RCEP ยกระดับ เพิ่มศักยภาพซัพพลายเชนในเอเชีย-แปซิฟิก

RCEP ยกระดับ เพิ่มศักยภาพซัพพลายเชนในเอเชีย-แปซิฟิก

รายงาน Goods Trade Barometer ซึ่งเป็นมาตรวัดแนวโน้มการค้าโลกที่ทันเหตุการณ์ฉบับล่าสุดขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) แสดงให้เห็นว่าปริมาณการค้าโลกลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 แม้ว่าตัวชี้วัดอื่นๆ บ่งชี้ว่าปริมาณการค้าและการผลิตในระดับโลกจะกระเตื้องขึ้นเป็นบางส่วน

ในช่วงไตรมาสที่สาม แต่ความแข็งแกร่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจใดๆ ก็ตามยังคงมีความไม่แน่นอนสูง คะแนนปัจจุบันที่ 84.5 ซึ่งต่ำกว่าค่าพื้นฐานของดัชนีที่ 100 อยู่ 15.5 คะแนน และลดลง 18.6 คะแนนจากปีก่อน ถือว่าย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก การพัฒนาการค้าระหว่างประเทศเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญถึงสภาพเศรษฐกิจโลกในอนาคต และเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บอกให้รู้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจรอบใหม่กำลังจะเกิดขึ้น

การลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) จะเป็นแรงกระตุ้นใหม่ให้การค้าโลกฟื้นตัวภายหลังจากภาวะโรคระบาด ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสนับสนุนให้มีการกำหนดเงื่อนไขที่ดีขึ้นสำหรับทุกฝ่าย เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการค้าเป็นไปอย่างยั่งยืน

ข้อตกลงที่เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิก RCEP มีความแตกต่างกันทั้งในด้านระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ รูปแบบการแข่งขันในตลาด ระบบกฏหมายและด้านอื่นๆ การที่ยังไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการที่ระบุถึงบทบาทของแต่ละประเทศที่ทำให้เกิด RCEP ในวันนี้ ทำให้อนุมานได้ว่าข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าระดับใหญ่ยักษ์ระหว่างรัฐบาลที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนี้คือผลงานที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของรัฐบาลของทุกประเทศสมาชิก

ในปี 2554 ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ได้ออกร่างความตกลง RCEP ต่อมาในปี 2556 อาเซียนได้จัดการเจรจา RCEP อย่างเป็นทางการ นับแต่นั้นเป็นต้นมา มีการจัดประชุมระดับผู้นำสี่ครั้ง การประชุมระดับรัฐมนตรีเกือบ 20 ครั้ง และการเจรจาอย่างเป็นทางการอีกกว่า 30 รอบ โดยในรอบเจ็ดปีที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศสมาชิกต่างผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่เป็นผู้นำในการดำเนินการเจรจา เพื่อให้มีการบรรลุข้อตกลงระหว่างกัน

ในเดือนสิงหาคม 2557 ในการประชุมรัฐมนตรีเพื่อหารือเกี่ยวกับ RCEP ครั้งที่สอง ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้มีการสรุปผลการเจรจาและบรรลุข้อตกลงภายในปี 2558 อย่างไรก็ดี เป็นที่แน่ชัดว่าการเจรจาในบางประเด็นมีความซับซ้อนอย่างมาก และขอบเขตที่กว้างมากก็ทำให้กระบวนการเจราจาเป็นไปอย่างล่าช้าในที่สุด จนกระทั่งในการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกในปี 2560 ที่สามารถการคลี่คลายปัญหาติดขัดในหลายๆ จุดได้ ด้วยการให้เครื่องมือสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคระหว่างหน่วยงาน และการกำหนดข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนรัฐบาลในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในรอบกว่าเจ็ดปีที่ผ่านมาล้วนไม่เคยส่งผลกระทบต่อเป้าหมายในการลงนามความตกลงนี้

แรงขับเคลื่อนตลาด

การบรรลุข้อตกลง RCEP ขึ้นอยู่กับกำลังของตลาด ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่มั่นคงสู่ความต่อเนื่องของกระบวนการ RCEP คือความตกลงทางการค้าเสรีที่ครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใกล้ชิดมานานแล้ว

