รู้จักทฤษฎี ‘อยู่ให้ได้ ไปให้เป็น’ ในมิติของอนุพงษ์ อัศวโภคิน

รู้จักทฤษฎี ‘อยู่ให้ได้ ไปให้เป็น’ ในมิติของอนุพงษ์ อัศวโภคิน

วิกฤตนี้จะอยู่กับเราต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน อย่างยาวผมไม่รู้! ความเชื่อที่สะท้อนมาจากสัญชาตญาณของ อนุพงษ์ อัศวโภคิน ซีอีโอ เอพี ไทยแลนด์ ผู้นำองค์กรที่ก้าวผ่านมาแล้วสารพัดวิกฤตเศรษฐกิจบอกอย่างนั้น เจ้าตัวบอกว่าวิกฤต Covid-19 ครั้งนี้ได้เปลี่ยนทุกอย่างไปแล้วจริงๆ ทั้งวิธีการทำงาน การซื้อ การขายและที่สำคัญพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งโลก แล้วเราทุกคนควรไปต่ออย่างไร ถ้าในปี 2021 การเปลี่ยนแปลงยังคงไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ ลองมารู้จักทฤษฎี อยู่ให้ได้ ไปให้เป็นในวันที่วิกฤตยังคงอยู่กับเราไปอีกนานจากมุมมองของผู้นำคนนี้

มองวิกฤตรอบนี้อย่างไร

ถ้าเรามองย้อนกลับไป 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกไม่ใช่แค่เฉพาะบ้านเราเท่านั้น สังคมบริโภคนิยมพาเราทุกคนไปติดกับดับความฟุ้งเฟ้อ ซับพลายถูกสร้างขึ้นมาอย่างมหาศาล และวันที่ Covid-19 เข้าโจมตี ทุกอย่างก็ถล่มลงมาและวิ่งกลับไปสู่ปัจจัยพื้นฐานเดิมทันที จริงๆ แล้ว Covid-19 เป็นเหมือนตัวเร่งปฏิริยาให้อะไรที่แย่อยู่แล้วจบเร็วขึ้น ซึ่งการมาของวิกฤตครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างของการดิสรัปที่เร็วและรุนแรงแต่ยังดีที่วิกฤตรอบนี้สถาบันทางการเงินของไทยเราแข็งแรง มีเงินสำรองคงเหลือซึ่งต่างจากครั้งวิกฤตต้มย้ำกุ้ง บริษัทใหญ่ๆ ในบ้านเราก็ยังไปได้ แต่ที่น่าห่วง คือ คนตั้งแต่ระดับกลางลงไป ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้มากที่สุด ถ้าให้ประเมินสถานการณ์วันนี้เราอยู่ตรงไหนของวิกฤตแล้ว ตอบยาก ด้วยมาตรการต่างๆ ที่ออกมาช่วยประคับประคองทำให้ยังมองภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยวันนี้ได้ไม่ชัดนัก  

รับมือกับวิกฤตรอบนี้ต่างจากที่ผ่านมาไหม

ข้อเสียของวิกฤตครั้งนี้คือ ลามไปทั่วโลกไม่มีใครช่วยใครได้ ต้องช่วยกันเอง ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โชคดีที่เอพีเราได้ขยับตัวปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนวิตกกังวล ทำให้มองไปข้างหน้าแล้วรู้สึกว่าถ้าวันนี้ (เมื่อ 5 ปีที่แล้ว) ไม่ทำอะไรองค์กรแย่แน่ จึงทำให้เรารู้สึกถึงวิกฤตก่อนที่วิกฤตจะมา เราเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า Business Model ที่เราทำอยู่นั้นต่างจากคนอื่นไหม และถ้าเกิดวิกฤตขึ้นเราจะรอดไหม และนี่คือคำถามที่นำไปสู่การขยาย mission ภายใต้คำว่า EMPOWER LIVING ที่ใหญ่และกว้างกว่าแค่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น

