คาซัคสถาน ดินแดนสวรรค์แห่งยูเรเชีย

คาซัคสถาน ดินแดนสวรรค์แห่งยูเรเชีย

ดินแดนแห่งทรัพยากรธรรมชาติมากมายนานาชนิด จากยุคโบราณที่มีชนเผ่าต่างๆใช้ชีวิตบนเส้นทางการเลี้ยงสัตว์แบบร่อนเร่พเนจร ผ่านภูมิประเทศที่แห้งแล้งและโหดร้าย เพื่อแสวงหาความอุดมสมบูรณ์และดำรงชีวิตอยู่บนหลังม้าเพื่อความอยู่รอด จนได้มีนามเรียกขานจากจักรวรรดิมองโกลว่า รัฐข่านคาซัค ซึ่งในปัจจุบันได้เติบโตกลายเป็นประเทศคาซัคสถานที่มีอาณาเขตครอบคลุมกว้างขวางในทวีปเอเชีย โดยใหญ่ที่สุดเป็นอับดับ 9 ของโลก โดยมีชื่อประเทศเป็นทางการว่า สาธารณรัฐคาซัคสถาน ที่ผ่านมาคาซัคสถานเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล (Landlocked) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังทุนและทรัพยากรมหาศาล โดยคาซัคสถานได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติภายใต้วิสัยทัศน์ Nurly Zhol หรือ เส้นทางสู่อนาคต (The Path to the Future) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยง ระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ตามรอยเส้นทางสายไหมที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต ประเทศจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น Heart of Eurasia  อีกเช่นเคย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำโดยผู้แทนกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ได้เดินทางไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการลงทุน ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2562 ณ สาธารณรัฐคาซัคสถาน การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพี่อลงพื้นที่สำรวจการลงทุนใน 2 เมืองใหญ่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ เมืองอัลมาตี้ เมืองนูซุลตัน โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้  

คาซัคสถาน ดินแดนสวรรค์แห่งยูเรเชีย

1. เมืองอัลมาตี้ (ALMATY) เป็นอดีตเมืองหลวงเก่า เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ  รวมถึงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ  ตั้งอยู่ทางตอนใต้ติดกับประเทศจีน การเยือนครั้งนี้ทางคณะได้เข้าพบและหารือกับ Dr. Mirgali  Kunayev กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองอัลมาตี้ ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลาย ทั้งธุรกิจอากาศยาน ธุรกิจการขุดเจาะน้ำมันและหิน โดยมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเหมืองแร่เป็นอย่างมาก และได้กล่าวชื่นชมนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทยที่สนับสนุนให้ไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่มุ่งให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ทางคณะได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท Agrostan ผู้ประกอบกิจการปศุสัตว์ที่สำคัญของประเทศ ได้แก่  ฟาร์มวัว ฟาร์มแกะ โดยมีการออกแบบระบบบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังประกอบกิจการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี และเมล็ดพันธ์พืช  เป็นต้น นอกจากนี้คณะยังได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท IntellPack ผู้ประกอบกิจการผลิตเทปกาวพลาสติก และเป็นตัวแทนนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มาจากพลาสติก เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ มาจำหน่ายในคาซัคสถาน โดยบริษัทได้นำเข้าเม็ดพลาสติกจาก รัสเซีย จีน และเกาหลี มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และเครื่องจักรส่วนใหญ่ที่ใช้ในโรงงานผลิตนี้ได้นำเข้าจากไต้หวัน สุดท้ายคณะได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท ZETA Kazakhstan Production ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านและสำนักงาน อาทิ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งสวน พาชนะ สินค้าตกแต่งบ้าน โดยโรงงานได้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ 3 ประเภท ได้แก่ พลาสติก เหล็ก และไม้  โดยบริษัทจำหน่ายสินค้าที่ผลิตเองและสินค้าที่นำเข้าที่โดยส่วนใหญ่มาจาก จีน รัสเซีย ตุรกี และยุโรป รวมถึงการนำเข้าสินค้าจากเวียดนามผ่านมาทางจีนเพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศ