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area:FTA) ระดับทวิภาคีหลายฉบับ เพื่อที่จะแก้ปัญหาการชะลอตัวของการเปิดตลาดภายหลังจากที่การเจรจาระดับพหุภาคีหยุดชะงักไป ซึ่งความตกลงเหล่านี้ทำให้เกิดเครือข่าย FTA อันกว้างขวาง ทีมีการเหลื่อมซ้อนและพัวพันกันอย่างยุ่งเหยิง จนทำให้เกิด “ปรากฏการณ์ชามสปาเก็ตตี้” (Spaghetti Bowl Effect) ซึ่งทำให้บริษัทมีต้นทุนสูงขึ้นในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า

หลายประเทศสมาชิก RCEP เลือกที่จะทำความตกลง FTA ระดับทวิภาคี แทนที่จะดำเนินการเจรจาระดับพหุภาคีซึ่งกำกับดูแลโดย WTO เพื่อให้ได้เงื่อนไขทางการค้าที่ดีขึ้นกับประเทศที่ลงนามในข้อตกลงร่วมกัน การลงนามในความตกลง RCEP จะช่วยลดความแตกต่างระหว่าง FTA ระดับทวิภาคีที่แต่ละประเทศได้ดำเนินการลงอย่างมาก ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสมาชิกของความตกลงนี้ได้รับเงื่อนไขทางการค้าที่ดีขึ้น ทั้งในด้านต้นทุนการเคลื่อนย้ายสินค้าที่ต่ำลง รวมทั้งการจัดสรรสินค้า บริการ เงินทุน บุคลากร และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เน้นจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด บนพื้นฐานของนวัตกรรม

ชัดเจนมากว่า RCEP มีความสำคัญอย่างสูง เพื่อที่จะสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ ความตกลงในด้านเศรษฐกิจและการค้านี้จะต้องมีลักษณะที่เปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งมีความลึกในรายละเอียด

การลงนามในความตกลงนี้ทำให้ผู้เจราจาจาก 15 ประเทศรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจ เพราะในที่สุดแล้วผลจากการทำงานหนักมาอย่างยาวนานก็ปรากฏ และข่าวนี้ได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ค้าและผู้ลงทุนนานาชาติที่กำลังมองหาแนวทางการค้าที่สามารถสร้างผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมได้ในทันที ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายการปกป้องทางการค้า

WTO เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 ภายใต้ความตกลงมาราเกซ (Marrakesh Agreement) และยังคงเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยสมาชิกสามัญ 164 ประเทศ และผู้สังเกตการณ์ 25 ประเทศ จุดมุ่งหมายดั้งเดิมในการก่อตั้งเวทีแห่งคือการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยีของโลก อย่างไรก็ตาม การเจรจาครั้งล่าสุดที่การประชุมรอบโดฮา (Doha Round) ซึ่งจัดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนผ่าน

สู่ศตวรรษใหม่ ได้ล่าช้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่เอื้อให้เกิดความตกลงใหม่ๆ ตามมานับตั้งแต่นั้น ฉะนั้นกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเนื้อหาและความครอบคลุมของข้อตกลงในบางภาคส่วน จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

เนื่องจากการประชุมรอบโดฮาใช้วิธี “การเจรจาแบบเบ็ดเสร็จที่ต้องจบพร้อมกันหมด” (Single Undertaking) คือ จะไม่มีการบรรลุข้อตกลงจนกว่าทุกฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันในทุกสิ่ง ดังนั้น ข้อเสนอจากหลากหลายฝ่ายในการเจรจาครั้งนี้ จึงไม่สามารถกลายเป็นข้อตกลงที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ

ตรงกันข้ามกับกฎเกณฑ์ของ WTO ความตกลง RCEP ได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการเจรจาอย่างต่อเนื่องมาตลอดเจ็ดปี โดยกฎเกณฑ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระดับพหุภาคีจะได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านการพัฒนาของทุกฝ่าย โดยพิจารณาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า รวมทั้งทิศทางของโลกในปัจจุบัน

