จากภารกิจสุดท้ายของเรือหลวง สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทรงคุณค่าใต้ผืนทะเลไทย

จากภารกิจสุดท้ายของเรือหลวง สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทรงคุณค่าใต้ผืนทะเลไทย

ปัญหาที่เกิดขึ้นใต้ท้องทะเลอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลายคน การฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืนนั้นยิ่งดูเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ดูจะใหญ่เกินกำลังนี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความร่วมมือจากหลายภาคส่วนนี้สร้างผลลัพธ์ที่นอกจากจะคืนความสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลอย่างยั่งยืนได้สำเร็จแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมกันได้อีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2553 เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงเกิน 30.5 องศาเซลเซียสติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” (Coral Bleaching) เมื่อน้ำทะเลร้อน ปะการังตาย ผลกระทบจึงส่งต่อเป็นลูกโซ่แก่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะแนวปะการังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และแหล่งหลบภัยของสัตว์ทะเล ซึ่งเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศของธรรมชาติใต้ท้องทะเล มาจนถึงมนุษย์ ซึ่งอาศัยพึ่งพาทะเลทั้งการประมงและการท่องเที่ยว เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสร้างอาชีพ และรายได้ของคนจำนวนมาก

จากภารกิจสุดท้ายของเรือหลวง สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทรงคุณค่าใต้ผืนทะเลไทย

หนึ่งในแนวคิดเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้ประชุมร่วมกันที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปีนั้น คือ “การสร้างแหล่งดำน้ำโดยมนุษย์” (Man-made dive sites) เพราะจากการศึกษาพบว่าหากแนวปะการังบริเวณใดได้รับความนิยมในการดำน้ำมาก ผลกระทบต่อปะการังย่อมสูงตามไปด้วย ขณะที่การปิดจุดดำน้ำหรือประกาศห้ามการท่องเที่ยวตามแนวปะการังก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนในท้องถิ่นและธุรกิจท่องเที่ยวด้วย ดังนั้น หากสามารถสร้างแหล่งดำน้ำทดแทนได้ ก็จะช่วยลดผลกระทบต่อแนวปะการังธรรมชาติให้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลไทย ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนให้เกิดโครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล โดยการศึกษาและพัฒนาการนำเรือรบหลวงมาจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเล ที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กองทัพเรือ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตัวแทนผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่ และภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภารกิจครั้งนี้ ปตท.สผ. ได้รับการสนับสนุนเรือหลวง 2 ลำ จากกองทัพเรือ คือ เรือหลวงปราบ และ เรือหลวงสัตกูด

ด้วยเกียรติภูมิและขนาดของเรือเหมาะสมสำหรับการนำมาวางเป็นปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งดำน้ำสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญของการเลือกพื้นที่วางเรือ คือต้องช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับแนวปะการังได้จริง และเป็นแหล่งที่นักดำน้ำสามารถเดินทางมาได้สะดวก และไม่ไกลจากแนวปะการังธรรมชาติ ซึ่งไม่ไกลจากจุดท่องเที่ยวเดิมมากนัก จากการศึกษาทั้งสภาพกระแสน้ำ ความขุ่นของน้ำ ลักษณะของพื้นท้องทะเล และจำนวนชนิดของสัตว์น้ำต่างๆ จึงกำหนดตำแหน่งวางเรือที่ เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเกาะง่ามน้อย จังหวัดชุมพร

จากภารกิจสุดท้ายของเรือหลวง สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทรงคุณค่าใต้ผืนทะเลไทย

ที่เกาะเต่า จุดวางเรือคือบริเวณใกล้กองหินขาว  ซึ่งเป็นจุดดำน้ำสำคัญทางทิศตะวันตกของเกาะ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เกาะติดจำนวนมาก เช่น ปะการัง เห็ดทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ปะการังดำฟองน้ำ ฯลฯ ส่วนที่ เกาะง่ามน้อย เป็นเกาะสัมปทานนกนางแอ่นมีผาหินปูนสูงชัน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาจำนวนมหาศาล และเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่มีชื่อเสียงในพื้นที่

หลังจากการวางเรือหลวงทั้ง 2 ลำในปี 2554 แล้ว ได้ทำการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งผลการศึกษายืนยันว่าไม่พบผลกระทบต่อพื้นท้องทะเล สำหรับสัตว์เกาะติดและปลาทะเลยังคงมีสภาพเดิมรวมทั้ง ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสัตว์เกาะติดและประชากรปลา หลังจากผ่านไป 1 ปี พบว่ามีปลาเพิ่มมากกว่า 40 ชนิด และปัจจุบัน พบว่ามีชนิดของปลาเพิ่มขึ้น 60-70 ชนิด โดยเฉพาะบริเวณ เรือหลวงปราบ จะพบฉลามวาฬได้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับสัตว์เกาะติด มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ฟองน้ำเคลือบ และปะการังดำซึ่งเป็นสัตว์พันธุ์เด่น (Dominant Species)

จากภารกิจสุดท้ายของเรือหลวง สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทรงคุณค่าใต้ผืนทะเลไทย

นอกจากนี้ ในด้านการศึกษาด้านการใช้ประโยชน์และการจัดการแหล่งดำน้ำเรือหลวง พบว่าการนำเรือหลวงมาวางเป็นแนวปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งดำน้ำแทนแนวปะการังธรรมชาตินั้น ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ทุกเช้าบ่ายจะมีเรือหลายลำแวะเวียนมาจอด นำนักท่องเที่ยวมาดำน้ำชื่นชมความงดงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเล รวมถึงนักเรียนดำน้ำที่เข้ามาใช้เป็นสนามสอบดำน้ำอีกด้วย

ปัจจุบัน เรือหลวงปราบและเรือหลวงสัตกูด ได้กลายเป็นแหล่งดำน้ำที่คนทั่วโลกรู้จัก ความอุดมสมบูรณ์ของบรรดาสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดที่เข้ามาอาศัยบริเวณเรือ ช่วยพัฒนาให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ปีละกว่า 59 ล้านบาท และกลายเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ในการอนุรักษ์ทะเลต่อไปในอนาคต นับเป็นความภาคภูมิใจของ ปตท.สผ. ที่ผลลัพธ์โครงการที่ไม่ได้เพียงฟื้นฟูและรักษาทะเลไทยได้ตามความมุ่งหมายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชุมชนโดยรอบเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กันอีกด้วย