ผู้บริโภคยุคดิจิตอล อำนาจใหม่ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

ผู้บริโภคยุคดิจิตอล อำนาจใหม่ที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต ที่ปัจจุบันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ

โลกทั้งโลกจึงแคบลงอย่างเห็นได้ชัด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่งสามารถแชร์ผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค หรืออินเทอร์เน็ตไปยังอีกซีกโลกได้ในทันที ซึ่งสามารถส่งผลทั้งในแง่ดีหรือลบต่อบุคคล สินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องได้อย่างมหาศาลเช่นกัน จากตัวเลขในปี 2014 พบว่าคนไทยมีสมาร์ทโฟนกว่า 44 ล้านเครื่อง ซึ่งหมายความว่าบุคคลเหล่านั้นพร้อมที่จะเข้าอินเทอร์เน็ตรับรู้ข่าวสาร ส่งต่อ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในทันที

นักการตลาดในปัจจุบันจึงไม่ควรมองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นแค่เพียงช่องทางสื่อสารเท่านั้น แต่อินเทอร์เน็ตยังทำให้ผู้บริโภคมี Lifestyle เปลี่ยนไปและมีพลังอำนาจมากขึ้น นอกจากการส่งต่อข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นแล้วยังสามารถเข้าถึงข่าวสาร และเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใด ๆ ได้ด้วยตนเอง อำนาจเดิมซึ่งเป็นของธุรกิจ จึงมาตกอยู่ในมือของผู้บริโภคแทน ธุรกิจปัจจุบันจึงจำเป็นจะต้องปรับตัว ปรับกระบวนการคิดใหม่ทั้งหมด แบรนด์ที่เคยอยู่มานานอาจจะไม่ใช่แบรนด์ที่เป็นที่นิยมอีกต่อไป แบรนด์ใหม่ ๆ พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลาและสามารถเป็นที่รู้จักและนิยมได้หากเข้าใจและบริหารจัดการผู้บริโภคในยุคดิจิตอลเป็น

คุณณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง Vice President-Head of Online Marketing แห่ง DTAC กล่าวในงานสัมมนา Strategic Forum 2015 ที่จัดโดยศูนย์พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategic Center) ไว้ว่าในวัน ๆ หนึ่งผู้บริโภคจะได้รับ message ถึงวันละ 10,000 message ดังนั้นเพื่อให้สามารถดึงความสนใจของผู้บริโภคได้ นักการตลาดจึงจะต้องเรียนรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงเพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา ทัศนคติ แต่ยังต้องเก็บข้อมูลเชิงลึก เช่น กลุ่มลูกค้ามีกี่กลุ่ม บุคลิกเป็นอย่างไร เสพสื่อจากช่องทางไหน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างไร มีกระบวนการตัดสินใจอย่างไร และหากเป็นไปได้ควรหาโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมหรือใกล้ชิดกับผู้บริโภค เพื่อทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้บริโภค รวมทั้งวิเคราะห์ และเลือกใช้ข้อมูล เพื่อนำเสนอหรือสื่อสารออกไปโดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดความดึงดูดใจที่มากพอในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

“เราควรใช้ประโยชน์จากการที่คนในยุคปัจจุบันชอบแชร์เรื่องราวหรือประสบการณ์ต่างๆ ว่าเขารู้สึกอย่างไรผ่านช่องทางต่างๆ มาเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ได้ ซึ่งใครสามารถตีโจทย์ได้เร็วกว่าจะยิ่งได้เปรียบ เพราะการคิดนานเป็นการเสียโอกาส แต่การคิดเร็วแล้วลงมือทำเลยหากมันไม่ดี เราก็สามารถเปลี่ยนไปทำวิธีการใหม่ๆ ได้ ดังนั้นเราจึงควรที่จะต้องมีการปรับตัวไปตามสถานการณ์อย่างรวดเร็วอยู่เสมอ”

นอกจากนี้นักการตลาดยังต้องรู้จักเลือกใช้สื่ออย่างบูรณาการและมีกลยุทธ์ รู้ว่าสื่อประเภทไหนหมาะกับการทำตลาดแบบใด สินค้าประเภทไหน ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ค ยูทูป อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ SEO อีเมล์มาร์เก็ตติ้ง PPC ฯลฯ ซึ่งทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นเรื่องท้าทายและแปลกใหม่ทั้งสิ้น เพราะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลา   

สำหรับท่านที่ต้องการเข้าใจการตลาดยุคดิจิตอลมากขึ้น สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรอบรม “ติดปีกการตลาดยุค Digital” บรรยายโดยคุณณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ที่ศูนย์พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจจะจัดขึ้นได้ที่ www.sbdc.co.th  โทร.02-5592146