เปิดปูม ชีวิต(ห)นี้ เกษตรกรไทย ทำไมต้องกู้?

เปิดปูม ชีวิต(ห)นี้ เกษตรกรไทย ทำไมต้องกู้?

ค้นหาปัญหาหนี้ชาวนา ทุกข์ที่ยังอยู่คู่กับเกษตรกรไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

แบกชีวิตพอเกิดมาก็เป็นหนี้

อยู่อย่างนี้ทำอย่างไรก็ไม่พ้น

อยากจะมีเงินไม่พอต้องขอผ่อน

หากเดือดร้อนก็จะยอมสู้อดทน

ความทุกข์หนึ่งที่ยังอยู่คู่กับเกษตรกรไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา  นั่นคือการที่เกษตรกรไทยต้องมีชีวิตผูกพันหนี้สิน

“หนี้” คือบ่อเกิดความจนซ้ำซ้อน และซ้ำซากของเกษตรกรไทย เป็นหนังชีวิตเรื่องเก่าที่เล่าสืบต่อมานานนม ที่ไม่ว่าประเทศไทยจะพัฒนาเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใด... ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม หรือยุคดิจิทัล หนี้ยังเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมเกษตรของไทยไม่สิ้นสลาย

และยังบาดใจพอๆ กับ เนื้อเพลง “ชีวิตหนี้” ที่กำลังสะท้อนชีวิตเกษตรกรไทยเอาไว้อย่างหมดจด

 

ชีวิตหนี้เกษตรกรยุคดิจิทัล

“เมื่อรายรับมันไม่พอรับรายจ่าย ต้องกินต้องใช้ ทำอย่างไรก็กู้เขา”

ทำไมปัญหาหนี้ชาวนาเกษตรกรเป็นวงจรที่ไม่เคยจบสิ้น?

หากค้นหาต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เกษตรกรไทยถูกกัดกร่อนด้วยหนี้สินมาอย่างยาวนาน จะพบต้นตอปัญหาที่ “หยั่งรากลึก” กว่าที่คิด จากการศึกษาหนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน ไม่ใช่เพื่อการเกษตรอย่างเดียว เมื่อเกษตรกรขาดความสามารถในการชำระหนี้ จึงเกิดจากปัญหาผิดนัดชำระ ทำให้โดนดอกเบี้ยค่าปรับที่สูงพอกพูน

ที่สำคัญ “ปัญหาหนี้เกษตรกร” นั้น ไม่ใช่แค่ปัญหาเกษตรกรคนเดียว หากแต่เป็นเรื่องที่ “ทุกคน” ในสังคมไม่ควรเพิกเฉย  มูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พากันชักชวนเหล่านักวิจัย นักคิด และเกษตรกรชีวิตหนี้ตัวจริง จับมือกันสกัดบทเรียนจากประสบการณ์จริง เพื่อร่วมระดมหาทางออก ในเสวนาวิชาการสาธารณะเรื่อง "ชีวิตหนี้...นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19 "  สะท้อนชีวิตจริงเกษตรกรไทย ท่ามกลางสังคมภายนอกที่ตั้งคำถามว่า  “แล้วทำไมไม่เปลี่ยน”

161519291839

เริ่มจากมาฟังผลการตรวจสุขภาพทางการเงินเกษตรกร จาก ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ข้อมูลว่า จากการวิจัย รายได้ชาวนาและเกษตรกรนั้นไม่สม่ำเสมอ มีรายได้เป็นฤดูกาล ไม่ใช่รายได้ประจำ

“รายรับมาเป็นรอบๆ แต่รายจ่ายมีทุกวัน”

เมื่อขัดสนเกษตรกรจึงเลือกที่จะ ยืม กู้ (สิน)เชื่อ เพื่อนำมาซื้อปัจจัยการผลิตและใช้จ่ายครัวเรือน

มีเพียงเกษตรกร 20% เท่านั้นที่ใช้เงินออมในการลงทุนด้านปัจจัยการผลิต

แม้แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือเกษตรกรควรมีรายได้มาจากหลายช่องทาง

“แต่ถามว่าทำไมเขาไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเขาไม่มีทุน การจะเปลี่ยนอะไรต้องใช้เงินลงทุน”

