เสียงสะท้อนครูไทย (เรียน) “ออนไลน์” เวิร์คไหมสำหรับเด็ก?

เสียงสะท้อนครูไทย (เรียน) “ออนไลน์” เวิร์คไหมสำหรับเด็ก?

หลายเสียงสะท้อน นานาทัศนะที่เกิดขึ้นหลังวันแรกที่เปิดเทอมการเรียนออนไลน์เด็กไทยทั่วประเทศ จึงเกิดการตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วเรียนออนไลน์เหมาะสมหรือไม่สำหรับเด็กไทย

การเสวนาออนไลน์ชุดยกขบวน ชวนคิด ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ปและสนับสนุน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงชวนนักวิชาการด้านการศึกษาและพัฒนามาแท็กทีมร่วมกันเปิดประเด็น “เมื่อเด็กๆ ต้องเรียน online พัฒนาการด้านอื่นๆ ก็สำคัญ”เพื่อค้นหาคำตอบว่าระบบการศึกษาไทยต้องปรับตัวอย่างไรในยุคการเรียนแบบโควิด

เพราะต้องยอมรับว่า ในความเป็นจริงเรา หากไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดรอบสองได้ ก็อาจไม่ใช่ครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่เด็กไทยต้องเรียนออนไลน์กันยกประเทศก็เป็นได้

เสียงสะท้อนครูไทย (เรียน) “ออนไลน์” เวิร์คไหมสำหรับเด็ก?

เริ่มที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ความเห็นว่า หากมีการเปิดเทอมโรงเรียนที่มีปัญหาคือโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนระดับหลายพันคน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ระบบการเรียนแบบ on site หรือ face to face ในโรงเรียนย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าและเหมาะสมสำหรับเด็กนักเรียน เพราะไม่เพียงส่งเสริมในแง่ประสิทธิภาพการเรียนรู้ แต่การที่เด็กไปโรงเรียนยังเป็นโอกาสในการเสริมพัฒนาการทางสังคม การเรียนรู้การปรับตัวเข้าสังคมของเด็กๆ ด้วย

นอกจากนี้ อีกบทบาทของโรงเรียนทั่วโลก คือยังเป็นฐานสำคัญการส่งเสริมสวัสดิการด้านการดูแลเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารกลางวัน ตลอดจนสวัสดิการด้านสังคม ที่จะช่วยเด็กที่มีปัญหา อาทิ ถูกทอดทิ้ง ปัญหาในครอบครัวหรือแม่ที่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งการเรียนที่บ้าน ยังทำครูไม่ได้ทำบทบาทสร้างการเรียนรู้ ได้อย่างเต็มที่

“อีกอุปสรรคสำคัญของการเรียนออนไลน์คือ เป็นการทิ้งภาระให้ผู้ปกครอง ซึ่งอาจไม่มีเวลา ไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้ และยังเปิดโอกาสให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราควรพิจารณาเพื่อหามาตรการป้องกันไว้ ข้อสาม คือ เด็กจะถูกละเลยจากการดูแลสุขอนามัยตามกฎความปลอดภัยเพื่อป้องกันการรับและแพร่เชื้อ ซึ่งได้แก่ 1. ระยะทาง เช่น รถโดยสาร ห้องเรียน โรงอาหาร สนามเด็กเล่น 2. การล้างมือและใช้เจลแอลกอฮอล์ และ 3 สวมหน้ากากผ้า

เสียงสะท้อนครูไทย (เรียน) “ออนไลน์” เวิร์คไหมสำหรับเด็ก?

 

เรียนออนไลน์ ควรเรียนนานแค่ไหน

“ออนไลน์ไม่ควรถูกใช้เพื่อสอนเนื้ออย่างเดียว แต่สอนพัฒนาการของเขา”

ในมุมมองของนักการศึกษา ธิดา พิทักษ์สินสุข อุปนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สำหรับเด็กเล็กและปฐมวัย การเรียนที่บ้านที่ดีที่สุดคือการเรียนแบบออฟไลน์

“มีบางโรงเรียนครูจัดเตรียมอุปกรณ์ไปสอนเด็กที่บ้าน ออกแบบการเรียนแบบส่งเสริมพัฒนาการ แต่ในกรณีที่จะต้องใช้ออนไลน์ ก็มีข้อดี ถ้าจัดการดีๆ ช่องทางออนไลน์จะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน รวมถึงการออกแบบกิจกรรมที่ทำร่วมกันบนหน้าจอ”

