นวัตกรรมสร้างสุขภาพ ‘เปลี่ยนฝุ่นควัน เป็นถ่าน’ จาก เทศบาลตำบลปิงโค้ง

นวัตกรรมสร้างสุขภาพ ‘เปลี่ยนฝุ่นควัน เป็นถ่าน’ จาก เทศบาลตำบลปิงโค้ง

ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 กลายเป็นอีกปัญหาสุขภาพที่คนไทยต้องเผชิญและยิ่งวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี เทศบาลตำบลปิงโค้ง เชียงใหม่ ได้ค้นพบวิธีลดฝุ่นนี้โดย “เปลี่ยนฝุ่นควัน เป็นถ่าน” ด้วยการนำซังข้าวโพดมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน

หากพูดถึงปัญหาฝุ่นควัน หนึ่งในจังหวัดที่ต้องเผชิญปัญหาฝุ่นควันในระดับสูงทุกปี ต้องนึกถึง “เชียงใหม่” ในทุกช่วงฤดูหนาวจนถึงหน้าร้อนกว่าสิบปีทีผ่านมา คนเชียงใหม่ต้องเผชิญค่าฝุ่นควัน PM 2.5 พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานหลายเท่าตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบางปีมีค่า PM 2.5 สูงถึง 500-600 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แม้ปัญหาฝุ่นควันวันนี้จะยังไม่คลี่คลายอย่างที่หวัง แต่ทุกภาคส่วนต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต่างพยายามร่วมกันหาทางแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น

หนึ่งตัวอย่างความพยายามจากพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่อาจเป็นกรณีศึกษาต้นแบบให้พื้นที่อื่นนำไปประยุกต์ใช้ เมื่อเทศบาลตำบลปิงโค้ง เชียงใหม่ ค้นพบวิธีลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการนำซังข้าวโพดมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน ช่วยลดการเผาในที่โล่งได้ถึง100%

ก้าวแรกเริ่มจากการสำรวจพื้นที่และสรุปสถานการณ์ปัญหา ทำให้เทศบาลตำบลปิงโค้งพบว่า การเผาซังข้าวโพดเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นควันในชุมชน เพราะที่นี่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมากถึง 20,000 ไร่ ทำให้เกิดซังข้าวโพดมากถึง 3 ล้านกิโลกรัม และเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเผาทำลาย

ลภัสรดา รติกันยากร นักบริหารงานสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และนักวิชาการโครงการสร้างระบบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า เทศบาลตำบลปิงโค้ง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา PM 2.5 มาตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาร่วมมือกับชุมชน หาวิธีกำจัดซังข้าวโพดเพื่อลดการเผาที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยคิดค้นนวัตกรรรมถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดขึ้น

161364538564

ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด” เริ่มจากการนำซังข้าวโพดไปเผาในถังปลอดควันขนาด 200 ลิตร จะได้ “ถ่านขี้แมว” จากนั้นนำถ่านดังกล่าวไปบด เพื่อให้ได้ผงถ่าน ก่อนจะนำมาไปผสมกับแป้งมันและน้ำเปล่า แล้วอัดเป็นก้อน อบให้แห้งในโรงอบแสงอาทิตย์ก็จะได้ถ่านคุณภาพสูง ไร้กลิ่น ไร้ควัน ให้ความร้อนคงที่ ใช้เพียง 3-4 ก้อนก็สามารถใช้งานได้นานถึง 2-3 ชั่วโมง

สำหรับโรงงานผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดต้นแบบของเทศบาลตำบลปิงโค้ง มีกำลังการผลิตที่ 300 กิโลกรัมต่อวัน ขายในราคากิโลกรัมละ 20 บาท

ซังข้าวโพดในเขตตำบลปิงโค้ง มีมูลค่าและราคา ชาวบ้านสามารถรวมกลุ่มกันตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดได้แล้ว 1 แห่ง และมีเอกชนเข้ามากว้านซื้อซังข้าวโพดในพื้นที่ราคา 1 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อนำไปผลิตเป็นถ่านอัดแท่งโดยใช้นวัตกรรมเดียวกับของเทศบาลตำบลปิงโค้งด้วย จึงช่วยลดการเผาในที่โล่งได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลังจากชาวบ้านปรับพฤติกรรมจากการเผา นำมาขายแทน สามารถส่งผลบวกต่อสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน

“หลังจากมีการพัฒนาโรงงานถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว พบว่าค่าก๊าซที่ปล่อยออกมาจากขบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงสนับสนุนให้โรงงานของเราเป็นนวัตกรรมต้นแบบด้านพลังงานชีวมวล” ลภัสรดา กล่าว

ทุกวันนี้โรงงานผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดของเทศบาลตำบลปิงโค้ง ได้ยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ถ่านอัดแท่ง มีองค์กรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนมาก พร้อมกันนั้นแนวคิดเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ก็ได้ขยายไปสู่ชุมชน มีการลดการเผา โดยเก็บเศษไม้ใบหญ้าไปใส่ในเสวียนเพื่อเป็นปุ๋ยหมักอีกทาง