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤต อย่างเช่นกรณีโควิด 19 ทำให้รายได้ครัวเรือนของเกษตรกรลดลง ส่งผลต่อความสามารถชำระหนี้ โดยเกือบ 60% ที่เริ่มมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้

“พอจ่ายเท่าไหร่ก็ไม่หมดมีแต่จ่ายดอกเบี้ย แต่ต้นไม่ลดเลย ทำให้เขาท้อ ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยแบบนี้จึงไม่เหมาะสมกับเกษตรกร  หากให้เขาเลือกจ่ายเป็นรอบการผลิต หรือจ่ายแบบย่อยรายเดือนละไม่เกิน 500-1,000 บาท เขายังสามารถชำระหนี้ได้”

ดังนั้น ข้อเสนอสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ที่จะแก้ปัญหาได้คือ การให้ความสำคัญแก่การจ่ายคืนเงินต้น มากกว่าการจ่ายคืนแค่ดอกเบี้ย ตลอดจนการให้ความรู้ทางการเงินแบบที่เข้าใจง่ายต่อเกษตรกร รวมถึงการอาจต้องมีเครื่องมือช่วยจัดการความเสี่ยง เช่นการประกันภัยพืชผล การใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลวางแผนผลผลิต เป็นต้น

หนี้พอกหางหมู

ด้าน จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจัยโครงการศึกษาตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินของเกษตรกร บอกเล่าที่มาว่า การที่เกษตรกรเป็นหนี้เกิดจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ผลผลิตตกต่ำ ความผันผวนของธรรมชาติ ความไม่แน่นอนของผลผลิตที่ได้ และกลไกราคาสินค้าเกษตรที่อำนาจต่อรองอยู่ในมือของ “นายทุน” หรือ “เจ้าหนี้”  ตลอดจน ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ไม่นับรวมวิกฤตต่าง ๆ ที่โหมกระหน่ำเข้ามาในแต่ละครั้ง

เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการตอกย้ำเหตุผลที่ทำให้ “วงจรหนี้” ชาวนาไทย

“โครงการมีการศึกษากลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง 10 ราย ที่เคยเป็นหนี้และสามารถแก้ปัญหาหนี้ของตัวเองได้ในหลายพื้นที่ พบว่าปัจจัยที่จะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากหนี้ คือ หนึ่งเกิดจาก ปัจจัยส่วนบุคคล โดยเกษตรกรที่มีความซื่อสัตย์ จริงใจและมีใจสู้ปัญหา มักประสบความสำเร็จในการปลดหนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยด้านครอบครัวคือการมีบุตรหลานก็มีส่วนสำคัญ  เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้ลูกหลานแบกรับภาระหนี้ของตนเอง” จารุวัฒน์เล่าถึงผลการถอดบทเรียน

ในแง่ทางออกยั่งยืน จารุวัฒน์เผยว่าเกษตรกรเหล่านี้มักจะพยายามค้นหาความรู้เพิ่มเติมด้านการประกอบอาชีพการเกษตรของตนเองมากขึ้น เช่น การรู้จักประหยัดต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลดการขาดทุน 

เขาบอกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่รู้ดีว่าการลดต้นทุนเป็นทางแก้ปัญหา หรือการหารายได้เสริมมีความสำคัญ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถทำได้ เช่น การมีทุนจำกัด ทำให้พวกเขาไม่กล้าเสี่ยงที่จะทดลองลงทุนสิ่งใหม่ ๆ

อีกบทเรียนสำคัญที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้คือ การค้นพบว่าปัญหาที่แท้จริงของการติดอยู่ในกับดักหนี้สินของเกษตรกร อาจเกิดจากการที่เกษตรกรไม่สามารถคาดเดาผลผลิตได้ หรือรายได้ได้

“เกษตรกรกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อลงทุนก่อนการผลิต ทุกคนต่างคิดหรือมีความตั้งใจดีที่จะใช้หนี้สิน แต่เมื่อผลผลิตออกมาไม่ตรงตามความคาดหมาย ทำให้ไม่สามารถทำได้ ซึ่งปัจจุบันการมีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยให้เกษตรกรได้มีโอกาสพักชำระหนี้และฟื้นฟูตนเองในการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะมีรายได้เพียงพอในการนำเงินไปชำระหนี้ได้ดีขึ้น