 

2. เมืองนูซุลตัน (NUR-SULTAN) เป็นเมืองหลวงใหม่ เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2541 โดยมีชื่อเดิมว่า เมืองอัสตานา (Astana) ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ และเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง ในการนี้ ทางคณะได้รับเกียรติจากท่าน รัศม์ ชาลีจันทร์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำคาซัคสถาน คีร์กิซ และทาจิกิสถาน ให้การต้อนรับคณะและบรรยายสรุปเกี่ยวกับข้อมูลที่สำคัญของประเทศ ได้ดังนี้ คาซัคสถานเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก อยู่กลางทวีปเอเชีย แต่เป็นประเทศแลนด์ล็อก (ไม่มีทางออกทะเล) ปัญหาด้านโลจิสติกส์จึงเป็นปัญหาใหญ่ การส่งสินค้าจากประเทศไทยมายังคาซัคสถานที่ง่ายที่สุด ยังต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศซึ่งเสียค่าขนส่งแพง นอกจากนี้ในปัจจุบันจีนเริ่มเข้ามาลงทุนและมีบทบาทมากขึ้นในคาซัคสถาน กล่าวคือ จีนได้เริ่มพัฒนาโครงการ ขนาดใหญ่หลายโครงการในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษคอร์กอส (Khorgos) ซึ่งเป็นเขตชายแดนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้จีนยังมีโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiatives: BRI) สามารถเชื่อมเส้นทางจากท่าเรือจีนเข้ามายังชายแดนคาซัคสถาน ทะลุไปถึงโปแลนด์ เยอรมนี โดยทางรถไฟ โดยใช้เวลาเพียง 15 วันในการเดินทางและขนส่ง จุดเชื่อมสำคัญของการขนส่งสินค้ายังอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษคอร์กอส แต่ไทยยังไม่นิยมใช้เส้นทางนี้ สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษคอร์กอสของคาซัคสถาน ยังเป็นทั้งศูนย์กระจายสินค้า นิคมอุตสาหกรรม และเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนคาซัคสถาน-จีน โดยสามารถเดินทางข้ามไปมาได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง นอกจากนี้คณะได้เข้าเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษ Astana-new city SEZ ตั้งอยู่ที่เมือง Nur-Sultan บนพื้นที่กว่า 7,634.71 เฮกตาร์ อุตสาหกรรมที่กำหนดเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ได้แก่ แร่อโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน  ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกและยางพารา เคมีภัณฑ์ โลหะ  อาหาร และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

