'รถเมล์ไทย' ฝันของคนเมืองที่ยังไปไม่ถึง

'รถเมล์ไทย' ฝันของคนเมืองที่ยังไปไม่ถึง

แม้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคดิจิทัลมาแล้ว แต่หลายสิบปีที่ผ่านมาบริการสาธารณะ อย่าง “รถเมล์ไทย” ยังเป็นคำถาม

รถเมล์สาธารณะเป็นบริการพื้นฐานที่คนไทยควรมีสิทธิ์ได้รับ แต่วันนี้ คุณภาพและการบริการ รวมถึงค่าโดยสารเอง ก็ยังไม่ตอบโจทย์คนใช้อย่างครอบคลุม พลันเมื่อรัฐบาลประกาศ “ปฏิรูปรถเมล์ไทย” ผู้บริโภคทั้งหลายจึงอยากฝากเสียงสะท้อนไปยังภาครัฐหวังเป็นโอกาสแก้ปัญหารถเมล์แท้จริง ผ่านการเสวนา "เสียงคนเมือง กับภาพฝันรถเมล์ไทย"

161520085313

ธนรัตน์ ตั้งประจักษ์ภักดี หนึ่งในทีมงานผู้ดูแลเพจชุมชนคนรักรถเมล์ Bangkok bus club กล่าวว่า จากกการเก็บข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่ก่อตั้งเพจ มากกว่า 15 ปี ทั้งการสอบถามเส้นทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงความสนใจที่เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ทั้งเรื่องแอปพลิเคชัน ติดตามตำแหน่งรถเมล์ การเปลี่ยนผ่านไม่ใช้เงินสด ในการจ่ายค่าโดยสาร แต่ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือ การบริการ และค่าโดยสาร

ขณะที่ วรรณา แก้วชาติ กลุ่มคนจนเมือง กล่าวว่า รถเมล์เป็นที่พึ่งพิงของคนที่มีรายได้ 300 บาทต่อวัน การมีระบบขนส่งที่มีราคาถูก เช่นการมีรถเมล์ร้อน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะยิ่งในช่วงโควิดเช่นนี้ แต่ขณะนี้มีแต่รถเมล์ปรับอากาศให้บริการ ทำให้ค่ารถแพงมากขึ้น อยากเรียกร้องให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการปฏิรูปรถเมล์ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้คนใช้จริงได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ด้าน รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเชิงว่า การแก้ปัญหาเรื่องรถเมล์ต้องแก้เชิงระบบ ไม่สามารถแก้ทีละเรื่อง ทีละประเด็นแยกจากกัน เพราะปัญหามีความเชื่อมโยงกัน เช่น ปัญหาอัตราค่าโดยสาร ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการกำหนดเส้นทาง การให้สัมปทานเดินรถ เป็นต้น  ดังนั้น การแก้ปัญหารัฐบาลต้องมองเรื่องรถเมล์ว่าเป็น “บริการสาธารณะ” ที่ต้องเข้ามาสนับสนุน ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาของเฉพาะ ขสมก.ที่มีหนี้สิน และต้องทำแผนฟื้นฟูเท่านั้น

“สถานการณ์ตอนนี้เรามี 2 แผน คือแผนปฏิรูปรถเมล์ ที่กรมการขนส่งทางบกเป็นเจ้าภาพ เป็นฝ่ายกำหนดนโยบาย แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่และงบประมาณในการเดินรถ และแผนฟื้นฟู ขสมก.ที่มีเป้าหมายหลักคือการปลดหนี้ ขสมก.ที่มีมากกว่าแสนล้านบาท ดังนั้นประเด็นเรื่องเส้นทางเดินรถ ราคาค่าโดยสาร การให้บริการ ฯลฯ ของทั้ง 2 แผนยังมีส่วนที่ขัดๆกันอยู่ และยังไปไม่ถึงฝันของคนเมือง ส่วนตัวเห็นว่าต้องมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถดึงเอา กรมการขนส่งทางบกและ ขสมก.ให้มาจัดการร่วมกันได้รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

