“ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง” อู่ข้าวอู่น้ำของนักลงทุนไทย

“ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง” อู่ข้าวอู่น้ำของนักลงทุนไทย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมมือกับสภาหอการค้าไทย-กัมพูชา ได้จัดกิจกรรมนำนักลงทุนไทยเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุนไทยในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งประกอบไปด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีกิจกรรมเข้าพบหารือหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสรรหาความร่วมมือระหว่างกัน สร้างเครือข่าย ขยายตลาดและเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการกัมพูชาและเวียดนาม ศึกษาเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ และกระชับความสัมพันธ์กับหน่วยงานในพื้นที่ เส้นทาง 2 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา และจังหวัดเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม ในช่วงระหว่างวันที่ 21 - 25 ตุลาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโอกาสและศักยภาพการลงทุนของประเทศกัมพูชาและเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยได้เข้าพบหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในแต่ละเมือง ดังนี้

1. กรุงพนมเปญ (Phnom Penh) ประเทศกัมพูชา

กรุงพนมเปญ เป็นเมืองหลวงของประเทศกัมพูชา มีประชากรประมาณ 2 ล้านคน มีเนื้อที่ 1,963.2 ตารางกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปทั่วประเทศ มีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ ตั้งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางของการเมือง วัฒนธรรม และศูนย์ราชการของประเทศ มีมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรก คือ Royal University of Phnom Penh (RUPP) ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของประเทศ

โดยในการเยือนครั้งนี้ทางคณะนักลงทุนไทยได้มีโอกาสได้เข้าพบ Mr. Kem Sithan, Secretary of State, Ministry of Commerce โดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ และทรัพย์สินทางปัญญา มีบทบาทหลัก ได้แก่ การดูแลราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร ดูแลผู้บริโภคภายใต้กรอบกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งการค้าสินค้าและธุรกิจบริการ คุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา เจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดระเบียบและบริหารการนำเข้าส่งออกสินค้า ข้อตกลงต่างๆ และรักษาผลประโยชน์ทางการค้า รวมทั้งส่งเสริมและเร่งรัดการส่งออก ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจของกัมพูชามีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ามายังไทย เมื่อเทียบกับปี 2560 แล้วมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้า ส่งออกหลัก ได้แก่ สินค้าประเภทเกษตร (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ผลไม้) สินค้าประเภทเครื่องหนัง และเสื้อผ้า ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ วัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องมือและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ น้ำมัน และสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร

โอกาสและลู่ทางการลงทุนที่น่าสนใจในกัมพูชา

ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูปที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร กิจการโรงสีข้าวและคัดคุณภาพ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร เพื่อรองรับกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี ข้อได้เปรียบของประเทศไทยในการเข้าไปค้าขายในกัมพูชาคือ การมีชายแดนระหว่างกันเป็นระยะทางยาว ซึ่งประเทศไทยและกัมพูชามีจุดผ่านแดนถาวร จำนวน 7 แห่ง ที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และยังมีจุดผ่านแดนชั่วคราวหรือจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าและการท่องเที่ยวอีก 4 แห่ง โดยอุตสาหกรรมที่อยากให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปพืชเกษตร โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่ว และงา ซึ่งเป็นพืชผลทางการเกษตรที่มีศักยภาพของกัมพูชา และการจัดตั้งธุรกิจในกัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของบริษัทได้ 100% โดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้นร่วมกับคนท้องถิ่น ในส่วนของสิทธิในการถือครองที่ดินสำหรับต่างชาตินั้น กัมพูชาไม่อนุญาตให้ซื้อที่ดินได้ ดังนั้น ชาวต่างชาติหรือนิติบุคคลสามารถเช่าที่ดินระยะสั้นหรือสามารถต่ออายุได้โดยมีกำหนดระยะเวลาเช่าสูงสุด 50 ปี และต่ออายุได้ไม่จำกัดครั้ง ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานกัมพูชาอยู่ที่ 190 USD ต่อเดือน ซึ่งเป็นการกำหนดใช้เฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป

 

