เฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตจีน-ไทย

เฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปี  แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตจีน-ไทย

นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 1 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2518 นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล และนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นการเปิดหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์จีน-ไทย 45 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทั้งประเทศจีนและประเทศไทยต่างก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามบนเส้นทางการพัฒนาของตน ความสัมพันธ์ทวิภาคีได้พัฒนาไปอย่างมั่นคงและด้วยดี ความสัมพันธ์จีน-ไทยในทุกวันนี้ มีความรอบด้าน เป็นรูปธรรมและเปี่ยมด้วยพลังขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น

รอบด้าน : ความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางยุทธศาสตร์ลงลึก ปริมณฑลความร่วมมือกว้างขึ้น

ผู้นำทั้งสองประเทศพบปะบ่อยครั้ง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดอกเปิดใจและลึกซึ้งในประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคีและสถานการณ์โลกและภูมิภาค ให้การสนับสนุนอย่างแน่วแน่แก่กันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลักของอีกฝ่าย พื้นฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์จีน-ไทยแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและมิอาจจะทำลายได้ ในระยะเวลาอันใกล้ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ส่งสารแสดงความยินดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ รัฐมิตราภรณ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดที่จีนมอบให้ชาวต่างชาติ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้นำประเทศไทยท่านอื่นๆ ได้นำคณะไปเยือนประเทศจีนหลายครั้ง ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารประเทศ การบรรเทาและแก้ไขปัญหาความยากจนในเชิงลึกยิ่งขึ้น

ความร่วมมือฉันมิตรและเอื้อประโยชน์แก่กันระหว่างสองประเทศได้พัฒนาไปในทุกมิติและทุกปริมณฑล กลไกความร่วมมือได้ปรับปรุงสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องประเทศจีนและประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ได้ร่วมกันวางแผนระยะยาวในการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทย ซึ่งเป็นการทำพิมพ์เขียวสำหรับการพัฒนาอย่างมั่นคงในอนาคต การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือฉันมิตรระหว่างทั้งสองประเทศได้ครอบคลุมทุกๆ ด้าน อาทิเช่นการเมือง เศรษฐกิจการค้า การทหาร ความมั่นคง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมและ วัฒนธรรม การศึกษา การกีฬา วรรณกรรม วิชาการและสื่อมวลชน ฯลฯ ได้สร้างพลังขับเคลื่อนอย่างไม่หยุดยั้งในการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยต่อไป

รูปธรรม : ความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่กันประสบผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์อย่างดี

มูลค่าการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นจาก 24.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงที่พึ่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เป็น 91,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้น 3700 กว่าเท่า จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันมา 7 ปี และขึ้นเป็นแหล่งการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562 ขณะเดียวกัน ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 3 ของจีนในประเทศอาเซียน ทั้งสองประเทศได้สร้างบ้านพี่เมืองน้องขึ้นมา 39 คู่ การแลกเปลี่ยนในระดับท้องถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประเทศจีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยทะลุ 10 ล้านคนติดต่อกัน 2 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2562 มีนักเรียน นักศึกษาจีนจำนวน 36,000 คนศึกษาในประเทศไทย นักเรียนไทย 28,000 คนไปศึกษาที่ประเทศจีน ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างคนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ละครโทรทัศน์ของไทยเป็นที่นิยมในประเทศจีน ภาพยนตร์จีน ละครโทรทัศน์และวรรณกรรมออนไลน์ของจีนเป็นที่ชื่นชอบของวัยรุ่นไทย พื้นฐานความสัมพันธ์จีน-ไทยในภาคสังคมและเอกชนมั่นคงยิ่งขึ้นทุกวัน

เปี่ยมด้วยพลังขับเคลื่อน : มองไปข้างหน้าในการพัฒนาความสัมพันธ์สองประเทศ อัดฉีดพลังขับเคลื่อนและเนื้อหาแห่งยุคสมัย

ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะเชื่อมต่อยุทธศาสตร์การพัฒนา ให้ “สายแถบและเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศไทย 4.0เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อให้มีการเสริมข้อได้เปรียบซึ่งกันและกัน และส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ บริษัทจีนที่มีศักยภาพสูงและมีความคิดทันสมัย เช่น Huawei, Alibaba, JD.com ฯลฯ ได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ปัญญาประดิษฐ์โลจิสติกส์ทันสมัย การสื่อสาร 5G และอุตสาหกรรมอนาคตสาขาอื่นๆ ของประเทศไทย เพื่อเพิ่มพูนพลังขับเคลื่อนให้ความร่วมมือจีน-ไทยพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 100 ปี ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นในการรักษาระบบพหุภาคีนิยมและการค้าเสรี ร่วมกันผลักดันในการสร้างระบบการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ที่เที่ยงธรรมและชอบด้วยเหตุผล ซึ่งจะสะท้อนเจตนารมณ์และผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทุกประเทศ และก็จะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการจากการพัฒนาของประวัติศาสตร์และความก้าวหน้าของยุคสมัย

