มาตรการบีโอไอ รับมือผลกระทบโควิด-19

มาตรการบีโอไอ รับมือผลกระทบโควิด-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโรคติดต่ออันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทต่างๆ ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเวชภัณฑ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment: PPE)

รัฐบาลจึงต้องหามาตรการเพื่อเพิ่มความมั่นคงของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ทั้งภาคการแพทย์และประชาชนทั่วไปตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการแพทย์อยู่แล้ว จึงได้เพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็ว เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ดังนี้

 

มาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์

(1) มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อรับมือกับ COVID-19 โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งปกติจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี อยู่แล้ว เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย  รวมถึง Non- Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ยาและสารออกฤทธิ์สำคัญในยา และกิจการในกลุ่มไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมถึงโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 และต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ กำหนดว่าต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563 - 2564

(2) มาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ สำหรับผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว สามารถขอปรับเปลี่ยนสายการผลิตที่มีอยู่เดิม เพื่อใช้ในการผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วนได้ รวมทั้งกรณีที่จำเป็นต้องลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม แม้โครงการจะหมดระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรแล้ว โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร แต่ต้องนำเข้าเครื่องจักรภายในปี 2563 และยื่นขอแก้ไขโครงการภายในเดือนกันยายน 2563

(3) การปรับสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ จึงเพิ่มเติมขอบข่ายประเภทกิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร ให้ครอบคลุมถึงการผลิตแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ (Pharmaceutical Grade) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้กิจการผลิต Non- Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์การแพทย์ จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็น 5 ปี

มาตรการบีโอไอ รับมือผลกระทบโควิด-19

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ตามปกติจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาล บีโอไอจึงมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อบรรเทาผลกระทบสำหรับผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ดังนี้

มาตรการผ่อนปรนเพื่อบรรเทาผลกระทบสำหรับผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

(1) การขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรและเปิดดำเนินการสำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กรณีโครงการที่ครบกำหนดระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรและเปิดดำเนินการระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563 ให้สามารถยื่นขอขยายเวลาดังกล่าวได้ออกไปอีก 6 เดือน นับจากวันครบกำหนด

(2) การผ่อนผันการเปิดดำเนินการล่าช้า กรณีโครงการที่ครบกำหนดเปิดดำเนินการระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 30 มิถุนายน 2563 ผ่อนผันให้สามารถยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการภายในเวลา 6 เดือน นับจากวันครบกำหนดเช่นเดียวกัน โดยสำนักงานจะไม่นำเงื่อนไขการเปิดดำเนินการมาประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้สิทธิและประโยชน์ด้านช่างฝีมือ การใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และการขยายเวลายกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบเพื่อการส่งออก

(3) การขยายเวลาการดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เช่น ISO 9002, CMMI เป็นต้น หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า สำหรับโครงการที่ครบกำหนดการดำเนินการระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 30 มิถุนายน 2563 ให้ขยายเวลาออกไปอีก 4 เดือน นับจากวันครบกำหนด ทั้งนี้ตามเงื่อนไขปกติ หากโครงการไม่สามารถดำเนินการให้ได้รับรองมาตรฐานสากลภายใน 2 ปี หลังจากครบเปิดดำเนินการ จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 ปี

(4) การผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 เดือน โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตจากสำนักงาน เพียงแต่แจ้งให้ทราบผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น

มาตรการบีโอไอ รับมือผลกระทบโควิด-19

ขยายเวลาการยื่นคำขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

รวมทั้งบีโอไอยังได้ขยายเวลาการยื่นคำขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิมเป็นภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 หรือก่อนครบกำหนดเวลายื่นรายการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้สอดคล้องตามที่กระทรวงการคลังได้ขยายเวลาการยื่นรายการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จากเดิมต้องยื่นภายในเดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

เปิดใช้ e-Submission ซึ่งเป็นระบบการส่งจดหมาย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 บีโอไอได้เปิดใช้ e-Submission ซึ่งเป็นระบบการส่งจดหมาย และเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีบริการ e-Service ที่ช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของบีโอไอ ผ่านเว็บไซต์ www.boi.go.th ตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ร่วมกันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

--------------------------------------------

ช่องทางการติดต่อบีโอไอ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

1.โทรศัพท์: 0 2553 8111

2.อีเมล: [email protected]

3.ไลน์: @boinews

4.เฟซบุ๊ก: BOI NEWS

--------------------------------------------