แต่โดยหลักการด้านการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้แบบออนไลน์ ไม่แนะนำในเด็กเล็ก พ่อแม่สอนดีกว่า ที่สำคัญเด็ก 3-6 ปี ควรไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง และควรแบ่งย่อยเป็นช่วงไม่เกิน 20 นาที

“เราต้องตั้งหลักให้ดี ว่าครูปฐมวัยไม่ว่าจะสอนวิธีไหนก็ตามต้องยึดถือหลักการ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ส่งเสริมพัฒนาการ 4 ด้านของเด็ก คำนึงถึงพัฒนาการ การเคลื่อนไหว มีความสุข พัฒนาด้านสติปัญญา แต่ด้านสังคมอาจอ่อนอาจขาด แต่พ่อแม่ช่วยได้ และเด็กต้องไม่หลุดเรื่องพัฒนาการด้านตัวตน สร้างกิจกรรมที่ทำให้เด็กรู้สึกมีความภาคภูมิใจ รวมถึงเรื่องของการพัฒนาทักษะ EF เนื่องจากเป็นช่วงวัยนี้สมองมีพัฒนาการทักษะนี้สูงสุด

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมกระบวนการชวนเด็กเรียนในลักษณะ active learning คือการออกแบบให้เด็กรู้สึกสนุกเพลิดเพลิน เหมาะกับวัยของเขา มีเจตคติที่ดี มีสัมพันธภาพที่ดี และสร้างปฏิสัมพันธ์กัน โดยเนื้อหาอาจใช้เรื่องรอบตัว แต่สอดแทรกกระบวนการแบบ active learning เข้าไป ประโยชน์ทางอ้อมคือส่งผลให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน

  เสียงสะท้อนครูไทย (เรียน) “ออนไลน์” เวิร์คไหมสำหรับเด็ก?

ที่บ้าน ครูสำคัญที่สุดคือพ่อแม่

มาฟังฝั่งครูผู้ผ่านประสบการณ์สอนแบบออนไลน์บอกเล่าความจริงให้ฟัง เริ่มด้วย กรองทอง บุญประคอง ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) กล่าวว่า การเรียนออนไลน์เป็นเครื่องมือชั่วคราวที่รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่คนที่ต้องทำงานร่วมกับโรงเรียน คือ “พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง” แต่ปัญหาคือเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

“สำหรับที่โรงเรียนจิตตเมตต์ เราใช้เวลากับพ่อแม่เยอะหน่อย โชคดีที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มีความเตรียมพร้อม ในครั้งแรกทางโรงเรียนมีการจัดปฐมนิเทศพ่อแม่ออนไลน์ก่อน ส่วนกิจกรรมการเรียนออนไลน์ กับนักเรียนเราจะเน้นการเรียนแค่ช่วงเวลาสั้นๆ”

อาจารย์กรองทองเผยว่า ในด้านการเรียนสอนในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดนี้ โรงเรียนจิตต์เมตต์เองก็มีการเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กด้วยเช่นกัน

“เราทดลองในเบื้องต้น ว่าการเรียนวิธีแบบไหนมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร เพราะเราเชื่อว่าแต่ละโรงเรียนมีบริบทที่ต่างกัน จึงพยายามเรียนรู้แต่ละแพลตฟอร์มให้หลากหลาย เพื่อรู้ว่าควรใช้เครื่องมือใดให้ตรงวัตถุประสงค์ที่จะช่วยปิดจุดอ่อนของสถานการณ์ให้มากที่สุดได้บ้าง”

ครูกรองทองชี้แจงว่า การเรียนแบบ Home base learning ควรเริ่มเรียนรู้จากการมองหาความสุขง่ายๆ รอบตัวในบ้าน นำมาสร้างกิจกรรมกับเด็ก เพื่อช่วยให้เขารู้สึกสนุกสนาน

เสียงสะท้อนครูไทย (เรียน) “ออนไลน์” เวิร์คไหมสำหรับเด็ก?

ปลดล็อกจากแบบเรียน

“การออกแบบการเรียนการสอน เราใช้เด็กเป็นตัวตั้งก่อน”

ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กต้องดูความพร้อมตัวเอง ตลอดจนทักษะการใช้งานอุปกรณ์ไอที เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งครูและเด็ก ต้องสร้างกันใหม่

แต่อีกปัญหาหนึ่งที่เจอจากการเรียนระบบออนไลน์ คือครูมีความเครียดในเรื่องการจัดการการเรียนการสอน โดยเฉพาะการจัดการเวลา เนื่องจากการเตรียมการต้องใช้เวลามากกว่าการสอนในโรงเรียนมากกว่าสองเท่า

