SMEs ไทยภายหลังสถานการณ์ Covid-19 การปรับตัวและความอยู่รอด

SMEs ไทยภายหลังสถานการณ์ Covid-19 การปรับตัวและความอยู่รอด

สถานการณ์ Covid-19 ทำให้ประชาคมทั้งโลกไม่สงบ ผ่านพ้นมาครึ่งปีแล้ว โลกของเรายังต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ มหันตภัยร้าย และโรคอุบัติใหม่ ฉุดให้เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว การบริการ ด้านสุขภาพ ฯลฯ ท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจโลกที่มีการแพร่ระบาดของ Covid-19 สร้างความเสียหายส่งผลกระทบไปถ้วนหน้า มาตรการการป้องการ Covid-19 ของจีน อย่างเช่น ปิดเมือง ปิดสถาบันศึกษาและระดมประชาชนอยู่บ้านเพื่อชาติ ทำให้เศรษฐกิจจีนต้องชะงักลง ภายหลังสามเดือน รัฐบาลจีนใช้มาตรการยาแรง ทำให้จีนสามารถหยุดการระบาดการแพร่เชื้อ Covid-19 ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจยิ่ง รัฐบาลจีนใช้เวลาอันสั้นเพื่อฟื้นฟูกิจการธุรกิจของผู้ประกอบการ ทำให้สถานการณ์กลับมาดีขึ้น ต่างจากบางประเทศที่ยังระบาดอยู่ ตัวเลขยังไม่ลดลง ธุรกิจต้องปิดตัวลงไปจำนวนไม่น้อย ในแต่ละยุคสมัยก็มีภัยวิบาก แต่วิกฤตครั้งนี้ รู้สึกได้ว่าส่งผลรุนแรงเป็นภาพกว้าง ประเทศไทยยังถือได้ว่าโชคดีมาก ภาครัฐออกมาตรการต่างๆ ทำให้สถานการณ์ Covid-19 ในประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีพอสมควร 

ทางรอดของผู้ประกอบการ SMEs หลังวิกฤต Covid-19 ต้องพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสให้ได้ ผู้ประกอบการ SMEs ต้องวางแผนพัฒนาธุรกิจ หันมาผลิตใช้ในประเทศ บริโภคภายในประเทศเป็นหลักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวเพราะว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยและกลุ่มธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ที่สำคัญผู้ประกอบการ SMEs ต้องสร้างปัจจัยพึ่งพาอาศัยกันเพราะว่าประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรมากมายดังนั้น การพึ่งพาตนเองให้แข็งแรงของผู้ประกอบการไทยโดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ช่วยกันสร้างกลไกลพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นไปทิศทางที่หลากหลาย ที่มีประสิทธิภาพให้เหมาะสมและทันสมัย ปัจจุบันนี้การเชื่อมโยงด้วยข่าวสารและใช้เครื่องมือสือสารในการทำธุรกรรม ชึ่งทำให้เกิดการปรับตัวของสภาวะการใช้ชีวิตอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค

Covid -19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของคนไทยแบบกลับด้าน แม้ผ่อนคลาย ยกเลิก แต่ชีวิตคนไทยคงไม่มีทางเหมือนเดิมอีก การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” (New Normal) ที่อยู่ไปอีกนานและอาจถาวร จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ประชาคมโลกต้องใช้ชีวิตภายใต้มาตรการอันแสนเข้มงวดที่แตกต่างกันไป บ้างมีข้อจำกัดเป็นช่วงเวลา ออกแคมเปญให้ทุกคน “อยู่บ้าน” หรือ Stay at Home มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ผลดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย 

สังคมที่เริ่มคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Familiarity) ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาการเข้าถึงและการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลแพร่หลายเฉพาะในคนบางกลุ่ม แต่วิกฤตการณ์ Covid-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนต้องดำรงชีวิตแบบเว้นระยะจากสังคม จึงเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมาช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากขึ้นแม้จะต้องมีการปรับตัวในการใช้งาน เช่น การเติบโตของธุรกิจสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค การใช้งานระบบประชุมออนไลน์ การใช้เงินดิจิทัล การดูหนังออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ ช่วยให้ผู้บริโภคมีความคุ้นชินและเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดการณ์ และเกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา

แนวทางการสร้างความอยู่รอดของธุรกิจ SMEs หลังการแพร่ระบาด ของ Covid-19 คงไม่มีใครปฏิเสธว่าก่อนที่ Covid-19 จะระบาด หลายธุรกิจยังคงเน้นการแข่งขันด้วยวิธีดังเดิมเน้นปริมาณการขายจำนวนมากๆ แต่หลังจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป การเน้นในเรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว เพื่อความอยู่รอดคือ การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้า เป็นกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มของตลาดจากวิธีการใหม่ๆ เป็นสิ่งที่นำมาปรับใช้กับสินค้า บริการ เทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจแบบใหม่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ความสร้างสรรรค์ และมูลค่าที่สามารถผลักดันการเติบโตของธุรกิจ นำ AI มาวิเคราะห์ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ บวกกับการทำวิจัย R&D เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ทันโลก 

Big Data เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาธุรกิจในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Start up (สตาร์ทอัพ) SMEs หรือองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศ ล้วนมีจุดเริ่มต้น และการจัดการ Transform(ทรานส์ฟอร์ม) ตั้งหลักในการปรับเปลี่ยน การเก็บ Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ทุกชนิดที่อยู่ในองค์กร โดยเริ่มจากการนำข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้บริโภคจำนวนมาก มาทำการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ ซึ่งต้องนำข้อมูลผู้บริโภคมาวิเคราะห์ให้เป็นระบบ เปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นมาเป็น “ข้อมูลเชิงลึก” เพื่อให้เข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น และนำข้อมูลที่ได้มาวางกลยุทธ์ให้ตรงใจผู้บริโภค ไปจนถึงการผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างแท้จริง 

การวิเคราะห์แนวโน้มการวางแผนตลาดและการวิจัย ต้องจัดทำ SWOT ในธุรกิจ ในการจัดการห่วงโซ่คุณค่าการผลิตและการตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าขอผู้ประกอบการ SMEs การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดนับว่ามีความสำคัญเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไป สิ่งสำคัญคือต้องมองว่าสิ่งที่เป็นเทรนด์ของตลาดคืออะไร หรือแนวโน้มของตลาดน่าจะเป็นไปในทิศทางไหน เช่น โลกกำลังจะก้าวเข้าสู่ Aging Society สินค้าแบบเดิมๆ ของเราจะต้องปรับปรุงพัฒนาเข้าสู่ตลาด Mega Trend ได้หรือไม่ หากเราตามTrend (เทรนด์ ) ที่ทันสมัยมองเรื่องของอนาคตอยู่เสมอและปรับเปลี่ยน Product ได้ทันสมัยก็จะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้เราอยู่รอดได้

การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการผลิตหรือบริการ โดยเฉพาะการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความพลิกผันทุกสิ่ง (Disruptive Technology) โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรง ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันก็จะหายไป และหลายอาชีพอาจไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์อีกต่อไป เพราะมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ที่ฉลาดกว่า ทำงานได้ต่อเนื่องเข้ามาแทนที่การนำไปใช้ในงาน ที่สามารถทดแทนแรงงานคน เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เป็นดิจิทัล (Digital Business Model) การสร้างองค์กรให้มีความแข็งแกร่งเพื่อรองรับโลกยุคใหม่ ต้องเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือโมเดลธุรกิจแบบเก่าที่ค้าขายโดยตรง ให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) โดยใช้โมเดลดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น  

การบริหารความเสี่ยงของผู้ประกอบการ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ธุรกิจจำเป็นต้องวางแผนปรับตัวทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะด้านการบริหารความเสี่ยงที่อาจกระทบกับการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ธุรกิจยังต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งการปรับตัวเพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดและเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางธุรกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาช่องทางการขาย E-Commerce ในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังมาแรงและพัฒนาผลิตสินค้าที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ ขยายกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางกลุ่มคนรุ่นใหม่ เชื่อว่า Covid-19 ยังจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คน ชุมชน และเศรษฐกิจโลกของเราอีกยาวนาน จนกว่าจะมีการผลิต Vaccine (วัคซีน) ออกมาใช้อย่างเป็นทางการ จากการคาดการณ์ เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ภาครัฐต้องมีการวางแผน กำหนดทิศทางฝ่าวิกฤต วางแผนเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ลดวิธีการให้ง่ายต่อการทำธุรกิจด้านกฎระเบียบต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการอย่างเชิงลึก จัดสรรทรัพยากรใหม่ อย่างมีประโยชน์ ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มและให้มีประสิทธิผลอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ

ผู้เขียน : 

ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล
นายกสมาคมการค้าการลงทุนเส้นทางสายไหมไทยจีน