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น  RCEP ได้ช่วยสร้างเงื่อนไขที่ดีขึ้นสำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การปิดประเทศเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดทำให้การแลกเปลี่ยนบุคลากรและกิจกรรมโลจิสติกส์ต้องหยุดนิ่ง ซึ่งกดดันให้ตลาดทั้งในฝั่งอุปสงค์

และอุปทานต้องปรับตัว เพื่อที่จะประกันว่าผู้ซื้อจะได้รับสินค้าและบริการอย่างแน่นอน พวกเขาจะมองหาภูมิภาคที่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ก่อนเสมอ เอเชียตะวันออกสามารถสร้างความสมดุลระหว่างการควบคุมโรคระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างยอดเยี่ยม

การลงนามในความตกลงนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับเอเชียตะวันอออกในฐานะผู้จัดหาสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดของสมาชิก RCEP ได้ดียิ่งขึ้น และใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพของประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ การแข่งขันและความร่วมมือของตลาดจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในตลาดของสมาชิก RCEP

อย่างไรก็ดี ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ความร่วมมือและการปรับโครงสร้างของห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่จะช่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดสรรทรัพยากร และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม

รัฐบาลจีนได้เน้นย้ำถึงแนวคิดการเปิดกว้างมาโดยตลอด โดยสนับสนุนกิจกรรมบนพื้นฐานของนวัตกรรมทุกประเภท และยังพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล แรงกระตุ้นในการพัฒนาที่เป็นผลมาจากกิจกรรมบนพื้นฐานของนวัตกรรมนี้ สามารถที่จะขยายไปสู่ตลาด RCEP ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว

เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายของ RCEP ควรจะทำความเข้าใจกับความตกลงนี้อย่างถ่องแท้ และใช้ความตกลงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหน่วยงานรัฐบาลทุกระดับ องค์กร บริษัท และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดล้วนมีบทบาทสำคัญ บริษัทจะต้องเข้าใจถึงสิทธิและโอกาสจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่ได้มาจากความตกลงนี้

ในขณะเดียวกับที่ต้องตระหนักถึงภาระผูกพันและความท้าทายที่เกิดจากความตกลงนี้เช่นกัน RCEP ก็ไม่ต่างจากความตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้ทันเวลา และพัฒนาอยู่เสมอ ด้วยการใช้ประโยชน์จากกลไกทางเศรษฐกิจและการค้าที่สามารถประกันความมั่นใจได้ สมาชิก RCEP ควรจะหมั่นติดตามผลการดำเนินงาน และปรับเปลี่ยนในสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังควรให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) และแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะช่วยกันสร้างกลไกทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์อยู่เสมอ

Zhou Mi

รองผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาและโอเชียเนีย ในสังกัด Chinese Academy of International Trade and Economic Cooperation

RCEP ยกระดับ เพิ่มศักยภาพซัพพลายเชนในเอเชีย-แปซิฟิก

RCEP เสริมสร้างเศรษฐกิจอาเซียน

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ได้มีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด RCEP ครั้งที่สี่ ซึ่งทำให้ RCEP กลายเป็นกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกประเทศที่ร่วมลงนามในความตกลงนี้ประกอบด้วย

10 ประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) เช่น บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

RCEP คือ ข้อตกลงทางการค้าที่ครอบคลุม มีประสิทธิภาพสูง และเอื้อประโยชน์ระหว่างประเทศที่ลงนามร่วมกัน โดยมีข้อตกลงในการเข้าถึงตลาดในภาคส่วนต่างๆ เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ความตกลงนี้จะช่วยลดภาษีการค้าสินค้าระหว่างประเทศที่ร่วมลงนามได้มากถึง 90 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงด้านการค้าบริการเสรีที่ให้ประโยชน์สูงกว่าความตกลงการค้าเสรีอาเซียนบวกหนึ่ง (ASEAN-plus-one Free Trade Agreements: FTAs) อย่างมาก ในด้านการลงทุนและการเข้าถึงตลาด RCEP ใช้มาตรการ Negative List Management Mode (บริการใดที่