ช่วงสถานการณ์เดือนมีนาคมถึงเมษายนที่หลาคนยังคงมึนๆ งง ไปไม่ถูก พนักงานของเราเองก็เริ่มกังวลถึงความมั่นคงของบริษัทและตัวเขเอง สิ่งที่เราทำทันทีคือ การสื่อสารกับพนักงานให้เขารู้ถึงสถานะของบริษัท และย้ำกับทุกคนว่า ผมมั่นใจว่าวิกฤตครั้งนี้เอพีเราจะผ่านไปได้ และหลังผ่านวิกฤตนี้ไปเอพีจะโตขึ้นอีก               สิ่งสำคัญที่พนักงานกว่า 2,000 คนต้องยึดเป็นเข็มทิศนำทางในทุกการดำเนินงาน ไม่ว่าจะภาวะวิกฤต หรือปกติก็ตาม คือ EMPOWER LIVING ซึ่งผมเน้นย้ำมากให้ทุกคนยึดมั่นหลักขององค์กร และ Core Value ทั้ง 5 ข้อ ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานแนวคิดOutward Mindset และ Design Thinking เข้าไว้ด้วยกัน ฝึกสร้างให้เป็นนิสัย ทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้แล้วเราจะรอดไปด้วยกัน แล้ววันนี้ตัวเลข 9 เดือนที่ผ่านมา ทั้งอัตรากำไร 3,280 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่ากำไรทั้งปีของปี 2562 หรือรายได้รวมกว่า 35,180 ล้านบาท ได้พิสูจน์ให้พวกเขาเห็นถึงผลลัพธ์ของการดำเนินงานภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกันแล้ว และผมเชื่อว่าในปีต่อไป เอพีเราก็พร้อมที่จะรับมือกับพายุลูกใหม่ที่กำลังจ่อเข้ามา

วันั้นมั่นใจอะไรจึงกล้าประกาศไม่เลย์ออฟ

สิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรผ่านวิกฤตไปได้ นอกเหนือจากการมีเป้าหมายองค์กรที่ชัดเจนแล้ว คนในองค์กรมี mindset เดียวกันหรือไม่ เขารู้ไหมว่าองค์กรกำลังเดินไปในทิศทางไหน และส่งมอบอะไรให้กับลูกค้า ถ้าอยากให้องค์กรมีความยืดหยุ่นคล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วคนในองค์กรต้องมี mindset เดียวกัน ซึ่งวันนั้นเรามองเห็นแล้วว่าดีมานด์ลูกค้าเริ่มเปลี่ยน ประกอบกับการวางแผนบริหารจัดการกระแสเงินสด เราจึงปรับแผนการพัฒนาสินค้าทันที ชะลอแผนการพัฒนาคอนโดมิเนียมใหม่ หันเกมไปสู่ตลาดแนวราบ เพื่อสร้าง cash-in flow ให้ได้มากที่สุด

เราปรับแผนเปิดโครงกาใหม่ของปีนี้ไปในส่วนของแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมรวมทั้งสิ้น 39โครงการ มูลค่ารวม 41,820 ล้านบาท ซึ่งการปรับแผนธุรกิจอย่างทันที จำต้องอาศัยความพร้อมของทีมงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความพร้อมของทีมแนวราบเอพีแล้ว ส่วนคอนโดมิเนียมในปีนี้เรายังสามารถสร้าง cash-in flow ได้อย่าต่อเนื่อง จาก 9 คอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ เช่น ASPIRE อโศก-รัชดาASPIRE สุขุมวิท-อ่อนนุช LIFE ลาดพร้าว LIFE อโศก - พระราม 9 และ LIFE วัน ไวร์เลส เป็นต้น ทำให้เราประเมินแล้วเรายังมีกระแสเงินสดมากพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อท่ามกลางภาวะความผันผวน โดยที่ไม่ต้องเลย์ออฟพนักงานออกแต่อย่างใด

วิธีอยู่ให้ได้ ไปให้เป็น ในวันที่วิกฤตยังไม่จางหาย

วิกฤตครั้งนี้ทำให้ดีมานด์ในธุรกิจเปลี่ยน พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน การจะไปต่อได้สิ่งแรกที่ควรทำคือการสำรวจตัวเอง สิ่งที่เสนอให้กับลูกค้าวันนี้ยังตอบโจทย์เขาอยู่ไหม อย่าหลอกตัวเองว่าเดี๋ยววิกฤตก็ผ่านไป ผมเชื่อว่าทุกครั้งที่วิกฤตเกิด กติกาในสังคมจะเปลี่ยน และวิกฤตครั้งนี้อย่างที่บอกกระทบไปทั่วโลก ธุรกิจจะไปต่อได้ต้องวิ่งกลับไปที่ลูกค้า หาให้เจอว่าเขายังเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรานำเสนออยู่ไหม ถ้าไม่ใช่แล้วอะไรที่เขาต้องการ หรือต้องขยายไปหากลุ่มลูกค้าใหม่ อย่าลืมเวลาและเงินสดวิ่งไปเรื่อยๆ ประเมินสถานการณ์รอบด้าน หาให้เจอแล้วตัดสินใจลงมือทำ วันนี้คนที่ไม่รอดคือ คนที่ไม่ make a call