“แต่จากการถอดบทเรียน เรามีข้อเสนอในการพัฒนากองทุนให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น คือ หนึ่ง กองทุนฯ ควรมีการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้นในบทบาทของกองทุนฯ สอง การติดตามสอดส่อง ดูแลพัฒนาศักยภาพผู้นำกลุ่ม ผู้นำกลุ่มกองทุนฟื้นฟูมีความสำคัญมาก หากมีความเข้มแข็งก็จะทำให้กลุ่มมีประสิทธิภาพและเดินไปตามแนวทางที่ดี และสาม การสร้างความหลากหลายของช่องทางการสื่อสาร รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนต้องรวดเร็วและทันการณ์ นอกจากนี้ การให้ข่าวสารข้อมูล การคาดการณ์เกี่ยวกับผลผลิต การตลาด ราคาสินค้า พิบัติธรรมชาติหรือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นล่วงหน้าแก่เกษตรกร จะช่วยได้ ตลอดจนการหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าหรือทำการตลาดช่วยเกษตรกร” จารุวัฒน์กล่าว

เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิจัยอิสระ ของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านคดีหนี้สินเกษตรกร เล่าถึงกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกรว่า เมื่อเกษตรกรถูกฟ้องหรือตกเป็นจำเลยคดีหนี้สิน มักไม่สามารถที่จะรับมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะเกษตรกรรู้ไม่เท่าทันกระบวนการกฎหมายหรือสิทธิของตนเอง

“ส่วนใหญ่เมื่อได้รับหมายศาลเลือกที่จะไม่ไปศาล เพราะเขาไม่รู้ว่าไปแล้วได้อะไรบ้าง หรือไม่มีความรู้และไม่สามารถหาทนายความไปขึ้นศาลด้วยได้ จึงเลือกที่จะไม่ไปสู้คดี”

บางรายไปแล้ว ก็ต้องเจอกับทนายความเจ้าหนี้ที่มักมีกลเกมในการทำเจรจาหรือทำข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้  หรือทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบ

“หนี้จากการกู้ค้ำประกันเป็นปัญหามากสำหรับเกษตรกร และเป็นต้นเหตุให้ชาวบ้านถูกฟ้องร้องเยอะ ปัจจุบันมีเกษตรกรเป็นหนี้ค้ำประกันถึง 5,000 ล้านบาท ส่วนหนี้จดจำนองส่วนใหญ่เริ่มจากการเป็นหนี้นอกระบบ นั่นคือการเอาโฉนดไปจำนองไว้  แต่เจ้าหนี้นอกระบบบางรายยึดโฉนดที่ดินไว้และให้ลูกหนี้เซ็นมอบอำนาจ แล้วจงใจปล่อยให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ตรงระยะเวลาที่กำหนด จนทำให้ดอกทบสูงจนไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ก็มักถูกเจ้าหนี้นำดอกและสินทรัพย์มาแปลงให้กลายเป็นหนี้ในระบบ โดยเจ้าหนี้ก็จะแอบนำไปจดจำนองโดยลูกหนี้ไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็บังคับให้ลูกหนี้จดจำนองภายหลัง” เธอเล่าเบื้องหลังเบื้องลึก

ทางออกของปัญหานี้ เพ็ญนภาแนะว่า จำเป็นต้องมีผู้รู้หรือหน่วยงานทางกฎหมายเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางศาลระหว่างโจทย์ (เจ้าหนี้) และจำเลย (เกษตรกร) เพื่อสร้างข้อตกลงประนีประนอม หรือให้การพิพากษาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรมากที่สุด นอกจากนี้การช่วยเหลือทางคดีนี้ยิ่งเร็วยิ่งมีประสิทธิภาพ

ปรับภูมิทัศน์ใหม่ ปรับหนี้

อีกมุมมองหนึ่งจาก เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชากรอิสระ ได้ร่วมเสนอแนวทางการจัดปรับภูมิทัศน์และความสัมพันธ์ใหม่ในระบบการผลิตและตลาดสู่วิถีอินทรีย์แก่ชาวนาที่มีหนี้สิน  โดยกล่าวว่า เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ และเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเกษตรกรกับสังคม ผู้ประกอบการ การตลาด ชุมชน หรือ ผู้บริโภค เป็นต้น

