BOI กับการเตรียมคนเพื่ออนาคต

BOI กับการเตรียมคนเพื่ออนาคต

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า BOI (Board of Investment) เป็นหน่วยงานราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อตั้งเมื่อปี 2509 เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในทิศทางที่ประเทศต้องการ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีอากรและมิใช่ภาษีอากร เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ การอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการ การอนุญาตให้นำผู้ชำนาญการต่างชาติเข้ามาทำงาน รวมทั้งการให้บริการข้อมูล คำปรึกษา การอำนวยความสะดวก และประสานงานแก้ไขปัญหาให้กับนักลงทุนทั้งก่อนและหลังการลงทุน

ขอบข่ายการลงทุนที่ BOI ให้การส่งเสริมครอบคลุมทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยเน้นส่งเสริมกิจการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตร กิจการที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น และยังส่งเสริมทั้งการลงทุนของคนไทยและต่างชาติในทุกขนาดการลงทุน ตั้งแต่โครงการขนาดเล็กแค่ 5 แสนบาท ไปจนถึงโครงการใหญ่ที่ลงทุนเป็นแสนล้านบาท

ที่ผ่านมา “การส่งเสริมการลงทุน” มีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างบทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่มีแต่ภาคเกษตรเป็นหลัก จนเกิดเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่มีความหลากหลาย มีการพัฒนาเทคโนโลยี มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับโลกและภูมิภาคได้ในหลายสาขา

ในยุคแรกๆ ของการส่งเสริมการลงทุน ได้เริ่มต้นจากการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเร่งรัดการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าในช่วงเวลาที่ประเทศขาดแคลนสินค้าอุตสาหกรรม ก่อนที่จะมาถึงยุคส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ถัดมาเป็นยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาลและเปิดเสรีภาคอุตสาหกรรม พร้อมๆ กับการกระจายการลงทุนสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างความเจริญอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ ซึ่งเศรษฐกิจไทยในยุคสมัยนี้เติบโตบนฐานของกำลังแรงงานที่มีมากมายและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

จนกระทั่งช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยประสบปัญหาใหญ่ๆ หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ ปัญหาการเมืองในประเทศ ภัยพิบัติธรรมชาติทั้งสึนามิและมหาอุทกภัย วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดต่ำลง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแรงงานต้นทุนต่ำที่เคยเป็นจุดขายในอดีต ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ตั้งแต่นั้นมา BOI จึงได้ปรับทิศทางนโยบายมาเน้น “การส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

หัวใจสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก็คือ คนและเทคโนโลยี ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา BOI จึงให้ความสำคัญสูงสุดกับ 2 เรื่องนี้ผ่านมาตรการต่างๆ เป็นต้นว่า การส่งเสริมกิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และกิจการวิจัยและพัฒนาโดยให้สิทธิประโยชน์สูงสุด การกำหนดมาตรการส่งเสริมการพัฒนา 4 เทคโนโลยีเป้าหมาย อันได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งมาตรการสนับสนุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมรับนักศึกษาเข้าฝึกงานตามโครงการทวิภาคี สหกิจศึกษา หรือ WiL เพื่อเตรียมพร้อมแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้ผลดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ    

ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันแย่งชิงการลงทุนที่ดุเดือดในปัจจุบัน นักลงทุนมีทางเลือกมากมาย ประเทศไทยมีคู่แข่งที่มีความแข็งแกร่งและโดดเด่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์ที่ล้ำหน้าไปมากแล้ว ทุกประเทศล้วนนำเสนอจุดขายเพื่อดึงโครงการลงทุนที่มีคุณภาพสูงเข้าสู่ประเทศตนเอง

แม้ว่าประเทศไทยมีจุดแข็งในการดึงดูดการลงทุนอยู่หลายด้าน เช่น การมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมโยงไปยังกลุ่ม ACMECS หรือ CLMVT ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่งและพื้นที่รองรับการลงทุน โดยเฉพาะพื้นที่ EEC การมีฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบวงจร นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐและสิทธิประโยชน์จูงใจ แต่ก็ยังคงมีบางปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญและส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องความพร้อมของกำลังคนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และทักษะแรงงานที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมมากพอ  

BOI จึงได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ และเสนอคณะรัฐมนตรีให้กำหนดมาตรการพิเศษที่เรียกว่า Thailand Plus โดยหนึ่งในข้อเสนอคือ เรื่องการพัฒนาคน ซึ่งต่อจากนี้ไปจะเป็นนโยบายสำคัญที่สุดที่ BOI ต้องผลักดันให้สำเร็จ มาตรการใหม่นี้จะเน้นการพัฒนาทักษะของแรงงาน (Reskill/Upskill) ที่จำเป็นต่อการปรับตัวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต โดยจะมีการให้สิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นการพัฒนาคนแบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งด้าน Supply และ Demand กล่าวคือ ในด้าน Supply จะส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมของภาคเอกชน (Corporate Academy) ทั้งแบบ Degree และ Non-degree โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ระดับสูงจาก BOI  

สำหรับด้าน Demand คือ การให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทที่ส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรเป้าหมาย โดยบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับทาง BOI ได้เป็น 2 เท่า ส่วนบริษัททั่วไปที่ไม่ได้รับการส่งเสริมก็สามารถไปใช้สิทธิทางกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานที่จะช่วยสนับสนุนด้านการเงินอีกด้วย โดยทั้งหมดนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงาน EEC รับเป็นหน่วยงานกลาง (Clearing House) ในการรับรองหลักสูตรเป้าหมาย และเป็นตัวกลางประสานระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม นับเป็นมิติใหม่ของการบูรณาการเครื่องมือของหลายหน่วยงานเพื่อพัฒนาคนเป็นครั้งแรก

มาตรการนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างมาก เพราะ “คน” คือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศ เราเชื่อมั่นว่าการมุ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน “คน” จะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นและมีความโดดเด่นในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคในระยะยาว