องค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศคาดการณ์ ไวรัสโคโรนากระทบเศรษฐกิจจีนชั่วคราว

องค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศคาดการณ์ ไวรัสโคโรนากระทบเศรษฐกิจจีนชั่วคราว

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เมืองอู่ฮั่นในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในโลกที่ทุกประเทศต่างพึ่งพาและเชื่อมโยงกันด้วยห่วงโซ่คุณค่าเดียวกัน ความผันผวนที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกย่อมก่อให้เกิดความไม่แน่นอนสูงในตลาดโลก

 

ไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในวงจำกัด

สถาบันด้านเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติหลายแห่ง ได้เผยแพร่การคาดการณ์เบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่มีต่อเศรษฐกิจ ในวันที่ 31 มกราคม คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) รายงานว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาจส่งผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสแรก แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบของสถานการณ์นี้ได้อย่างแม่นยำ ต้องรอให้จบไตรมาสแรกก่อน ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 21 มกราคม รายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ World Economic Outlook ที่เผยแพร่ในสวิตเซอร์แลนด์ รายงานว่า IMF ได้ทบทวนการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน โดยปรับขึ้นจาก 5.8 เปอร์เซนต์ เป็น 6 เปอร์เซนต์

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ธนาคารโลก (World Bank) และ IMF กล่าวว่า รัฐบาลจีนมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการโรคระบาดนี้ และเชื่อมั่นในความสามารถที่จะฟื้นคืนสู่ภาวะปกติรวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจของจีน ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ได้กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่ง ณ กรุงปารีส ว่า ขณะที่ภัยคุกคามจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะลดลง ไวรัสโคโรนาก็ทำให้โลกเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของโรคระบาดที่ระบุว่า โดยทั่วไปโรคระบาดสามารถที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น และจะค่อยๆ ลดลงในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับการคาดการณ์ของ Wei Shangjin อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ที่ให้ความเห็นเมื่อวันที่ 28 มกราคม ว่า หากสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ภายในเดือนเมษายนนี้ ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในวงจำกัด คืออาจทำให้ GDP ในปีนี้ของจีนลดลงเพียง 0.1 เปอร์เซนต์

องค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศหลักๆ ต่างคาดการณ์สถานการณ์ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับหน่วยงานรัฐบาลจีน โดยระบุว่าผลกระทบจากโรคระบาดที่มีต่อเศรษฐกิจจีนจะมากหรือน้อยแคไหนขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าและประสิทธิภาพของมาตรการป้องกันและควบคุม และดูเหมือนว่า “ผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งและชั่วคราว จึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่เป็นบวกในระยะยาวได้” ในการคาดการณ์ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา สถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น IMF มักจะใช้ตัวเลขจากการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) ที่เกิดขึ้นในปี 2546 เป็นเกณฑ์มาตรฐาน จากข้อมูลสถิติของ IMF จีนมีอัตราการเติบโตของ GDP 10 เปอร์เซนต์ ในปี 2546 ซึ่งสูงกว่าในปี 2545 อยู่ 0.9 เปอร์เซนต์ ระหว่างปี 2546 – 2555 จีนมีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยที่ 10.6 เปอร์เซนต์ และ 6.9 เปอร์เซนต์ ในช่วงระหว่างปี 2556 – 2562

ข้อมูลที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Bureau of Statistics of China) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มกราคม แสดงให้เห็นว่า GDP ของจีนมีมูลค่าถึงเกือบ 100 ล้านล้านหยวน (14.3 ล้านล้านดอลลาร์) ในปี 2562 และมูลค่า GDP ต่อหัวเกินกว่า 10,000 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ในปี 2562 จีนยังมีอัตราการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้น 6.1เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และ 6.4 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า

ในแง่ของราคาตลาด มูลค่า GDP ของจีนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 22 เปอร์เซนต์ของทั้งปี และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 – 2561 คิดเป็นสัดส่วน 21.8 เปอร์เซนต์ 21.9 เปอร์เซนต์ และ 22 เปอร์เซนต์ ตามลำดับ ซึ่งหมายความว่าความผันผวนของอัตราการเติบโตของ GDP ในช่วงไตรมาสแรก น่าจะส่งผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอีกสามไตรมาสของปี ฉะนั้น หากสามารถควบคุมโรคระบาดได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และรัฐบาลจีนใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงรุก ก็เชื่อว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบเพียงในวงจำกัดต่อเศรษฐกิจจีน

 

เศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น

แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนแค่ชั่วคราว แต่ความผันผวนอย่างสูงของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกย่อมมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งในด้านห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรม มูลค่าทางเศรษฐกิจของจีนคิดเป็นสัดส่วน 4.3 เปอร์เซนต์ ในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็น 16.3 เปอร์เซนต์ ในปี 2562 ของเศรษฐกิจโลก หากประเมินผลกระทบจากยอดรวมทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2546 แต่เพียงอย่างเดียว เราก็อาจหลงเชื่อได้ง่ายๆ ว่าคงจะมีผลกระทบไม่มากนัก แต่ในปี 2562 จีนมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมประมาณ 14.1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใต้บริบทนี้ ตัวเลขที่ลดลงเพียง 0.1 เปอร์เซนต์ ย่อมหมายถึงความสูญเสียมากกว่า1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และเมื่อพิจารณาว่าจีนเป็นประเทศผู้ค้าผลิตภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในโลก และมีมูลค่าเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30 เปอร์เซนต์ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เราจึงไม่ควรประเมินผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจจีนต่ำเกินไป ตัวอย่างเช่น การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้ภาคการขนส่งของจีนหดตัวลงอย่างมาก ส่งผลให้อุปสงค์ของน้ำมันในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระตุ้นให้องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปก (OPEC) ต้องตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันลงเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้

ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศรวมกว่า 160 ล้านทริปในแต่ละปี เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดพอดี สถานการณ์นี้จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบินพาณิชย์ของประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศของจีน ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน ข้อมูลสถิติที่จัดทำโดยสมาคมผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวญี่ปุ่น (Japan Association of Travel Agents) ระบุว่ามีการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยว 400,000 กลุ่มจากจีนจะยกเลิกแผนการเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่นที่กำหนดไว้ในช่วงก่อนเดือนมีนาคม สำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากกว่า เช่น เวียดนาม กัมพูชา และไทย อาจจะได้รับความสูญเสียรุนแรงกว่า

แต่ความไม่แน่นอนที่รุนแรงที่สุดคือผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิต The World Development Report 2020 ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก รายงานว่า ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจโลกในวันนี้ คือ การค้าขายสินค้าขั้นกลางที่คิดเป็นสัดส่วน 70 เปอร์เซนต์ของมูลค่ารวมของการค้าโลก ซึ่งปรากฏชัดในประเทศแถบเอเชียตะวันออก ในเดือนต่อๆ ไป ประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการระบาดของไวรัสโคโรนามากยิ่งขึ้น และเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับจีนในด้านอุตสาหกรรมผ้าทอและอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศอย่างบังกลาเทศและกัมพูชา ย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้เช่นกัน อู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโรคระบาดเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ และผู้ผลิตจำนวนมากในจีนต่างเลือกที่จะหยุดการผลิตในขณะนี้ ภายใต้บริบทนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์โลกจึงได้รับความสูยเสียอย่างรุนแรง

ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน – สหรัฐอเมริกา กำลังส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานโลก ผลักดันให้หลายๆ บริษัทเริ่มย้ายฐานการผลิตจากจีนมาสู่มาสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวันนี้ โรคระบาดได้แพร่กระจายไปทั่วโลก โดยมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจำนวนมากใน 20 ประเทศ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ประเทศพัฒนาแล้วกำลังนำมาตรการที่เข้มงวดมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและกักกันโรค และบางประเทศถึงขั้นระงับการบินไปยังบางภูมิภาคในจีน อย่างไรก็ตาม หากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ร่วมมือกันหยุดยั้งโรคระบาดนี้ อุตสาหกรรมส่วนประกอบและชิ้นสวนยานยนต์โลกจะยิ่งได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในปี 2563 ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น

 

โดย Zhong Tengfei นักวิจัยและผู้อำนวยการ Department of Great Powers Studies at the National Institute of International Strategy, Chinese Academy of Social Sciences