เห็นสัญญาณบวกอะไรถึงเพิ่มงบซื้อที่ดิน

เล่าย้อนกลับไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเราวางงบซื้อที่ดินไว้ที่ 8,500 ล้าน แต่เมื่อเจอวิกฤต Covid-19ในช่วงเดือนเมษายนเราจึงตัดงบเหลือ 4,500 ล้านบาท พอมาวันนี้โครงการแนวราบของเราทั้งสินค้าบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมได้รับการตอบรับที่ดีมาก ถ้าดูในส่วนของยอดขายและรายได้ของสินค้าส่วนแนวราบก็โตต่อเนื่องติดกันมา 3 ไตรมาสแล้ว อีกทั้งปีนี้เราก็สามารถปิดโครงการแนวราบที่อยู่ระหว่างการขาย (Existing Projects) ได้อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เราจึงเพิ่มงบที่ดินรวมทั้งปีกลับมาอยู่ที่ 9,500 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อที่ดินแปลงใหม่สำหรับการพัฒนาโครงการในอนาคต เพราะยังไงปีหน้าแนวราบก็ยังคงเป็นคีย์ไดร์ฟสำคัญของธุรกิจอยู่

ประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีหน้า

สถานการณ์ปีหน้าดีเวลลอปเปอร์รายไหนที่มีคอนโดอย่างเดียวอยู่ในพอร์ตน่าจะเหนื่อยหน่อย ผมมีความรู้สึกว่าในครึ่งปีแรกตลาดคอนโดจะไปในเกมราคา เพื่อเคลียร์สต็อกคงค้าง ซึ่งยังไม่เหมาะกับการเปิดตัวคอนโดใหม่ สำหรับเอพีจากการขยับแผนการเปิดตัวคอนโดไป วันนี้เรามีที่ดินสำหรับพัฒนาคอนโดอยู่ 5-6 แปลง และเมื่อทุกอย่างเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ทั้งเซนติเมนต์ของลูกค้า หรือ Supply ในย่านนั้นๆ ถูกดูดซับไปมากแล้ว เราก็พร้อมที่จเปิดตัวคอนโดใหม่ และเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เราได้ทดลองตลาดด้วยการเปิดขายรอบพิเศษในโครงการ ASPIRE เอราวัณ ไพร์ม ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาดีขายได้ประมาณ 300 ล้านบาท

เอ็มพาวเวอร์หลายคนที่อยู่ในภาวะประคับประคองธุรกิจ

ถึงวันนี้เอพีจะแข็งแรง แต่แข็งแรงไม่ได้แปลว่าไม่ต้องทำอะไร พนักงานทุกคนในองค์กรยังคงต้องช่วยกันทำให้องค์กรแข็งแรงไปต่อ mindset ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการพาองค์กรฝ่าวิกฤต ถ้าวันนี้โดยเฉพาะผู้นำองค์กรยังทำงานด้วยกรอบวิธีคิดเดิมๆ และคิดว่าเดี๋ยววิกฤตก็ผ่านไปเป็นความคิดที่ผิดมาก ทุกอย่างมีจำกัด ทั้งเวลาและเงินสดจะทำเหมือนเดิม และแบกทุกอย่างเดินฝ่าพายุต่อไปไม่ได้ ผู้นำในภาวะวิกฤตนอกจากต้องประเมินสถานการณ์รอบด้านให้ออกแล้ว ต้องกล้าตัดสินใจ และสื่อสารถึงทิศทางที่องค์กรจะไปต่อให้พนักงานเข้าใจอย่างชัดเจน เอ็มพาวเวอร์ให้เขาทราบว่าตนเองมีส่วนช่วยให้องค์กรรอดได้อย่างไร