น้ำมันดิบล้นไม่มีที่เก็บ ผลจากการล็อคดาวน์สู้โควิด-19

น้ำมันดิบล้นไม่มีที่เก็บ ผลจากการล็อคดาวน์สู้โควิด-19

หลังการประชุมกลุ่มโอเปกและพันธมิตร หรือโอเปกพลัสล้มเหลว เมื่อวันที่ 5 - 6 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากรัสเซียไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของซาอุดิอาระเบียที่จะร่วมกันลดกำลังการผลิตอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

หลังการประชุมกลุ่มโอเปกและพันธมิตร หรือโอเปกพลัสล้มเหลว เมื่อวันที่ 5 - 6 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากรัสเซียไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของซาอุดิอาระเบียที่จะร่วมกันลดกำลังการผลิตอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบจากผลกระทบปัญหาไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ทำให้ซาอุดีอาระเบีย ประกาศพร้อมที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดน้ำมันกลับคืนมา โดยเพิ่มกำลังการผลิตจนกลายเป็นสงครามราคาน้ำมัน  ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรงมากยิ่งขึ้น ยิ่งส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบที่หดหายทันที อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกหยุดให้บริการ การเดินทางโดยรถยนต์ลดลง รวมถึงการยุติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่อง

น้ำมันดิบล้นไม่มีที่เก็บ ผลจากการล็อคดาวน์สู้โควิด-19

ทรัมป์ เสนอเป็นคนกลางสานสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มโอเปกพลัส

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เล็งเห็นว่าด้วยราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตน้ำมันดิบในประเทศตนเอง ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก แต่มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย จึงได้เสนอเป็นคนกลางในการเจรจาสานสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกลุ่มโอเปกพลัส คือ ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย พร้อมข่มขู่ด้วยว่า จะใช้มาตรการคว่ำบาตรโดยการขึ้นภาษี หากไม่ลดกำลังการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด ในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มโอเปกพลัสจึงได้จัดประชุมฉุกเฉิน โดยจะลดกำลังการผลิตรวม 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือราว 10% ของอุปทานน้ำมันโลกในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2563 นี้ โดยชาติสมาชิกโอเปกพลัสแต่ละรายจะลดกำลังการผลิตลงราว 23% โดยซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจะลดกำลังการผลิตราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้เม็กซิโกเป็นประเทศเดียวที่ไม่ลดกำลังการผลิตตามข้อเสนอของกลุ่มโอเปกพลัสที่ระดับ 400,000 บาร์เรล ต่อวัน หากยืนกรานจะลดกำลังการผลิตที่ระดับ 100,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น กลุ่มโอเปกพลัสยังจะลดกำลังการผลิตลงราว 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2563 และจะลดกำลังการผลิตต่อเนื่องอีก 6 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมกราคม 2563 – เมษายน 2564 จากนั้นการประชุมของรัฐมนตรีพลังงานกลุ่มประเทศ “จี 20” ในวันที่ 10 - 11 เมษายนนี้ ได้มีข้อสรุปว่าประเทศนอกกลุ่มโอเปกพลัส เช่น สหรัฐฯ แคนาดา บราซิล จะร่วมกันลดกำลังการผลิตอย่างน้อย 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามข้อตกลงนี้ไม่ได้มีอย่างเป็นทางการ

น้ำมันดิบล้นไม่มีที่เก็บ ผลจากการล็อคดาวน์สู้โควิด-19

ความต้องการน้ำมันหดตัว การผลิตน้ำมันล้นจนไม่มีที่เก็บ

แม้จะมีข้อตกลงลดกำลังการผลิตร่วมกันถึง 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากแต่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในเดือนเมษายนนี้หดตัวอยู่ที่ระดับ 29 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 29% ของอุปทานทั้งโลก ส่งผลให้ภาพรวมตลาดยังคงกังวลต่อภาวะน้ำมันล้น โดยคลังเก็บน้ำมันทั่วโลกคาดการณ์จะเต็มในต้นเดือนพฤษภาคม 2563 จนไม่เหลือพื้นที่ให้น้ำมันกักเก็บ ขณะที่น้ำมันดิบยังคงถูกผลิตออกมาในทุกๆ วัน โดยในเดือนเมษายนนี้ยังไม่มีข้อกำหนดในการลดกำลังการผลิตจากกลุ่มโอเปกพลัส ขณะที่กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ยังไม่ลดลงในทันที ปริมาณการผลิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัสปิดตลาดเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) ด้วยราคาที่ทรุดตัวลงอย่างหนักถึง 55 ดอลลาร์ ซึ่งปิดตลาดในแดนลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การค้าน้ำมันที่ -37.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากกลุ่มนักลงทุน เช่น กองทุนน้ำมันต่างๆ ที่ถือสัญญาล่วงหน้าของเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะครบกำหนดในวันนี้ 21 เมษายนนี้ไว้จำนวนมาก พยายามจะเร่ขายสัญญา เนื่องจากถ้าถือไว้ต้องรับมอบน้ำมันดิบจริง หากแต่ด้วยภาวะน้ำมันดิบล้นจนจะไม่มีที่เก็บ จึงไม่มีผู้ซื้อมารับซื้อก่อนสัญญาจะหมดลง ผู้ขายจึงต้องเร่ขายสัญญาในราคาที่ต่ำลงไปเรื่อยๆ จนเป็นการขายน้ำมันที่ราคาติดลบเป็นครั้งแรก จนส่งผลให้น้ำมันดิบเบรนท์และดูไบปรับตัวลดลงตามทันที เนื่องจากความกังวลเรื่องน้ำมันล้นจนไม่มีที่เก็บเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ คงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด 2019 ว่าจะเข้าสู่ภาวะที่ควบคุมได้ และเป็นปกติได้เมื่อใด เนื่องจากในหลายประเทศจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง และเริ่มมีมาตรการปลดล็อคต่างๆ มากขึ้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ออกมาด้วย ส่วนทางด้านผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ เช่นกลุ่มโอเปกพลัส และสหรัฐฯ คงจะต้องหาทางร่วมกันลดกำลังการผลิตให้เร็วกว่าแผนเดิมที่เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมนี้ และต้องร่วมกันลดกำลังการผลิตให้มากกว่าที่ตกลงกันไว้เพื่อให้น้ำมันเข้าสู่ภาวะสมดุล


โดย “นักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันกลุ่ม ปตท. (PRISM)”