“เราบอกให้ครูวางหนังสือแบบเรียนทิ้งไปเลย และมองตัวชี้วัดน้อยลง ซึ่งปรากฏว่ากิจกรรมสนุกมากขึ้น

โดยสิ่งแรกที่เราต้องคุยกับครูคือ เข้าใจว่าความเป็น new normal เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องคาดหวัง คุณครูต้องมีความยืดหยุ่น ความสมบูรณ์แบบการเรียนออนไลน์เป็นไปไม่ได้ ต้องคลายล็อก

นอกจากนี้ ในด้านการพร้อมของผู้เรียน หากเราจะคาดหวังให้เด็กอยู่กับสิ่งที่เราเตรียมให้เป็นชั่วโมงผศ.ดร.ยศวีร์ เอ่ยว่าเป็นเรื่องยาก

“จากสถิติที่เราศึกษามาจากประเทศสิงคโปร์ว่า เด็กและพ่อแม่มีเวลาสำหรับในการเรียนแบบออนไลน์หรือ Home base learning เฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง ปรากฏว่าเรามาสอบถามผู้ปกครอง ได้คำตอบว่าความเป็นจริงทำได้แค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับเราที่ว่าเวลาแค่นี้จะดีไซน์กิจกรรมอย่างไรให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด หรือเราจะประยุกต์อย่างไร” ผศ.ดร.ยศวีร์เอ่ย

“การที่เราไม่ได้อยู่ในห้องเรียน การสื่อสารผ่านเครื่องมือออนไลน์ต้องมีลูกเล่นมากกว่าเป็นพิเศษ และเห็นด้วยว่าพ่อแม่ผู้ปกครองสำคัญที่สุดในช่วงนี้ แต่จากการสำรวจของเรา 60% ของพ่อแม่บอกว่าไม่มีความพร้อม ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีหลายอย่าง แต่ท้ายสุดแล้ว ไม่ว่ากิจกรรมจะตอบสนองอะไรสำคัญสุดคือต้องตอบสนองการพัฒนาการทักษะของเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

ผศ.ดร.ยศวีร์ให้ข้อมูลต่อว่า ในเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ครูอาจต้องเตรียมความพร้อมและการปรับตัวในการเรียนรู้ เพราะเพิ่งเลื่อนมาจากชั้นอนุบาล ยังไม่ต้องเน้นเนื้อหาวิชาเรียนมากนัก แต่เมื่อขึ้นมาชั้นประถมศึกษที่ 2 ขึ้นไป แล้วถึงควรเตรียมรายละเอียดย่อยด้านเนื้อหาการเรียน ส่วนเด็กประถมศึกษาตอนปลาย อาจมีความอดทนมากกว่า แต่ก็ได้แค่ระยะเวลาหนึ่ง ต้องออกแบบเครื่องมือที่เหมาะสมกับเขา

 

ทุกวัน ทุกที่ คือการเรียนรู้

ด้าน พลรัฐ ตะโนดแก้ว โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงการออกแบบวิธีการเรียนที่สาธิตฯ ว่า แบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกทดลอง เนื่องจากตอนแรกโรงเรียนยังไม่ปิด สอง คือช่วงที่พยายามปรับและเรียนรู้สถานการณ์

“เราเริ่มจากตีความก่อนว่า “ออนไลน์” คืออะไร เป็นแค่การเรียนในอินเตอร์เน็ต หรือการเรียนทางไกล เมื่อคิดโจทย์ คือเรียนทางไกลจึงมีหลากหลายวิธีการให้เลือก” พลรัฐเอ่ย

ภารกิจแรกที่โรงเรียนเริ่มต้น คือทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและเด็กว่า การเรียนออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องเรียนได้ทั้งหมดนะ ทั้งนี้เพื่อลดความคาดหวังจากทั้งครู เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง

“จากนั้น เราได้ออกแบบวิธีการกระบวนการเรียนการสอนโดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์  ซึ่งเดิมในห้องเรียนครูเป็นกระบวนกร ผู้ออกแบบกระบวนการที่มีหลักการคือเน้นพัฒนาการเด็กด้านต่างๆ แต่หลังจากต้องปรับเปลี่ยน ครูเริ่มจากเรียนรู้ธรรมชาติของเด็กหรือผู้เรียน ว่าคือใคร มีความสามารถแบบไหน สอง ผู้ปกครองสามารถซัพพอร์ทได้แค่ไหน ครูเองก็ต้องวิเคราะห์ตัวเองหนักมากว่าจะใช้วิธีการสอนอย่างไร และอีกสิ่งคือ การปรับการประเมิน ไม่สามารถใช้การประเมินแบบเดิม”

