บีโอไอเร่งสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อลงทุน หนุนไทยสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

บีโอไอเร่งสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อลงทุน หนุนไทยสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และระบบสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการอุปกรณ์ ชิ้นส่วนที่จำเป็นในอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างมหาศาล เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนในหลายประเทศ

บีโอไอตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนหลายด้านเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างเร่งด่วน โดยที่ประชุมบอร์ดบีโอไอเมื่อเดือนเมษายน 2563 มีมติออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ ได้แก่ มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อรับมือกับโควิด-19เช่น การผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล มาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และการปรับสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น แอลกอฮอล์ทางการแพทย์ และ Non – Woven Fabricเป็นต้น

บีโอไอเร่งสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อลงทุน หนุนไทยสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

มาตรการดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยในช่วง 9 เดือน (มกราคม กันยายน 2563) ของปีนี้ มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ จำนวน 65 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 132 เงินลงทุนรวม 14,710
ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้น แม้จะมีความชัดเจนเรื่องการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในบางประเทศ แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มีกว่า 7,000 ล้านคนทั่วโลก การเข้าถึงวัคซีนอาจมีปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ซึ่งแต่ละประเทศต้องเตรียมแผนรับมือ รวมทั้งประเทศไทย

บีโอไอเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน จึงมีนโยบายที่ให้ความสำคัญในการที่จะทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตัวเองได้ในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยเสนอมาตรการที่จำเป็นในการสร้างสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างครบวงจร เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) อย่างแท้จริง บอร์ดบีโอไอจึงมีมติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563ให้เปิดส่งเสริมการลงทุนในกิจการวิจัยทางคลินิค (Clinical Research) ซึ่งมี 2 กิจการย่อย ได้แก่ กิจการสนับสนุนและบริหารจัดการวิจัยทางคลินิค (Contract Research Organization: CRO) และศูนย์การวิจัยทางคลินิก (Clinical Research Center: CRC) โดยทั้ง 2 กิจการจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษี

บีโอไอเร่งสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อลงทุน หนุนไทยสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร รองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 โดยอนุมัติเปิด 2 ประเภทกิจการใหม่ ได้แก่ 1) กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และ 2) กิจการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี

ปัจจุบัน บีโอไอมีประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการทางการแพทย์กว่า 20 ประเภทกิจการ ทั้งกิจการผลิต (Manufacturing) และบริการ (Services) แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา กลุ่มเครื่องมือแพทย์ กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มบริการทางการแพทย์ และกลุ่มวิจัยและพัฒนา ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ด้วย

ทั้งนี้ จากการที่บีโอไอได้มีการประชุมหารือกับบุคลากรในวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดการปรับปรุงนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตอาจมีการพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการใหม่ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาให้เกิดการต่อยอดในอุตสาหกรรมการแพทย์ และหากเป็นกิจการเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ จะช่วยสนับสนุนการสร้าง Ecosystem ที่จำเป็นต่อการเป็น Medical Hub ของประเทศไทย เช่น กิจการบริการเดลิเวอรี่ทางการแพทย์ การผลิตไบโอพอลิเมอร์สำหรับการแพทย์ เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างกิจการที่บีโอไอให้การส่งเสริมฯ และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย เช่น บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และบริษัท แนบโซลูท จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub)

บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ โดยทำการวิจัยและพัฒนาการผลิตโปรตีนจากใบพืชเพื่อนำมาต่อยอดผลิตเป็นยาและวัคซีน กิจการของบริษัทใบยาใช้เงินลงทุนไม่สูง แต่สิ่งที่ได้รับคือองค์ความรู้ ที่มีค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก ทั้งนี้ บริษัทใบยาต้องการเป็นผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการพัฒนาต้นแบบวัคซีนโควิด-19ปัจจุบันมี 6 ชนิด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบในสัตว์ทดลอง และมีแผนทดลองในมนุษย์ช่วงกลางปี 2564 ถ้าได้ผลสำเร็จคาดว่าจะสามารถผลิตเป็นวัคซีนให้คนไทยได้ใช้ในช่วงต้นปี 2565

บีโอไอเร่งสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อลงทุน หนุนไทยสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

บริษัท แนบโซลูท จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ใน 2 เรื่อง คือ 1) การทดสอบประสิทธิภาพของชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ในการป้องกันเชื้อไวรัส โดยวิธีการทดสอบการทะลุผ่านของเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถทำการทดสอบได้ทั้งในรูปแบบตัวอย่างผ้าของชุด PPE หรือทดสอบทั้งชุด PPE 2) การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง ยา สารสกัด และสารออกฤทธิ์ เป็นต้น โดยใช้เทคนิคเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งในอนาคต ตลาดมีความต้องการการทดสอบด้วยเทคนิคเซลล์เพาะเลี้ยงมากขึ้น ด้วยเหตุผลด้านกฎหมาย และด้านธุรกิจ ที่บริการทดสอบด้วยเทคนิคเซลล์เพาะเลี้ยงมีค่าบริการที่ต่ำกว่าการทดสอบในสัตว์ทดลอง

ทั้งสองบริษัทถือเป็นตัวอย่างกิจการที่บีโอไอให้การส่งเสริมและสนับสนุนกิจการเริ่มต้นของคนไทยที่แม้จะใช้เงินลงทุนไม่สูง แต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการแพทย์ ที่จะนำประเทศไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติอย่างแท้จริง