161520087750

ย้อนกลับมาที่ความเห็นของ ธนรัตน์ ยอมรับว่าแม้ปัจจุบันรถเมล์มีการพัฒนาขึ้นจากเดิม มีการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการ อย่างเช่นมีการใช้ระบบจีพีเอสมาใช้ในการบอกตำแหน่งและสายรถเมล์ที่จะเข้าป้าย แต่สำหรับแผนที่จะมีการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ที่จะมีภาษาอังกฤษผสมกับตัวเลข การปรับปรุงเส้นทางตามแผนฟื้นฟู ขสมก.และแผนปฏิรูปรถเมล์ ที่จะมีรถเมล์บางเส้นทางเดิมอาจจะถูกยกเลิกไป  หรือ หลายเส้นทางที่เดิมไม่มีรถเมล์วิ่ง แผนใหม่ก็ยังไม่มีรถเมล์วิ่ง ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ประชาชนยังไม่ทราบรายละเอียดชัดเจน หากประกาศใช้โดยไม่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบตั้งแต่เนิ่นๆ จะสร้างความสับสนและวุ่นวายให้กับประชาชน จึงควรจะเปิดข้อมูลในแผนฟื้นฟู ขสมก.และแผนปฏิรูปให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรับรู้และแสดงความเห็น

“ห่วงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการกำหนดเส้นทางเดินรถใหม่ การต่อใบอนุญาตเดินรถ ที่ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด และยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนคนใช้รถเมล์ตัวจริง ซึ่งการเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ จะส่งผลให้รถเมล์ที่เคยมีหายไปจากเดิม เช่น ถนนหทัยราษฎร์ อ่อนนุช หรือที่รถเมล์ไม่มีอยู่แล้ว ก็ยังไม่มี ดอนเมือง สรงประภา ซอยนวลจันทร์ ส่วนที่มีรถเมล์น้อย ก็ยังน้อยเหมือนเดิม อาทิ ลาดกระบัง หรือการเปลี่ยนสายรถโดยสารประจำทางจากเดิมกำหนดตัวเลข กับอักษรไทย เปลี่ยนเป็น ภาษาอังกฤษ ที่ใช้ควบคู่กับตัวเลขเส้นทาง A สายหลัก ,สาย B เป็นสายรอง,สาย C เป็นการเดินทางแบบวงกลม และ สาย E เป็นการบ่งบอกว่ารถขึ้นทางด่วน ซึ่งจุดนี้ต้องมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าไม่เช่นนั้น จะเกิดความโกลาหลแน่นอน”นายธนรัตน์ กล่าว

161520089657

ขณะเดียวกันอีกฟากฝั่งผู้ใช้อีกกลุ่มคือผู้พิการ ก็ยืนยันว่า “อยากได้ “รถเมล์ชานต่ำ” เพิ่ม เสียงเรียกร้องเรื่องนี้สะท้อนผ่าน นันทิดา จิตภักดีรัตน์ ผู้ดูแลเพจ ToGether ฑูตอารยสถาปัตย์กรุงเทพ ฯ ฝั่งใต้ กล่าวว่า ข้อกำจัดของผู้ใช้วีลแชร์เป็นเรื่องการเดินทางไม่สะดวก และอาจไม่เป็นส่วนตัว ผู้ใช้วีลแชร์น้อยมากที่สามารถเดินทางอย่างอิสระในที่สาธารณะ เพราะไม่รู้ว่า มีรถเมล์ชานต่ำบริการหรือไม่ หากต้องใช้สะพานลอย หรือข้ามถนนจะวางแผนการเดินทางอย่างไร ทำให้โดยส่วนใหญ่ของผู้ใช้วีลแชร์จะชินกับแท็กซี่ ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถเมล์ เพราะการนั่งแท็กซี่ไปกลับ มีค่าใช้จ่าย ไม่ต่ำกว่า 200 บาท ดังนั้น จึงอยากให้มีรถเมล์ชานต่ำมากขึ้น และครอบคลุมทุกพื้นที่ เพราะประหยัดค่าใช้จ่าย มีผลกับการดำเนินชีวิต และเลือกทำงานของคนพิการ

สรุปทิ้งท้ายด้วยการวิเคราะห์ของ รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ที่เอ่ยว่า

“ความฝันและความหวัง ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของรถเมล์ไทย น่าจะเป็นเรื่องยาก ทั้งกลไกราคา หากมีการปรับมาเก็บเงินค่าโดยสารแบบเหมาจ่าย 30 บาท ต่อคนต่อวันไม่จำกัดเที่ยวจริง ราคาอาจดึงดูด คนให้ขึ้นมาก และดีกับคนบางกลุ่ม แต่หากบริการยังเหมือนเดิม รอนานมากกว่า 3 ชม. ไม่มีรถชานต่ำให้คนพิการ การพัฒนาคุณภาพย่อมไม่เกิดขึ้น”