ครูพลรัฐยืนยันว่าทุกบทเรียนต้องเผื่อพื้นที่ให้ความสนุกของนักเรียน และแฝงไปด้วยความสนุกผู้ปกครองและคุณครู

“ปกติเราเรียนที่เนื้อหา แต่เราวิธีการนี้จะใช้ประสบการณ์นักเรียนเป็นตัวตั้ง ออกแบบการเรียนรู้ ซึ่งพบว่าในช่วงการเรียนออนไลน์ของเรา เราฝึกเด็กได้หลายอย่าง หนึ่ง เรามีเวทีในการสร้างวินัยในตัวเด็ก โดยการให้ความไว้วางใจ ให้อิสระในการเลือกวิธีการเรียน สอง ให้เด็กวางแผนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เวลาไหน วิธีการใด วางเป้าหมาย สาม ฝึกการสะท้อนการเรียนรู้ชัดเจน ว่าตัวเขาเป็นอย่างไร สิ่งที่เรียนไปมีความหมายต่อตัวนักเรียน”

 

ความกังวลของพ่อแม่

พลรัฐเปิดประเด็นว่า พ่อแม่มักติดภาพการเรียนที่เคร่งครัดบางอย่าง เช่นเรื่องการประเมินผล ซึ่งควรมองว่าเป็นความสำคัญในลำดับสุดท้ายของสถานการณ์นี้

“บางคนอาจมองว่าชั้นสอนไม่เป็น สอนไม่ได้ อยากบอกว่าให้คลายความกังวล เพราะในสถานการณ์นี้ไม่มีใครถูกใครผิดใน New Normal ในประเทศสิงคโปร์จะพูดชัดคือ Home base learning หน้าที่ครูในระบบนี้ คือจัดกิจกรรมให้เด็กที่บ้าน และอีกส่วนคือการให้ความรู้พ่อแม่ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับลูกที่บ้าน โดยมีครูคอยช่วยแนะนำ หากพ่อแม่ไม่ยืดหยุ่นวิธีการหรือเป็นกังวล ก็อาจเป็นอุปสรรคหรือหย่อนการเรียนรู้ของลูกอย่างเต็มประสิทธิภาพ”

นพ.ยงยุทธ แนะนำว่าการจะแก้ความกังวลพ่อแม่ได้ หัวใจสำคัญคือต้องมีโครงสร้างหรือแผนการเรียนที่ชัดเจน

“การเรียนรู้มี สามองค์ประกอบ personalize learning ให้เด็กเรียนรู้เอง Online/On air learning และ class learning ซึ่ง การปรับให้เด็กมีสัดส่วนการเรียนสามส่วนอาจไม่เท่ากัน แล้วแต่บริบท ขณะเดียวต้องอธิบายสิ่งเหล่านี้ให้พ่อแม่ฟัง เพื่อปรับบทบาทตามกระบวนการ จะทำให้พ่อแม่ลดความกังวลไปเยอะ” นพ.ยงยุทธกล่าว

 

จัดเช็คลิสต์กับพ่อแม่ แก้ปัญหาเรียนไม่ล่ม

“ทุกเช้าเราจะส่ง greeting message พร้อมรายละเอียดอธิบายโครงสร้างกิจกรรมแต่ละวันให้พ่อแม่ เพื่อให้เขาทำเช็คลิสต์กิจกรรมได้ พ่อแม่ก็จะสบายใจว่า เขาต้องทำอะไรบ้าง วิธีการนี้ช่วยทั้งพ่อแม่และคุณครูได้เยอะพอสมควร” ผศ.ดร.ยศวีร์ ทิ้งท้าย โดยแอบเผยเทคนิคส่วนตน

อย่างไรก็ดี เขามองว่าคุณครูอาจต้องตั้งเป้าหมายระยะสั้น ที่ยังคงเป็นเป้าหมายที่มุ่งส่งเสริมพัฒนาการแต่ละด้านของเด็ก เท่าที่ทำได้ภายใต้สภาวะการณ์เช่นนี้

“จริงๆ หลักการไม่ต่าง เด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาสนใจหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ในชีวิตประจำวันของเขา ครูต้องนำกิจกรรมไปสู่การตอบโจทย์สิ่งที่เด็กสนใจเหล่านี้ให้ได้

ท้ายสุด ในฐานะผู้สอน ทุกคนยังเชื่อว่าโควิด-19 ไม่ใช่แค่วิกฤตเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นโอกาสสำคัญของโรงเรียนที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ที่สร้างความพร้อมให้เด็กได้ในทุกสถานการณ์