โดยบทเรียนจากกรณีศึกษาที่ตนเองได้ทำการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเกษตรกร 3 กลุ่มที่เคยมีหนี้สินมาก่อน ได้ข้อสรุปว่าหากเกษตรกรที่เป็นหนี้สินอยากจะออกจากวงจรหนี้หรือแก้ปัญหาหนี้ให้เบาลง จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการหรือมีศักยภาพดังนี้

“เกษตรกรทำนาสามรอบ แต่ไม่รวย กลับมีแต่เพิ่มหนี้จากต้นทุน เพราะไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ เกษตรกรที่มีหนี้ควรเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน เพราะจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง ส่วนการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรต้องมีการสร้างทางเลือกที่อาชีพหลากหลาย หรือมากกว่าทางเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ ปลูกชนิดอื่น หรือไปทำอาชีพเสริมอื่น แปรรูปการเกษตร เป็นต้น รู้จักการบริหารการใช้ประโยชน์ที่ดินนอกจากนี้เกษตรกรต้องมีความสามารถทำการตลาดได้เอง และชาวนาต้องเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรอง ต้องรวมกลุ่ม ต้องมีความเข้มแข็ง”

สำหรับการปรับตัวสู่ระบบการผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ จะเป็นหนทางช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพราะลดการใช้สารเคมีทำให้ช่วยลดต้นทุนได้  

“เกษตรกรควรพัฒนาช่องทางการตลาดเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากตลาดในชุมชนเองได้ เพราะคนในชุมชนเองก็มีต้องการอาหารปลอดภัย รวมถึงหาตลาดเทศกาล เชื่อมโยงเอกชน ภาครัฐ ออนไลน์ หรือระบบสมาชิก พรี ออร์เดอร์ เป็นต้น”

บุญชู มณีวงษ์ กลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช เผยถึงชีวิตหนี้ของตนว่า เกิดจากการทำเกษตรที่ได้ผลผลิตไม่แน่นอน บางปีประสบปัญหาภัยแล้ง เพลี้ยแมลงลง ระยะหลังทำแล้วขาดทุนหมดทุกรอบ จนต้องเผชิญปัญหาหนี้สิน ซึ่งเริ่มจากการเป็นหนี้ ธกส. แล้วไปกู้หนี้นอกระบบทำให้เพิ่มหนี้จากสองแสนเป็นห้าแสน หลังมีหนี้สินมากมาย บุญชูดตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาปลูกข้าวหอมมะลิแทน รวมถึงหาทางช่องทางสร้างรายได้เสริมทั้งขายยำ ขายอาหาร มะม่วง ขนมปัง ทำทุกอย่างเพื่อปลดหนี้

“ ตอนที่ปลูกข้าว กข แม้ผลผลิตต่อไร่เยอะกว่าแต่ราคาตกต่ำ ปลูกข้าวหอมมะลิได้น้อยกว่า แต่หอมมะลิขายได้ราคาดีกว่า เพราะขายปลีกเพื่อนบ้านในชุมชน พอลูกเรียนจบทำงาน ก็มาช่วยเราผ่อนหนี้สินก็เลยดีขึ้น”

สุนทร คมคาย เป็นเกษตรกรอีกรายที่มีหนี้สินล้นตัว เขาสารภาพว่าเคยเป็นหนี้สูงถึงสามล้านบาท

“เราทำไร่อ้อย มันสำปะหลัง ต้องลงทุนเครื่องจักร จึงไปกู้เงินมาเพื่อซื้อเครื่องจักร”

แต่หลังเผชิญหนี้หนัก ความคิดเขา “เปลี่ยน” สุนทรหันมาสู่วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ทั้งทำนาอินทรี เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ปลูกสมุนไพรส่งให้ทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศฯ ทำให้เขาสามารถค่อยปลดปลงหนี้ที่มีได้มากขึ้น

“เรามีช่องทางมากขึ้นในการสร้างรายได้ การหันมาวิถีอินทรีย์มีความเสี่ยงปัญหาผลผลิตน้อยลง การทำเกษตรอินทรี ผสมผสานทำให้มีรายได้ทั้งรายปี รายเดือนและรายวัน แตกต่างกับการปลูกพืชไร่ ที่ได้เป็นงวด”