คาซัคสถาน ดินแดนสวรรค์แห่งยูเรเชีย

สำหรับโอกาสในการลงทุนในประเทศคาซัคสถาน ซึ่งทางคณะได้เห็นและสรุปข้อมูลจากการสำรวจและพบปะผู้แทนทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ ในโอกาสแรกคือ  โอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เนื่องจากคาซัคสถานมีความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบ ทั้งในส่วนของผลผลิตทางการเกษตรรวมถึงผลผลิตจากปศุสัตว์ที่หลากหลาย ซึ่งนักลงทุนไทยนั้นมีเทคโนโลยีในการแปรรูปอาหารที่ทันสมัยและมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี โดยนักลงทุนไทยอาจเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นกลางน้ำ เช่น ตั้งโรงงานผลิตแป้งจากธัญพืช เป็นต้น หรือการลงทุนในขั้นปลายน้ำ เช่น ตั้งโรงงานผลิตเส้นบะหมี่  โรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบรรจุถ้วย โรงงานผลิตอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานบรรจุในบรรจุภัณฑ์ รวมถึงอาหารทะเลแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งคาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่ติดทะเล อาหารทะเลจึงมีขายไม่มากนัก จึงเป็นที่ต้องการสำหรับผู้บริโภคอยู่เสมอ นอกจากนี้อาหารแปรรูปแบบต่างๆนอกเหนือจากอาหารทะเล ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดในคาซัคสถานอีกมาก อีกทั้งยังมีการผลิตอาหารแปรรูปภายในประเทศไม่เพียงพอ การเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานนั้น นอกจากสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศแล้วยังสามารถส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียงได้อีกด้วย เช่น อุซเบกิซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน คีร์กีซสถาน รัสเซีย เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมแปรรูปให้กับทั้งผู้ประกอบการไทยและคาซัคสถานให้เติบโตไปด้วยกันเป็นอย่างดี สำหรับโอกาสนักลงทุนไทยในอับดับที่สองคือ โอกาสในอุตสาหกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เนื่องจากคาซัคสถานมีความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบ ได้แก่ น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ แต่ยังมีการผลิตพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่ไม่เพียงพอ ปัจจุบันยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งไทยเองนั้นมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความเชี่ยวชาญดังกล่าว โดยนักลงทุนไทยอาจเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติก เพื่อให้เป็นวัตถุดิบสำหรับป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำ หรือลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำเร็จรูป การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์  การผลิตภัณฑ์พลาสติกอุตสาหกรรม เป็นต้น โอกาสท้ายสุดคือ อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจฟาร์มปลาเทราท์ เนื่องจากเห็นว่าปลาเทราท์เป็นสินค้าที่ปริมาณความต้องการบริโภคภายในคาซัคสถานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นสินค้าที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งคาซัคสถานยังมีแหล่งน้ำหลายแห่งที่เหมาะแก่การเพาะเลี้ยงอีกด้วย ปัจุบันมีการบริโภคปลาเทราท์เพิ่มขึ้นจาก 213 ตันในปี 2015 เป็น 496 ตันในปี 2017 โดยมีสัดส่วนการนำเข้าลดลง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ผลิตภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยส่วนใหญ่คาซัคสถานนำเข้าจากรัสเซียร้อยละ 98 ของการนำเข้าทั้งหมด  นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่าประเทศคาซัคสถานเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการรองรับการลงทุนจากต่างชาติโดยมีจุดเด่นและจุดด้อยที่สำคัญดังนี้

จุดเด่นของคาซัคสถาน ได้แก่ การเมืองมีเสถียรภาพ มีทิศทางของนโยบายไม่เปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจเติบโตได้ดี มีทรัพยากรหลากหลายและสมบูรณ์ โดยเฉพาะแร่ เชื้อเพลิง โลหะ และแก๊ซธรรมชาติ มีสังคมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับคนไทย ระบบรางและถนนมีคุณภาพและครอบคลุมในทุกพื้นที่ โดยมีทำเลที่ตั้งของประเทศอยู่กึ่งกลางระหว่างทางที่เชื่อมทวีปยุโรปกับเอเชีย รวมถึงไมมีกฏระเบียบที่กีดกันนักลงทุนต่างชาติ โดยมีตลาดส่งออกต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ รัสเซีย จีน อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์

จุดด้อยของคาซัคสถาน ได้แก่ ประเทศไม่มีทางออกทะเล โดยมีตลาดที่มีขนาดเล็กและมีประชากรมีเพียง 18 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้ภาษารัสเซีย และภาษาซัค เป็นหลัก

สุดท้ายนี้ทางคณะยังมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจและไม่สามารถจะบรรยายเรื่องราวได้ทั้งหมดในบทความการสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนในประเทศคาซัคสถาน ที่ยังเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศผู้ส่งออกธัญพืชที่สำคัญของโลกอีกด้วย  ดังนั้นทางคณะจึงเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ เว็ปไซต์ https://toi.boi.go.th  หรือติดต่อปรึกษาการลงทุนไทยในต่างประเทศโดยตรงที่ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  เบอร์ อีเมล์ [email protected]

คาซัคสถาน ดินแดนสวรรค์แห่งยูเรเชีย