ไม่พร้อมเปิดเสรีจะใส่ไว้ว่า “ไม่เปิดเสรี”) ในขณะเดียวกับที่วางกฎเกณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนการค้า การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อีคอมเมิร์ซ นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และปฏิบัติการอื่นๆ

การลงนามใน RCEP เป็นการสร้างการบูรณาการตลาดที่ครอบคลุมประชากรประมาณ 30 เปอร์เซนต์ของโลก และคิดเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซนต์ของ GDP โลก RCEP ยังเป็นความสำเร็จในการรวมตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในระดับพหุภาคี สร้างความแข็งแกร่งในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด คุ้มครองเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค สร้างความมั่นคง

ให้กับห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่คุณค่าของโลก รวมทั้งส่งเสริมการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

RCEP ได้รับการเสนอเป็นครั้งแรกโดยอาเซียนในปี 2555 ซึ่งในเวลานั้นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมในความตกลงนี้ด้วย RCEP มีเป้าหมายที่จะลดภาษีสินค้า ขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะกับการลงทุน ขยายการค้าบริการ สร้างความแข็งแกร่งให้กับการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการกำหนดนโยบายการแข่งขันที่สมเหตุสมผล ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีที่รวมตลาดเอเชีย-แปซิฟิก เข้าเป็นหนึ่งเดียว

15 ประเทศที่เข้าร่วมลงนามใน RCEP มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในด้านระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วยประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ประเทศตลาดเกิดใหม่ ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่ยังไม่พัฒนา โดยสองประเภทหลังสุด คือประเทศสมาชิกหลักของอาเซียน

ดาโตะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การร่วมลงนามใน RCEP ถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ การบรรลุความตกลงทางการค้าระดับพหุภาคีขนาดมหึมานี้ ท่ามกลางโลกที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาและความท้าทายต่างๆ ในภูมิภาค เป็นสิ่งยืนยันถึงศักยภาพของอาเซียนได้เป็นอย่างดี เขากล่าวย้ำว่า การที่จะชี้ชัดว่าประเทศอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงนี้หรือไม่คือดัชนีชี้วัดที่สำคัญที่สุดในการประเมินผลของ RCEP

ในด้านโครงสร้าง RCEP มีระบบโครงสร้างแบบซ้อน บนพื้นฐานของข้อตกลงห้าอาเซียน+1 FTAs ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่รอบๆ อาเซียน การออกแบบโครงสร้างในลักษณะนี้ไม่ได้เพียงรวมข้อตกลงและกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่เข้าด้วยกัน หากแต่ยังขยายและเพิ่มเติมการครอบคลุมของข้อตกลงอีกด้วย โครงสร้างนี้เน้นให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของอาเซียนในด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และรองรับประเทศสมาชิกต่างๆ ด้วยระบบกฎซ้อน การลงนามใน FTA ระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ได้สร้างพื้นฐานความร่วมมือ

ที่ทำให้อาเซียนสามารถสร้างมาตรฐานการดำเนินความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้ากับห้าประเทศสมาชิกที่กล่าวไป ภายใต้กรอบการทำงานของ RCEP ซึ่งช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดในภูมิภาค หากมองในมุมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ RCEP มิได้เป็นเพียงกลไกที่เอื้อให้เกิดการค้าและการลงทุนเท่านั้น แต่มีบทบาทที่สำคัญยิ่งกว่า คือเป็นกรอบการทำงานพื้นฐานสำหรับอาเซียนในการพัฒนาการเป็นหุ้นส่วนกลยุทธ์กับประเทศสมาชิกอื่นอีกห้าประเทศ

ข้อมูลด้านศุลกากรแสดงให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ ของ RCEP เพื่อเปิดเสรีการค้าสินค้า ด้วยการลดภาษีสินค้า และการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี จะเป็นตัวกระตุ้นการค้าที่ทรงพลังระหว่างอาเซียนและประเทศสมาชิกอีกห้าประเทศ RCEP จะช่วยลดต้นทุนของการค้าข้ามพรมแดน จากการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เพิ่มขึ้น

