บีโอไอรุกดึงจีนลงทุนในยุคโควิด จัดสัมมนาออนไลน์ ตอกย้ำความเชื่อมั่น

บีโอไอรุกดึงจีนลงทุนในยุคโควิด จัดสัมมนาออนไลน์ ตอกย้ำความเชื่อมั่น

บีโอไอจับมือหน่วยงานพันธมิตรจีนจัดสัมมนาออนไลน์ครั้งใหญ่สำหรับนักลงทุนจีนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด เน้นชูจุดแข็งประเทศไทย พร้อมนำเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ และ ชี้โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในยุคโควิด  

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 23 มิถุนายน 2563 ที่จะถึงนี้ บีโอไอ ร่วมกับสภาส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจีนประจำประเทศไทย (CCPIT) และสมาคมการค้าวิสาหกิจไทย-จีน จะจัดการสัมมนาการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการจีนในประเทศไทย และนักลงทุนในประเทศจีนที่สนใจ ผ่านระบบออนไลน์ (Webinar) ในหัวข้อ Think Resilience, Think Thailand” เพื่อนำเสนอโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ และมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในช่วงโควิด พร้อมทั้งนำเสนอบริการสมาร์ท วีซ่า ให้แก่นักลงทุนจีน อีกทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ปัญหาและอุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน โดยคาดว่าจะมีผู้บริหารจากบริษัทจีนและสมาชิกสมาคมการค้าวิสาหกิจไทย-จีน เข้าร่วมกว่า 300 ราย

บีโอไอรุกดึงจีนลงทุนในยุคโควิด จัดสัมมนาออนไลน์ ตอกย้ำความเชื่อมั่น

“การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นกิจกรรมใหญ่ครั้งแรกสำหรับนักลงทุนจีนนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ซึ่งบีโอไอได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมมาเป็นการสัมมนาออนไลน์เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุดตั้งแต่ปีที่แล้ว และมองว่าในช่วงปี 2563 – 2564 การลงทุนจากจีนจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งผลจากสงครามการค้า และการปรับโครงสร้างการลงทุนของหลายบริษัทเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังโควิด รวมทั้งทิศทางการมุ่งออกสู่ต่างประเทศของธุรกิจจีน และต้นทุนการผลิตในจีนที่สูงขึ้นมากก็เป็นปัจจัยผลักดันด้วย ขณะที่ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม มีความมั่นคงปลอดภัย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและนานาประเทศ โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในอีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจมาก อีกทั้งมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร และมีสิทธิประโยชน์จูงใจจากภาครัฐ ซึ่งบีโอไอหวังว่าการจัดงานครั้งนี้ไม่เพียงช่วยให้นักลงทุนจีนมองเห็นโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และมีความเข้าใจในมาตรการสนับสนุนต่างๆ แต่จะช่วยตอกย้ำให้นักลงทุนจีนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม พฤษภาคม 2563) มีโครงการลงทุนจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 82 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 15,069 ล้านบาท นับว่าสูงที่สุดของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งในแง่จำนวนโครงการและเงินลงทุน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์และพลาสติก เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมเบา เช่น กระเป๋าเดินทาง เครื่องกีฬา และเฟอร์นิเจอร์