2. จังหวัดเกิ่นเทอ (Can Tho) ประเทศเวียดนาม

จังหวัดเกิ่นเทอ เป็นหนึ่งใน 5 มหานครขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศเวียดนาม รองจากกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ตั้งอยู่ทางภาคใต้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ห่างจาก นครโฮจิมินห์ ลงไปทางใต้ประมาณ 170 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 1,401.6 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทางทิศเหนือติดกับจังหวัดอันยาง ด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจังหวัดด่งท้าป ด้านตะวันออกติดกับจังหวัดหวินห์ลอง ด้านทิศใต้ติดกับจังหวัด เหิ่วยาง และด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ติดกับจังหวัดเกียนยาง จังหวัดเกิ่นเทอเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำของทั้ง 13 จังหวัดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เปรียบเหมือนเมืองหลวงของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ โลจิสติกส์ การค้า การเงิน การบริการ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ศักยภาพที่สำคัญของจังหวัดเกิ่นเทอคือ มีพื้นที่โดยรอบของเมืองเป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรม ทำให้มีข้อได้เปรียบด้านการลงทุนคือ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในจังหวัดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และสามารถเชื่อมต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้โดยง่าย มีจำนวนประชากรจำนวนมาก และมีแรงงานที่มีทักษะดีจำนวนมาก สำหรับอุตสาหกรรมที่สำคัญของจังหวัดเกิ่นเทอคือ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

“ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง” อู่ข้าวอู่น้ำของนักลงทุนไทย

ในการเยือนครั้งนี้ทางคณะนักลงทุนไทยได้มีโอกาสได้เข้าพบ ท่านอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ โดยภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งการค้าและการผลิตในเวียดนามมีเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ มาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ เสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น แรงจูงใจทางภาษี และนโยบายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ จำนวนประชากรขนาดใหญ่ ซึ่งโฮจิมินห์เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม เศรษฐกิจการค้ามีสัดส่วนร้อยละ 34.5 ของ GDP เป็นที่ตั้งของธุรกิจ จำนวน 296,929 บริษัท มีอัตราว่างงานร้อยละ 3.95 มีสนามบินระหว่างประเทศ 1 แห่ง ท่าเรือ 38 ท่า และเขตอุตสาหกรรม 22 แห่ง และได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดในปี 2561 ในขณะที่เมืองอื่น ๆ ที่มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดยสินค้าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1) โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ และชิ้นส่วน 2) เสื้อผ้าและสิ่งทอ 3) คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบ 4) เครื่องจักรและเครื่องมือ 5) รองเท้า ซึ่งตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง คือ สหรัฐอเมริกา

โอกาสและลู่ทางการลงทุนที่น่าสนใจในเวียดนาม

ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของภาคธุรกิจค้าปลีกในประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกสูง เนื่องจากมีห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก (มินิมาร์ท) เพิ่มมากขึ้น การลงทุน FDI ในเวียดนามในช่วง 1 มกราคม – 20 มิถุนายน 2562 เวียดนามมีโครงการใหม่จากต่างประเทศทั้งหมด 1,723 โครงการ มูลค่า 18,468.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการลงทุนสะสมของประเทศที่ลงทุนในเวียดนามมากที่สุด ได้แก่ 1) เกาหลีใต้ (64,551.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) ญี่ปุ่น (57,899.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) 3) สิงคโปร์ (49,161.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ไทยได้เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมการผลิต 2) อุตสาหกรรมเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง 3) ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง 4) อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

สุดท้ายนี้ทางคณะยังมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจและไม่สามารถจะบรรยายเรื่องราวได้ทั้งหมดในบทความการสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ที่สร้างโอกาสสำหรับนักลงทุนจำนวนมากที่ยังรอการลงทุนเพื่อพัฒนาและสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ทั้งในสินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เครื่องจักรกลการเกษตร การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร อุตสาหกรรมประมงและสิ่งทอ ที่นับวันจะมีความสำคัญมาก ดังนั้นทางคณะจึงเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ เว็บไซต์ https://toi.boi.go.th หรือติดต่อปรึกษาการลงทุนไทยในต่างประเทศโดยตรงที่ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน อีเมล [email protected]

“ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง” อู่ข้าวอู่น้ำของนักลงทุนไทย