สุนทรแนะนำเพื่อนเกษตรกรว่า การทำเกษตรต้องมีหลายช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยง

“การทำตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ เกษตรกรควรรู้ว่าควรปลูกอะไรแล้วจะขายได้แน่นอน ราคาแค่ไหน ที่สำคัญการเป็นเกษตรกรมันแตกต่างกับการทำงานในเมือง เป็นเกษตรกร ต้องใช้จ่ายพอเพียง จะใช้แบบเดิมไม่ได้”

  161519293522

หา “หลังพิง” ให้เกษตรกรไทย

เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์เสริมว่า เมื่อก่อนการกู้ค้ำประกันกลุ่ม สามารถช่วยไห้เกษตรกรหันมากู้ในระบบมากขึ้น แต่ด้วยสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป อาจกลายเป็นภาระหนี้ข้ามรุ่น ส่งต่อหนี้ถึงลูกหลาน เห็นได้ว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเกษตรกร เรื่องระยะสั้นหรือส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจประเทศระยะยาว

ดร.เดชรัตนำเสนอแผนการฟื้นฟูและแก้ปัญหาเกษตรกรผู้เผชิญหนี้  3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกต้องมีการเปลี่ยนกติกาใหม่ให้มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกรลูกหนี้มากขึ้น เช่น ควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยปรับหรือผิดชำระใหม่จากเดิมที่ไม่เกินร้อยละ 15 มาเป็นการบวกเพิ่มไม่เกินร้อยละ 1-3 จากอัตราดอกเบี้ยเดิมเท่านั้น

หรือควรปรับระบบหักดอกเบี้ย มาเป็นการหักในสัดส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลดลงพร้อมกันทุกครั้ง เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจชำระหนี้

ขั้นตอนที่สอง ควรเกิดการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกลไกปกติ แต่ปัจจุบัน แต่ละปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์มีคดีหนี้สินพักชำระหนี้อยู่ประมาณ 3,000,000 ราย มี 800,000 รายที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูรายได้ หรือประมาณ 28% แต่ธกส. ช่วยได้เพียง 40,000 ราย ส่วนเกษตรกรที่เข้าโครงการของกองทุนฟื้นฟูประมาณ 500,000 ราย ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยได้แล้ว 30, 000 ราย ซึ่งแม้จะช่วยเต็มที่ แต่จะเห็นว่าความสามารถในการช่วยเหลือไม่เพียงพอกับขนาดปัญหา ดังนั้นควรมองหาว่าทำอย่างไรที่จะช่วยให้ได้มากขึ้น

ขั้นตอนที่สาม การเพิ่มทางเลือกและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร ทางหนึ่งคือการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ เช่น มีกองทุนฟื้นฟู หรือกลไกอื่นก็ได้จะเข้ามาซื้อหนี้จากเจ้าหนี้เดิม ปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างการผลิต ส่วนเกษตรกรและทายาทที่ไม่ประสงค์จะทำเกษตรกรในเกษตรในที่ดินนั้นแล้ว ทางเลือกคือให้นำที่ดินเขาที่มีอยู่มาเช่าที่ดินหรือใช้ประโยชน์ที่ดินในระยะยาว อาทิ ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าเนื้อไม้ในระยะยาว หรือการขายแบบผ่อนชำระที่เรียกว่า Reverse Mortgageให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นทางเลือกในการรักษาที่ดินแปลงนั้นเผื่อไว้ในอนาคต ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินจำเป็นต้องมีการสร้างงานขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้

“ที่จริงเกษตรกรกลุ่มนี้มีหนี้โดยเฉลี่ยประมาณ 68,000 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้จะอยู่ที่ 400,000 บาทโดยเฉลี่ย ควรใช้วิธีการสร้างงานใหม่ที่มีรายได้แน่นอนและมีความเสี่ยงต่ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ให้กับกลุ่มนี้ เช่น การเพาะกล้าไม้ กิจการทางเลือก ในกองทุนหรือ การดูแลผู้สูงอายุ จ้างติดโซล่าเซลล์ เป็นต้น สำคัญที่สุด สามขั้นตอนนี้ รัฐบาลควรเข้ามาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นจริง” ดร.เดชรัตกล่าวทิ้งท้าย