ปีนี้ โควิด-19 แพร่ระบาดในทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์และความมั่นคงด้านสาธารณสุขของโลก เมื่อเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ จีนและไทยได้ร่วมแรงร่วมใจและคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึงก็เป็นคำอธิบายสำหรับมิตรไมตรีอันจริงใจที่เป็น “จีนและไทยพี่น้องกันและจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่สำหรับประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาส์นแสดงความห่วงใยไปยังประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ทรงยกย่องมาตรการในการต่อสู้กับโรคระบาดของจีน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำปราศรัยผ่านโทรทัศน์ ส่งกำลังใจให้ประเทศจีนและทั่วโลก ทุกภาคส่วนของสังคมไทยได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ บริจาคเวชภัณฑ์จำนวนมากให้ประเทศจีนในเวลาอันสั้นๆ ประเทศจีนได้ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยการแบ่งปันข้อมูลอย่างทันท่วงที หารือแผนการป้องกันและรักษา และร่วมกันพัฒนาวัคซีน รัฐบาล วิสาหกิจ องค์การมิตรภาพและภาคเอกชนของประเทศจีนได้บริจาคเวชภัณฑ์ให้กับประเทศไทยหลายครั้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยมีความห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทยได้ตั้ง “ตู้ปันสุขเพื่อจัด

หาสิ่งของจำเป็นให้กับพี่น้องคนไทยขณะเดียวกัน ความร่วมมือรูปธรรมระหว่างจีนและไทยกลับเพิ่มมากขึ้นภายใต้แรงกดดันจากโรคระบาด มูลค่าการนำเข้าและส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 8.1% ในไตรมาสแรกการส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนคิดเป็น 66.94%ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์แล้วว่า ความสัมพันธ์จีน-ไทยได้รับบทพิสูจน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและมั่นคงมิอาจจะทำลายได้ ความร่วมมือจีน-ไทยได้ผ่านการทดสอบจากการระบาดของโควิด-19 มีพลังและเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

เมื่อมาอยู่ที่จุดเริ่มต้นใหม่ทางประวัติศาสตร์ เรามิอาจประมาทหรือลดความพยายาม ควรรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างกันที่ไม่ได้ได้มาอย่างง่ายๆ ใช้โอกาสทางประวัติศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ ร่วมกันเป็นญาติที่เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนมิตรที่รู้ใจและสนิทกัน เป็นเพื่อนบ้านที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และก็เป็นหุ้นส่วนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

เราควรให้การชี้นำของผู้นำแสดงบทบาทหลัก กระชับการไปมาหาสู่ระหว่างกันในทุกๆ ระดับ ใช้ประโยชน์จากกลไกหารือที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดี เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการปฏิบัติในการบริหารประเทศและแก้ไขปัญหายากจน เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและขยายความร่วมมือเชื่อมต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและพิถีพิถัน ขยายความร่วมมือและเน้นการ

ปฏิบัติจริง ร่วมกันพัฒนา “สายแถบและเส้นทางที่มีคุณภาพสูง สร้างจุดเติบโตใหม่ทางด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างผลงานความร่วมมือในเชิงรูปธรรมที่สัมผัสได้ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างคลังสมอง สื่อมวลชน คณะศิลปวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ ให้คนรุ่นใหม่เพิ่มการแลกเปลี่ยนและไปมาหาสู่กัน พัฒนาศักยภาพความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ขยายความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

การอบรมอาชีพและสาธารณสุข ร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือจีน-อาเซียน ยกระดับความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ร่วมกันพิทักษ์รักษาหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระบบการค้าพหุภาคีปัจจุบัน ร่วมกันออกเสียงอันหนักแน่นในการคัดค้านการกีดกันทางการค้าและลัทธิการกลั่นแกล้ง ร่วมกันรับมือกับความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การก่อการร้าย ฯลฯ ร่วมกันปฏิบัติตามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรูปแบบใหม่และสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

ขอให้เราฝ่าลมโต้คลื่น บุกเบิกพัฒนา ร่วมกันมุ่งไปสู่อนาคตที่รุ่งโรจน์ยิ่งขึ้นของความสัมพันธ์จีน-ไทย

 

เฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปี  แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตจีน-ไทย

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ย้อนมองความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศจีนเป็นมิตรประเทศที่มีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งได้รักษาความสัมพันธ์อันดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพระราชวงศ์ ซึ่งถือว่ามีความใกล้ชิดในระดับประมุขของทั้งสองประเทศ ประชาชนชาวไทยต่างรู้สึกปลาบปลื้มปีติอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงโดยตรง ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนเป็นเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติกับประเทศไทยด้วย

ส่วนความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาลของทั้งสองประเทศนั้น มีความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยจีนมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในระดับประชาชน มีการเดินทางไปมาหาสู่กันโดยใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากการค้าการลงทุนแล้ว การท่องเที่ยวก็ยังเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางจากไทยไปจีนและชาวจีนที่ได้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย

ตัวท่านเองและรัฐบาลไทยตระหนักในความสำคัญของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ซึ่งเห็นว่าเป็นนโยบายที่สำคัญของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง และเริ่มมีผลเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นแล้ว ประเทศไทยได้ติดตามรับทราบนโยบายนี้มาโดยตลอด ทุกครั้งที่ท่านเดินทางไปเยือนจีน ก็จะได้รับรายงานข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องจากผู้บริหารระดับสูงทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนของจีน ทราบถึงความคืบหน้าของการขับเคลื่อนนโยบายนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมศักยภาพให้กับประเทศจีนทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศของจีนด้วย

สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างผลประทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ความจริงแล้วประเทศจีนได้รับประสบการณ์อันดีก่อนประเทศไทย ซึ่งประเทศจีนสามารถแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายได้อย่างเฉียบขาดรวดเร็ว สร้างโมเดลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาด ซึ่งเป็นตัวอย่างอันดีให้กับทั่วโลก ส่วนประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลมีความชัดเจนในด้านนโยบายและมาตรการที่เข้มข้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคสาธารณสุข การแพทย์ ภาคเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การแก้ไขปัญหาโรคระบาดก็ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในระดับโลกเช่นกัน เป็นที่กล่าวขานและยอมรับไปทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยก็ประสบสำเร็จอย่างดีเช่นกัน

ภายใต้สถานการณ์ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การค้าออนไลน์มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย เนื่องจากการค้าออฟไลน์มีปัญหาอุปสรรค ทำได้ยากขึ้น แต่ออนไลน์นั้นจะมาทดแทน และจะกลายเป็นชีวิตวิถีใหม่ New Normal ทางการค้าในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจนถึงอนาคต โดยเฉพาะหลังพ้นจากการระบาดของโควิด-19 การค้าออนไลน์จะมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามร่วมมือกับแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ยอดนิยมในประเทศจีน ซึ่งก็คือแพลตฟอร์ม T-mall ผมเคยเดินทางไปที่ประเทศจีน เพื่อเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาร่วมมือกับ T-mall ที่เซียงไฮ้ เปิดตัวพื้นที่โชว์รูมเฉพาะสำหรับสินค้าไทย กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยระบายสินค้าไทยสู่ตลาดประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองของประเทศไทย

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมไลฟ์สดการนำเสนอและส่งเสริมการขายสินค้าไทย ผ่านระบบแพลตฟอร์ม T-mall เป็นครั้งแรก แต่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่รู้จักและยอดนิยมในประเทศจีน ถ่ายทอดสดผ่านระบบแพลตฟอร์มแค่เพียง 15-16 นาที ก็มีคนติดตามเข้าชมมากถึง 16 ล้านวิว ต้องขอบคุณแพลตฟอร์ม T-mall ที่ทำให้ชาวจีนได้รับรู้เรื่องราวของสินค้าไทย โดยเฉพาะผลไม้ไทยที่เป็นที่นิยมของชาวจีนอยู่แล้ว ชาวจีนได้รับทราบว่ามีช่องทางซื้อผลไม้ไทยเกรดพรีเมี่ยมผ่าน T-mall จึงช่วยทำให้ขายสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้นและสะดวกคล่องตัวยิ่งขึ้น

ในด้านการลงทุนของนักลงทุนชาวจีน มีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนชาวจีนจะขยายการลงทุนในประเทศไทยไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจาก EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ซึ่งประเทศไทยก็จะไม่หยุดแค่การพัฒนา EEC เท่านั้น ในอนาคตจะมี SEC และ NEEC ซึ่งก็คือเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้และภาคอีสาน ซึ่งช่วยส่งเสริมการลงทุนการเศรษฐกิจการค้าในแต่ละภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

ต้องขอชื่นชมนโยบายขจัดความยากจนของรัฐบาลจีน ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จสูง มีเป้าหมายและค่าชี้วัดต่างๆ พร้อมด้วยวิธีปฏิบัติอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เท่าที่ได้ติดตามมาทำให้ทราบว่า ประเทศจีนสามารถขจัดตัวเลขคนยากจนในประเทศจีนให้ลดลงได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นโยบายขจัดสิ้นความยากจนที่ประเทศจีนพัฒนาขึ้น สามารถเป็นต้นแบบที่นำมาปรับใช้ได้ในหลายๆ ประเทศ สำหรับประเทศไทยก็มีนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไปเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดต้องมุ่งลดความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ประเทศไทยจึงสามารถใช้ต้นแบบของประเทศจีน ในด้านกำหนดเป้าหมายดัชนีชี้วัดอย่างชัดเจน มีวิธีการปฏิบัติและคู่มืออย่างเป็นรูปธรรม แน่นอนประเทศไทยคงไม่สามารถทำให้เหมือนกับประเทศจีนทั้งหมดเต็มร้อยได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมและรูปแบบการปกครองของประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นตามสภาพของแต่ละประเทศ แต่เรามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการลดช่องว่างและลดความเหลื่อมล้ำให้แคบลงและเหลือน้อยที่สุด

สุดท้าย หวังว่าความสัมพันธ์ไทยจีนจะเจริญก้าวหน้าต่อไปตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง เศรษฐกิจสังคม และระดับพรรคการเมือง ซึ่งความสัมพันธ์ไทยจีนในทุกระดับทุกมิติจะเจริญงอกงามต่อไป