ต้องร่วมมือจัดการเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

ต้องร่วมมือจัดการเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

โคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ชื่อเฉพาะว่า 2019-nCoV เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน จะพบว่าเซลล์ไวรัสมีลักษณะกลมและมีปุ่มยื่นออกมาคล้ายมงกุฎ จึงเรียกว่าโคโรนาไวรัส ถูกพบครั้งแรกในอู่ฮั่น เมืองหลักของมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เป็นไวรัสขนาดใหญ่ ในสมาชิก ลำดับที่ 7 ในตระกูล โคโรน่าไวรัส, จีนัส เบตาโคโรน่าไวรัส, เชื้อมีลำดับยีนมากกว่าร้อยละ 85 ที่เหมือนกับยีโนมของเชื้อ SARS-like CoV ในค้างคาว
(bat-SL-CoVZC45, MG772933.1) ซึ่งการที่เชื้อจากค้างคาวสามารถข้ามสายพันธ์มาก่อโรคในมนุษย์ได้นี้จะจัดว่า เป็นโรคจากสัตว์สู่คน (zoonotic disease) ด้วย

ในระยะแรกส่วนใหญ่คิดว่าแหล่งกำเหนิดของการระบาดเริ่มาจากตลาดขายอาหารทะเลสดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน อย่างไรก็ตามมีสมมติฐานของการแพร่ระบาดอยู่ 4 ประการดังต่อไปนี้

  1. พบผู้ป่วยรายแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 แสดงว่า รายนี้ เริ่มติดเชื้อในปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งในขณะนั้นผู้ป่วยยังไม่ได้มาที่เมืองอู่ฮั่น จึงอาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยการติดเชื้อมาจากแหล่งที่อื่นก่อน แล้วมาแพร่เชื้อในผู้ป่วยที่มาซื้อสินค้าหรือเข้ามาที่ตลาดขายอาหารทะเลสดที่เมืองอู่ฮั่น
  2. ค้างคาวหรือสัตว์มีปีกที่มีเชื้อ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในลำคอและอุจจาระซึ่งจัดเป็นพาหะของโรค ถูกนำมาขังรวมกันในกรงเพื่อขายเป็นอาหารสดที่เมืองอู่ฮั่น ถูกเชือดคอต่อหน้าลูกค้าที่มาซื้อ ทำให้คนที่เดินผ่านหรือลูกค้าได้รับเชื้อที่กระจายเป็นละอองฝอยเข้าสู่หลอดลมและปอด
  3. มีสัตว์ปีก หรือค้างคาวที่มีเชื้อ ที่บินอยู่ในอากาศ ปล่อยมูลให้กลายเป็นละอองฝอย เข้าสู่คนที่เดินผ่านมาในตลาดสดเมืองอู่หั่น
  4. มีค้างคาวจำนวนมากที่มีเชื้อ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อาศัยอยู่ใต้หลังคาบ้านในหมู่บ้านอู่ฮั่น ปล่อยมูลและสิ่งคัดหลั่งทางลมหายใจออกมาแล้วแพร่เชื้อเป็นละอองฝอยสู่ผู้คนที่อาศัยในบ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียง ในตลาดสดเมืองอู่หั่น

อย่างไรก็ตามหากต้องการทราบว่าสมมติฐานข้อใดน่าจะถูกต้องที่สุด ต้องทำการเก็บตัวอย่างจากอากาศในพื้นที่ในบ้าน และจากมูลสัตว์และสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำลายของ สัตว์ปีกเหล่านี้ในอู่ฮั่น รวมทั้งค้างคาวที่อาศัยตามหลังคาบ้าน แล้วนำมาตรวจเพาะเชื้อ ตรวจลำดับรหัสพันธุกรรมเพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับที่พบในผู้ป่วยหรือไม่

ต้องร่วมมือจัดการเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

มาตรการของประเทศจีน

1) ประกาศปิดเมืองเพื่อกักกัน หยุดการแพร่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พร้อมหยุดให้บริการ รถบัส รถไฟใต้ดิน เรือ รถไฟ เครื่องบิน ใน 15 เมือง (อู่ฮั่น หวงกัง ชื่อปี้เอ้อโจว จือเจียง เอินซือ เสี้ยว ก่าน เสียนหนิง หวงสือ เซียนเถา เฉียนเจียง จิ่นโจว ลีฉวน กว่างโจว และเทียนจิน)

2) เมืองปักกิ่งและอีกหลายเมืองได้ยกเลิกงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน

3) บริษัทให้พนักงานทำงานที่บ้าน เพื่อลดการเดินทางไปในที่สาธารณะ

4) สร้างโรงพยาบาลหั่วเสินซาน (Huoshenshan Hospital) นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ขนาด 1,000 เตียง สำหรับรักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งสร้างเสร็จภายใน 10 วัน

5) ยกระดับการเผชิญเหตุฉุกเฉินเป็น ระดับ 2 และปิดสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อควบคุมการระบาดในประเทศจีน

6) ระดมทีมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จากทั้งประเทศประมาณ 6,000 คนลงไปช่วยเหลือ ควบคุมการระบาดและรักษาผู้ป่วยในมณฑลหูเป่ย

7) ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลจีนออกคำสั่งปิดเมือง เพิ่ม 2 เมือง ได้แก่ เมืองไท่โจว และเมืองหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง หลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในมณฑลเจ้อเจียงถึง 829 ราย ซึ่งถือว่ามากที่สุดนอกมณฑลอู่ฮั่นภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างเข้มงวด

8) ตั้งด่านชั่วคราวคัดกรองโรคเพิ่มเติมในหลายมณฑลเน้นด่านรถที่เข้าออกที่เดินทางมาจากมณฑลหูเป่ย

9) สร้างโรงพยาบาลชั่วคราวในเมืองอู่ฮั่นแบบเร่งด่วน โดยปรับอาคารโรงยิมหงซาน ศูนย์ประชุมและจัดแสดงนานาชาติอู่ฮั่นและอาคารศูนย์วัฒนธรรมอู่ฮั่น ให้เป็นโรงพยาบาลจำนวน 3,400 เตียง ภายในเวลา 1 คืน เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

10) จีนเริ่มทดลองยาต้านไวรัส remdesivir ด้วยวิธี สุ่มแบบปกปิดในผู้ป่วย 761 ราย โรงพยาบาลเมืองอู่ฮั่น เพื่อใช้ในการรักษาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

 

มาตรการขององค์การอนามัยโลก

องค์การอนามัยโลกจัดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะฉุกเฉิน (Emergency Committee) ในวันที่ 30 ม.ค. 63 และประกาศว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern; PHEIC) หลังจากเชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่ระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดข้ามพรมแดน อันจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข แต่ไม่ได้หมายถึงให้ประเทศทั่วโลกใช้มาตรการจำกัดด้านการค้าต่อจีน หรือจำกัดการเดินทางไปยังประเทศจีน องค์การอนามัยโลกได้รายงานปรับระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จาก 14 วัน เป็น 10 วัน (2-10 วัน) ค่าเฉลี่ยการแพร่เชื้อ 1.5 – 3.5 คน อัตราการเสียชีวิตใน กรณีติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 3 (วันที่ 27 มกราคม 2563) องค์การอนามัยโลกได้จัดสรรงบประมาณ 675 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนแผนการควบคุม โรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทั่วโลกในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า องค์การอนามัยโลกวางแผนจัดตั้งระบบการคัดกรองและตรวจทางห้องปฎิบัติการเชื้อไวรัสโคโรนาสาย พันธุ์ใหม่ 2019 ใน 13 ประเทศ ของทวีปแอฟริกา (อัลจีเรีย แองโกรา ไอวอรีโคสต์ สาธารณรัฐคองโก เอธิโอเปีย กาน่า มอริเชียส ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย อูกันดา และแซมเบีย)

 

รัฐและเอกชนของไทยต้องรับมืออย่างไร

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เป็นระดับ 3 เพื่อติดตามสถานการณ์โรคทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พัฒนาระบบการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มาจากต่างประเทศ ทั้งการคัดกรองไข้ ณ ช่องทางเข้าออกประเทศที่ท่าอากาศยานนานาชาติ เพิ่มการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน สนับสนุนการเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ ครอบคลุมระบบบริการสาธารณสุข และชุมชนแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน โดยสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน รวมทั้งประสานงานกับองค์การอนามัยโลก และประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล มาตรการ และประสบการณ์ของประเทศไทยในการเฝ้าระวังให้กับประเทศเพื่อนบ้าน มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียม
ความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ โดยให้มีการรายงานผลงานจากทุกจังหวัดเป็นประจำ

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนขอให้ประเทศจีนผ่านพ้นวิกฤตและสามารถต่อสู้กับไวรัส และสามารถควบคุมโรคและยับยั้งการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้โดยเร็วด้วยครับ

 

โดย

ผศ.ดร.ภก.วสันต์  กาติ๊บ ., ภ.บ., วุฒิบัตร วุฒิบัตรเภสัชบำบัดอายุรศาสตร์ (โรคติดเชื้อ

ภาควิชาบริบาลเภสัชกรรม

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่