Agus Suparmanto รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย แสดงความเห็นว่า RCEP จะช่วยสร้างเอกภาพให้กับอาเซียนในการแสดงบทบาทเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานโลก ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าในช่วงห้าปีแรกของ RCEP การส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียไปยังประเทศสมาชิกอื่นจะเพิ่มขึ้น 8-11 เปอร์เซนต์ และผลกระทบภายนอกจะช่วยกระตุ้นให้มูลค่าส่งออกรวมของอินโดนีเซียเติบโตขึ้น 7.2 เปอร์เซนต์ Ramon Lopez รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างฟิลิปปินส์กับประเทศที่ร่วมลงนามใน RCEP คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50 เปอร์เซนต์ของตลาดส่งออกของประเทศ และความตกลงที่เป็นหลักชัยในครั้งนี้ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดให้กับประเทศที่ร่วมลงนาม ได้มอบโอกาสทางการตลาดที่กว้างขึ้นให้กับสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ เช่น สินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์ เสื้อผ้า และสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง และผลไม้แปรรูป ขณะที่สื่อเวียดนาม

คาดการณ์ว่า RCEP จะช่วยขยายตลาดส่งออกของเวียดนาม ให้กับสินค้าโทรคมนาคม ไอที ผ้าทอ รองเท้า และสินค้าเกษตร ผู้เชี่ยวชาญจากจีนประเมินว่า ภาษีสินค้าที่ลดลงอย่างมาก และการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าให้กับอินโดนีเซีย 3.22 เปอร์เซนต์ มาเลเซีย 2.48 เปอร์เซนต์ ฟิลิปปินส์ 0.84 เปอร์เซนต์ สิงคโปร์ 0.35 เปอร์เซนต์ ไทย3.84 เปอร์เซนต์ และเวียดนาม 3.74 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ ยังคาดว่า ประเทศอาเซียนที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่า เช่น บรูไน กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ จะมีปริมาณการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจาก RCEP

ตามทฤษฎีการค้า “ใหม่-ใหม่” (“New-New” Trade Theory”) บริษัทจะสามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้ผ่านการ “ขายสินค้า ณ ที่ซึ่งสินค้าถูกผลิต” หรือ ผลิตสินค้า ณ ที่ซึ่งสินค้าถูกขาย” โดยการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในประเทศอาเซียนเติบโตเฉลี่ยที่ 5 เปอร์เซนต์ต่อปี RCEP จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการลงทุนที่ร้อนแรงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่ค่อยมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม แต่มีทรัพยากรแรงงานที่

อุดมสมบูรณ์ ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของอาเซียน กระตุ้นให้อุปสงค์และปริมาณการบริโภคสินค้าต่างๆ ในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ด้วยมาตรการ Negative List Management Mode ความตกลง RCEP จะช่วยขยายขอบเขตการเข้าถึงตลาด ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้กับนักลงทุนและบริษัทของประเทศที่ร่วมลงนาม ที่จะ “ผลิตสินค้าเพื่อขายในท้องถิ่น” ในประเทศอาเซียน หรือขยายการส่งออกผ่านตลาดฝ่ายที่สาม ด้วยเหตุนี้ Suparmanto จึงคาดการณ์ว่า RCEP จะช่วยผลักดันให้มูลค่า FDI ของอินโดนีเซีย สูงขึ้น 18-22 เปอร์เซนต์

โดยสรุป RCEP จะช่วยขยายปริมาณการค้าระหว่างอาเซียนและประเทศที่ร่วมลงนามอื่นๆ และดึงดูดให้ประเทศเหล่านี้สนใจมาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เงื่อนไขต่างๆ ของ RCEP ที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมทั้งความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ร่วมลงนามมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้ ยังจะผลักดันให้ประเทศอาเซียนก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก และส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโรคระบาด ยิ่งไปกว่านั้น ความสามารถที่จะนำ RCEP มาใช้ร่วมกับ ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership : CPTPP) ย่อมหมายถึงการเร่งให้เกิดการสร้างเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ได้เร็วขึ้น

Yao Weiqun

ประธานบริหารสถาบันเซี่ยงไฮ้เพื่อยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