รองนายกฯ สมคิดนำทีมบีโอไอ คลัง อุตสาหกรรม และ ธกส. บุกชักจูงการลงทุนญี่ปุ่นรับปี 2563

รองนายกฯ สมคิดนำทีมบีโอไอ คลัง อุตสาหกรรม และ ธกส. บุกชักจูงการลงทุนญี่ปุ่นรับปี 2563

บีโอไอเผยรองนายกรัฐมนตรีนำทีมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น เพื่อพบหารือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เจโทรประเทศญี่ปุ่น ธนาคารด้านการเกษตรของญี่ปุ่น พร้อมนัดหารือการลงทุนร่วมกับบริษัทชั้นนำในหลายอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ ปิโตรเคมี วัสดุขั้นสูง (Advanced Material) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หวังดึงให้ขยายการลงทุนมาไทย

158193476658

       นางสาวดวงใจ  อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้จัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ในการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะได้เข้าพบนายโยชิฮิเดะ สึกะ (Mr. Yoshihide SUGA) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายโนบุฮิโกะ ซาซากิ (Mr. Nobuhiko SASAKI) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมการลงทุนระหว่างสองประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงเข้าพบผู้แทนจากธนาคารโนรินจูคิน (The Norinchukin Bank) ซึ่งเป็นธนาคารด้านการเกษตรของญี่ปุ่น เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีความพร้อม

       นอกจากคณะจะเข้าพบหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังมีกิจกรรมนัดหารือรายบริษัทกับผู้ประกอบการชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อชักจูงให้เข้ามาลงทุนรวมถึงขยายการลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี วัสดุขั้นสูง (Advanced Material) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการเกษตรที่ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้า เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและมีส่วนในการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรของไทย

       สำหรับอุตสาหกรรมในสาขาอื่นๆ คณะชักจูงการลงทุนมีเป้าหมายจะชักชวนให้เข้ามาลงทุนตามมาตรการกระตุ้นการลงทุน ซึ่งเป็นมาตรการที่ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่โครงการที่เร่งให้เกิดการลงทุนจริงภายในปี 2563 – 2564

       “เป้าหมายหลักของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการใหม่ๆ ของบีโอไอและกระตุ้นการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่น ส่วนการเข้าพบหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่น นอกจากจะได้หารือด้านความร่วมมือแล้วยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นอีกด้วย” นางสาวดวงใจกล่าวเสริม

ปี 2562 นักลงทุนญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 227 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุน 73,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 8 ทั้งนี้ ในด้านจำนวนโครงการ จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44 ของโครงการลงทุนทั้งหมดจากญี่ปุ่น หรือจำนวน 100 โครงการ ส่วนในด้านของมูลค่า จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 42 ของโครงการลงทุนทั้งหมดจากญี่ปุ่น หรือ 30,421 ล้านบาท