น"

ไม่เพียงเท่านั้นเมติญาเอ่ยต่อว่า การได้เข้าไปในค่ายนวัตกรนี้ ยังทำให้ได้เจอกับกลุ่มเพื่อนๆ ที่ชอบการประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์และต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นเหมือนกัน

ถามถึงที่มาแนวคิดที่ริเริ่มแอปพลิเคชันนี้ เมติญาเฉลยว่า เธอกับเพื่อนๆ ได้เห็นข่าวประกาศรับสมัครโครงการในเฟซบุ๊กแฟนเพจ จึงสนใจเลยไปศึกษาข้อมูลดู ก่อนที่จะส่งใบสมัครและนำเสนอโครงการเข้าไป จนได้เป็นหนึ่งใน 20 ทีมที่ได้รับคัดเลือก

“จริงๆ แล้วตอนแรกเลือกไว้ 3 หัวข้อ แต่เรามาคิดว่าอยากผลงานที่เข้าถึงคนได้เยอะๆ เลยเลือกไอเดียที่เกี่ยวกับพฤติกรรมเนือยนิ่ง คือครั้งแรกเลยหนูยังไม่รู้จักคำว่าพฤติกรรมเนือยนิ่ง ว่าคืออะไร แต่ฟังดูว่าน่าสนใจ เลยไปค้นคว้าต่อ ได้เห็นว่าคนรอบตัวเราทั้งครอบครัว เพื่อนๆ เราต่างมีพฤติกรรมนี้ทั้งนั้น เลยอยากกระตุ้นให้ทุกคนหันมาสนใจปรับพฤติกรรมนี้ พอดีตอนนั้นพวกหนูอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง กำลังถ่ายรูปเล่นกัน ก็เลือกฟิลเตอร์ไปมา เลยได้ไอเดียว่า แล้วทำไมเราไม่ทำฟิลเตอร์ให้ขยับได้ทั้งตัวล่ะ”

จากการค้นหาข้อมูล ศึกษาเทคโนโลยีมากขึ้น จนพวกเธอได้รู้จักกับแอปพลิเคชันฟรีที่ชื่อ Start AR ซึ่งสามารถให้ผู้ใช้ออกแบบโปรแกรมเข้าไปตามที่ต้องการ แต่เนื่องจากฟิลเตอร์ส่วนใหญ่ไม่มีแบบเต็มตัว พวกเธอจึงคิดพัฒนาเพิ่ม ปรับปรุงต่อเนื่องจนสามารถทำให้โปรแกรมเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้

ปัจจุบันนวัตกรรมที่ชื่อว่า Real Time Exercise Game by Instagram Filter สามารถใช้ได้จริงแล้ว ผู้เล่นเพียงเข้าไปในอินสตราแกรมชื่อ "16ยังแจ๋ว" ก็สามารถทดลองเล่นได้ทันที

ที่สำคัญ เวลานี้มีผู้สนใจมากมายเกินคาด โดยมีผู้เข้ามาเล่นกว่าสิบล้านครั้งแล้ว และยังขยายความนิยมไปถึงในโปรแกรม Tik Tok ที่กำลังเป็นอีกไวรัลที่ถูกแชร์กันต่อๆ ไปอีกไม่น้อย

"ตอนที่ได้รู้ว่าเราได้รางวัล ก็รู้สึกดีใจว่าสิ่งที่เป็นแค่จินตนาการของเรามันเป็นจริงได้ แต่หนูว่าเพื่อนๆ ทั้ง 20 ทีมแต่ละคนมีไอเดีย มีนวัตกรรมดีๆ ของตัวเองกันทุกคน ตอนนั้นเลยคิดว่าใครได้ก็ไม่เสียใจ เพราะทุกคนคู่ควรได้รางวัลหมด ทุกคนทุ่มเทตั้งใจกันมาก" 

161579792611

ด้านรุ่นพี่อย่าง ทีม R-lu-mi-right แชมป์ “รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา” จากผลงานที่ชื่อว่า FIFO light นวัตกรรมในซอยแคบของ ภูมิพัฒน์ คงหนู ธนดล ศรีเพชร และเอกศักดิ์ เทพยา

ทั้งสามเรียนอยู่วิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจปี 3 เล่าถึงที่มาการเข้าร่วมโครงการเกิดจากอาจารย์ที่วิทยาลัยได้เห็นข่าวโครงการนี้ มองว่าหากนักศึกษาเข้าไปจะได้ประสบการณ์ที่น่าสนใจ จึงแนะนำให้มาสมัคร

"จริงๆ แล้วนวัตกรรมนี้เป็นโปรเจ็คท์ที่เราคิดกันขึ้น เพื่อเป็นผลงานสำหรับจบการศึกษา ซึ่งอาจารย์ให้แนวคิดว่าต้องเป็นสิ่งที่ทำแล้วได้ความรู้ใหม่ ไปพร้อมกับการได้ใช้ความรู้ที่เรามีในตัว" ธนดลตัวแทนกลุ่มเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว

FIFO Light มาจากคำว่า First In First Out Light เกิดจากแนวคิดที่ได้เห็นว่าในชุมชนมีซอยที่พื้นที่แคบรถวิ่งได้คันเดียว แต่ประชาชนจำเป็นต้องสัญจร แต่ไม่สามารถเดินรถสวนกันได้ เนื่องจากรถอีกฝั่งที่เดินเข้ามาต่างไม่ทราบว่าอีกฝั่งมีรถสวนเข้ามาเช่นกัน จึงมักเกิดปัญหารถติดชะงักในซอย จึงคิดว่าหากมีการทำสัญญาณเตือนเพื่อบอกรถแต่ละฝั่งก็จะช่วยให้ลดปัญหาดังกล่าวและลดอุบัติเหตุลง

"ตอนที่พัฒนาโปรเจ็คท์นี้ยอมรับว่าปัญหาอุปสรรคค่อนข้างเยอะ เนื่องจากพวกเราเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งเรามีพื้นฐานด้านการเขียนโค้ดดิ้ง แต่ไม่มีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ก็เลยต้องไปหารุ่นพี่ที่มีความรู้ด้านนี้มาช่วยให้คำแนะนำ แล้วก็ต้องทดลองมีการนำเครื่องไปติดตั้งเพื่อทดสอบการนับรถ เพื่อเช็คประสิทธิภาพอุปกรณ์ จนได้ต้นแบบที่ทำงานได้จริง"

เขาบอกโชคดีที่การเข้าร่วมโครงการ THAIHEATH INNO AWARDS เพราะเป็นกลุ่มเยาวชนและจะต้องรู้จักสำรวจปัญหาหรือความต้องการของสังคม ด้วยกระบวนการแบบนวัตกร

"เราได้เข้ารอบ 20 ทีม ก็ได้งบประมาณมาหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเราได้นำมาใช้ในการลงทุนซื้ออุปกรณ์ในช่วงการทดลอง นอกจากนี้ การที่เราได้เข้าร่วมโครงการนี้ เราได้อบรมกระบวนการคิดแบบใหม่ ได้รู้จักความเป็นนวัตกร ซึ่งฝึกวิธีคิดให้เราว่าเวลาการรับมือกับปัญหาอย่างไร และเกิดความคิดอยากทำสิ่งดี ๆ หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยเหลือผู้อื่นได้ หรือมีประโยชน์กับสังคม"

นพดลยังให้คำแนะนำแก่เพื่อนๆ หรือผู้ที่สนใจอยากเป็นนักนวัตกรคิดนวัตกรรมเพื่อสังคมว่า ความจริงแล้วการนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยียากหรือล้ำลึกอะไร เรื่องง่ายๆ ก็เป็นนวัตกรรมได้ ซึ่งเขาเองและเพื่อนๆ ก็ไม่ได้เรียนด้านสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีโดยตรง ขอเพียงทุกคนมีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นที่ก็สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ทุกคน

"เราเองตลอดระยะเวลาที่ทำโปรเจ็คท์นี้ มีปัญหาตลอด ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้มีความรู้โดยตรง แต่บทเรียนที่ได้รับจากโครงการนี้คือ การที่เราสามารถอยู่กับปัญหาและจัดการมันได้โดยไม่ท้อถอย แม้จะเจอปัญหาทุกวัน ยิ่งพอได้รับรางวัลแล้วรู้สึกหายเหนื่อย"

ผลงานของพวกเขาหลังพัฒนาจนได้ต้นแบบที่เกือบสมบูรณ์แล้ว ทางทีมมีแผนจะนำไปติดในชุมชน ในพื้นที่ใกล้เคียงวิทยาลัย ซึ่งต้นทุนเครื่อง FIFO Light ปัจจุบันราคาประมาณห้าพันบาทต่อชุด ซึ่งในระยะยาวหลังนำไปทดสอบใช้งานจริงแล้ว อาจมีการปรับปรุงพัฒนาอีกรอบ และในอนาคตยังอาจมีการต่อยอดหรือจดลิขสิทธิ์ทางปัญญาต่อไป

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพโดยฝีมือเยาวชนทั้ง 20 ทีม เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาทุกขภาวะของพื้นที่ใกล้ตัว

ซึ่งในปีนี้พบว่าเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดีที่ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพเข้ามาอยู่ในความสนใจของเยาวชนมากขึ้น” รศ.นพ.สรนิต กล่าว

THAIHEATH INNO AWARDS เป็นเหมือนกระจกสะท้อนทิศทางการทำงานของ สสส. ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา และกำลังเป็นก้าวต่อไปของ สสส. กับอีก “หมุดหมาย” การทำงานในการมุ่งสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับสังคมได้  แต่โครงการยังเกิดการสานพลังจากหลายภาคส่วน ในการร่วมกันออกแบบกระบวนการพัฒนาทักษะด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้กับเยาวชน

161579827397

161579828626

161579829839

161579835497