10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ" พลิกเรือนจำเป็นโรงเรียนสร้างโอกาส

10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ" พลิกเรือนจำเป็นโรงเรียนสร้างโอกาส

"เส้นทางของ 'ข้อกำหนดกรุงเทพ' เกิดขึ้นจากการที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปเยี่ยมผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ทรงเห็นถึงสภาพปัญหาต่าง ๆ ของผู้ต้องขังหญิง เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจากสหรัฐอเมริกากลับมาทรงงานที่ประเทศไทย ก็ได้ทรงริเริ่มโครงการกำลังใจในพระดำริฯ เริ่มจากการดูแลผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ และเด็กที่ติดผู้ต้องขังหญิง พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่านมผง ผ้าอ้อม และปรับสถานที่ให้ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์หรือมีทารกติดมามีพื้นที่ส่วนตัวที่จะดูแล ให้แม่และเด็กได้มีโอกาสอยู่ด้วยกัน"

นี่คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" หรือ Bangkok Rules ของสหประชาชาติ ซึ่งหมายถึง "ข้อกำหนดว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง" ตามที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ และเป็นอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเอาไว้ระหว่างกล่าวเปิดงาน "ก้าวสู่ 10 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ : ร่วมจุดประกายพลังแห่งความร่วมมือทางสังคม"

จากโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ ที่ได้ทรงนำไปแสดงที่สหประชาชาติ เพื่อย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการที่ต้องให้ความสำคัญในการดูแลผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะเรื่อง "เพศสภาวะ" และ "ความเป็นอยู่" ของผู้หญิงที่แตกต่างจากผู้ชายอย่างสิ้นเชิง ทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงปัญหาของผู้ต้องขังหญิง ซึ่งเป็น "กลุ่มที่ถูกลืม"
ในกระบวนการยุติธรรม และเริ่มมองเห็นถึงความทุกข์ยากของกลุ่มผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากไม่ใช่เฉพาะไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ทว่าทั้งโลกกลับไม่มีมาตรฐานการปฏิบัติที่เป็นดั่ง best practice

ความสำเร็จของโครงการกำลังใจฯในสหประชาชาติ ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากนานาชาติ จึงพระราชทานแนวทางให้กระทรวงยุติธรรมริเริ่มยกร่าง "มาตรฐานที่ดี" หรือ good practice ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง จากนั้นทรงเป็นองค์ประธานในการรณรงค์ไปในทวีปต่างๆ ทั่วโลก

ในที่สุดหลังจากใช้เวลากว่า 2 ปี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2553 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติก็ให้การรับรองมาตรฐานนี้ พร้อมให้เกียรติประเทศไทยในการใช้ชื่อเมืองหลวงของประเทศเป็นชื่อเรียกมาตรฐานนี้ว่า "ข้อกำหนดกรุงเทพ"

10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ\" พลิกเรือนจำเป็นโรงเรียนสร้างโอกาส

ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า ในวาระ 10 ปีของ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" ได้มีการจัดทำโครงการ "Every Step Together : ก้าวที่ไม่โดดเดี่ยว" เพื่อระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการให้โอกาสกับผู้ต้องขังที่พ้นโทษได้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ เพราะบทบาทของเรือนจำ นอกจากจะต้องมีข้อปฏิบัติพิเศษสำหรับดูแลผู้ต้องขังหญิงซึ่งแตกต่างจากผู้ต้องขังชายอย่างมากแล้ว ยังต้องมีการสร้าง "จุดเปลี่ยน" ให้ผู้ต้องขังมีชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อพ้นโทษออกไปด้วย

ฉะนั้นโจทย์สำคัญที่จะต้องดำเนินการต่อไปในอนาคตก็คือ การส่งเสริมนวัตกรรมในการช่วยเหลือผู้ต้องขัง
ซึ่ง "นวัตกรรม" ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความถึงแค่สิ่งประดิษฐ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

นวัตกรรมที่เป็นหัวใจของความสำเร็จของข้อกำหนดกรุงเทพในทางปฏิบัติคือต้อง "ปรับวิธีคิด และเปลี่ยนวิธีการ"

ปรับวิธีคิดคือต้องมองว่าเรือนจำไม่ใช่สถานที่ในการลงโทษ แต่เป็นสถานที่ในการให้โอกาส ให้คนก้าวพลาดเริ่มต้นชีวิตใหม่

เปลี่ยนวิธีการคือต้องเปลี่ยนจากราชทัณฑ์ทำเอง เป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางสังคม หรือ social partnership ให้หลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วยกัน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ และเสริมทักษะอาชีพให้กับผู้ที่ก้าวพลาด อันเป็นจุดแข็งของสังคมไทย และเป็นจุดที่เริ่มจากโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ ต่อยอดมาถึง "ข้อกำหนดกรุงเทพ"

"หลังจากมี 'ข้อกำหนดกรุงเทพ' ประเทศไทยทำงานมาเรื่อยๆ จนมีเรือนจำต้นแบบแล้ว 15 แห่ง และกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค นำบุคลากรด้านราชทัณฑ์จากต่างประเทศมาศึกษาเรียนรู้ว่าไทยทำอย่างไร และวันนี้จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของโครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ เรามีพันธมิตร social partnership อย่างน้อย 30 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามาช่วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง"

10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ\" พลิกเรือนจำเป็นโรงเรียนสร้างโอกาส

"ฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงจาก 'ข้อกำหนดกรุงเทพ' จึงอยู่ที่การปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ สร้างสังคมแห่งการให้โอกาส ซึ่ง TIJ เป็นหน่วยงานหลักที่มีพันธกิจในการขับเคลื่อนให้ 'ข้อกำหนดกรุงเทพ' ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค รวมถึงระดับนานาชาติ" ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

ผลที่ได้รับจากการใช้ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" นอกจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ต้องขัง และทักษะในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษแล้ว ยังมีแนวโน้มทำให้จำนวนผู้กระทำผิดซ้ำลดลง อันจะส่งผลต่อเนื่องถึงการลดความแออัดในเรือนจำได้อีกด้วย

เพราะต้องไม่ลืมว่าปัญหา "นักโทษล้นคุก - ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ" เป็นปัญหาใหญ่ของราชทัณฑ์ไทย ทั้งยังพบว่าผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงที่ได้รับการปล่อยตัว มีถึงร้อยละ 33 ที่กระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปี ถือเป็นวิกฤติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขให้สำเร็จ

นี่คือคุณูปการของ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" ซึ่งประเทศไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ TIJ จะขับเคลื่อนงานนี้ต่อไป เพื่อแปรไปสู่ภาคปฏิบัติในระดับสากลอย่างแท้จริง.