โค้งสุดท้ายปี 2563 กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และแนวโน้มการส่งออกของไทยปี 2564

โค้งสุดท้ายปี 2563 กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และแนวโน้มการส่งออกของไทยปี 2564

เรากำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 ปีแห่งการปรับตัวของทุกภาคส่วนทั่วโลกจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศในหลากหลายมิติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในปีนี้รัฐบาลแต่ละประเทศต่างพยายามดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคธุรกิจต้องวางกลยุทธ์เพื่อพยุงกิจการให้ผ่านพ้นวิกฤต รอช่วงที่เศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้งในปี 2564 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มกลับมาเดินหน้าและวิกฤตต่าง ๆ จะคลี่คลาย โดยเฉพาะหลังจากมีข่าวว่าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 คืบหน้าไปมาก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะพื้นฐานทางเศรษฐกิจและความสามารถของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลมูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกทั้งปี 2563 จะหดตัวราว 7% ในวันนี้สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากล่าสุดที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตในบางอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ก็อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอีกด้วย ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะสม รวมทั้งระมัดระวังและติดตามสถานะทางการเงินของคู่ค้าอย่างรอบคอบ โดยอาจเพิ่มการทำประกันการส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระค่าสินค้า

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยในปี 2564 จะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ระดับ 2.5-4% โดยโอกาสของผู้ส่งออกไทยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละตลาด ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์มูลค่า GDP ในปี 2564 ของ 195 ประเทศ/ดินแดน ว่า มี 60 ประเทศ/ดินแดน หรือราว 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่มูลค่า GDP ในปี 2564 จะสูงกว่าหรือเท่ากับปี 2562 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้าของตลาดเหล่านี้มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 9 ตลาดที่เป็นตลาดส่งออก 20 อันดับแรกของไทย ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เกาหลีใต้ และไต้หวัน สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตลาดเหล่านี้ ได้แก่ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์รักษาและบำรุงผิว ผลไม้สด ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องดื่ม

ในปี 2564 ที่จะมาถึง ผู้ประกอบการไทยควรวางกลยุทธ์บุกตลาดส่งออกดังกล่าวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยสังเกตว่าส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งล่าสุดการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้กลายเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยความตกลงดังกล่าวถือเป็นกรอบการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้ามตลาดที่อาจฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และแคนาดา ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ แต่ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในช่วงก่อนเข้าสู่วิกฤต และศักยภาพของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้ภายในปี 2565 นอกจากนี้ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รุดหน้าไปมากจะกลายเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศดังกล่าวอาจฟื้นตัวได้เร็วกว่าปี 2565

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังไม่จบสิ้น และอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยยุคใหม่ต้องมีความยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตามวิถีใหม่ (New Normal) กล่าวคือ

  • New Frontiers การมองหาโอกาสในตลาดใหม่ ๆ ควบคู่กับการรักษาตลาดเดิม เพื่อสร้างสมดุลกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในตลาดใดตลาดหนึ่ง
  • Online Marketplace การมองหาแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ในการค้าขายระหว่างประเทศ เป็นการ สร้างทางรอดของธุรกิจ ท่ามกลางกระแส Social Distancing และ Stay at Home
  • Risk Management การบริหารความเสี่ยง เพื่อมิให้กระทบรายรับและรายจ่ายของธุรกิจ ผู้ส่งออกควรใช้ เครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ซื้อ และประเทศผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถนำทรัพยากรทั้งหมดไปใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและ          สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างเต็มกำลัง
  • Megatrends กระแสนิยมใหม่ ๆ ที่จะเกิดมากขึ้นในหลายมิติ โดยเฉพาะที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากกระแส Social Distancing ทั้งกระแส Work from Home การสั่งของออนไลน์ กระแสใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยที่มีมากขึ้น หากผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้ตอบสนอง Megatrends เหล่านี้ได้ จะช่วยรักษาหรือเพิ่ม Margin ให้กับสินค้าได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
  • Automation ผู้ประกอบการอาจต้องเริ่มปรับกระบวนทัพในบางขั้นตอนด้วยการนำระบบ Automation หรือเครื่องจักรมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การจัดการคลังสินค้า การตลาด รวมถึงการชำระเงิน ซึ่งแม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในระยะสั้นของผู้ประกอบการ แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของกิจการในระยะยาว
  • Liquidity การเตรียมเงินทุนและสภาพคล่องให้พร้อมทุกสถานการณ์ โดยวางแผนธุรกิจ มองหาแหล่งเงินทุนทางเลือกที่มีต้นทุนเหมาะสม การหมั่นตรวจสอบสถานะการเงินและสภาพคล่องของกิจการเป็นประจำ รวมทั้งสำรองเงินสดสำหรับกรณีฉุกเฉินด้วย

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า EXIM BANK ก็เช่นกัน ธนาคารไม่หยุดที่จะพัฒนาและปรับตัว ท่ามกลาง Disruption ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค กระแสความใส่ใจและความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น บริการประกัน Single Shipment Insurance การเชื่อมโยง Big Data/Business Intelligence กับหน่วยงานภาครัฐ การพัฒนาศักยภาพในการสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ การพัฒนาระบบงานที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้บริการลูกค้า การสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาองค์กรให้ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานด้วยการเป็น Smart Office เป็นต้น

ในวันนี้ EXIM BANK ยังมุ่งมั่นทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการในธุรกิจการค้าและการลงทุน เพื่อการพัฒนาประเทศ ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างไม่สะดุดในรูปแบบบริการที่ Tailor-made ตามความต้องการของกิจการ ทั้งการ “ส่งเสริม” ให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพียงพอและมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง “ผ่อนปรน” เงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการชำระเงินต้นได้หมด รวมทั้งสามารถขอสินเชื่อเพิ่มได้ “ขยายระยะเวลาการชำระคืนหนี้” เพื่อรอให้กิจการผ่านพ้นวิกฤต ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วน รวมทั้ง “ประคับประคอง” กรณีผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพื่อชะลอการเกิดหนี้ NPLs

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีมาตรการของขวัญปีใหม่ ปี 2564 เพื่อช่วยผู้ประกอบการทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจส่งออกและผู้ประกอบการ SMEs ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม มีต้นทุนต่ำลง โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินสินเชื่อที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงบริการประกันการส่งออกและบริการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อได้ง่ายขึ้น เพื่อความมั่นใจในการค้าขายระหว่างประเทศแม้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สนใจขอรับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 สอบถาม โทร. 0 2617 2111 ต่อ 3510-2

“ในวิกฤตโควิด-19 EXIM BANK เป็นธนาคารแรกที่ติดต่อไปยังลูกค้าทุกราย เพื่อสอบถามความต้องการความช่วยเหลือและเร่งช่วยเหลือ เยียวยา ในรูปแบบการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยและให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และขยายบริการประกันการส่งออก เพื่อช่วยให้ธุรกิจเดินต่อไปได้และไม่สะดุดจากความเสี่ยงด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จนถึงวันนี้เรายังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยืนเคียงข้าง นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจระหว่างประเทศสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้วิถีชีวิตใหม่ รวมทั้งโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่จะเข้ามาในปี 2564 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” นายพิศิษฐ์กล่าว

                                                           

25 ธันวาคม 2563